องค์กรโตไว รู้ตัวอีกทีก็ตามไม่ทันแล้ว! เปิด 5 เทคนิค ‘จับมือไว้แล้วขอโตไปด้วยกัน’

Share

การเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ ได้เลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือนนับเป็นหนึ่งในจุดหมายความสำเร็จที่มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนคาดหวังถึง เส้นทางแห่งความก้าวหน้าที่ดูสวยหรู แต่แท้จริงแล้ว กลับเต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขององค์กร หรือแม้กระทั่งการเติบโตของเรา

ทว่า บางครั้งการเติบโตที่เร็วเกินไปขององค์กรก็ทำให้คนทำงานอย่างเราๆ ก้าวตามไม่ทัน คล้ายกับเวลา ‘วิ่งสามขากับเพื่อน’ ในกีฬาโรงเรียน ถ้าสมมติมีใครสักคนวิ่งเร็วมาก เพื่อนที่เหลือตามไม่ทัน ก็จะเกิดปัญหาได้  ในโลกของการทำงานก็เช่นกัน ‘องค์กรเติบโตได้เพราะคน ส่วนคนก็เติบโตได้เพราะองค์กร’ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเติบโตเร็วไปกว่ากัน แน่นอนว่าอาจเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ส่วนผู้ที่เติบโตช้ากว่านั้นอาจจะทำให้พลาดโอกาสดีๆ ไปด้วย 

แล้วถ้าองค์กรโตเร็วจนคนทำงานอย่างเราๆ ตามไม่ทันจะรับมือยังไงดี? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จัก 5 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณโตทันองค์กรที่โตไวกัน

1. ใช้โมเดล 30-60-90 จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย

ไบรอัน เทรซี่ (Brain Tracy) นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และผู้เขียนหนังสือ Eat That Frog! เคยกล่าวไว้ว่า “เป้าหมายที่ไม่มีแผนการ ก็เป็นได้แค่เพียงคำอธิษฐาน ความปรารถนาอันเลื่อนลอย”

ดังนั้น วิธีพื้นฐานอย่างการตั้งเป้าหมายแล้วซอยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยโมเดล 30-60-90 หรือการแบ่งเป้าหมายตามช่วงเวลาออกเป็น 1-3 เดือนอย่าง ‘ชัดเจน และสม่ำเสมอ’ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองอยู่ตลอด ทำให้รู้ว่าตอนนี้กำลังอยู่จุดไหน ใกล้กับจุดที่องค์กรกำลังยืนอยู่รึเปล่า แล้วถ้ายัง พอจะปรับเปลี่ยน เรียงลำดับเรื่องสำคัญอะไรก่อนได้บ้าง?

2. ตัด ‘สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต’ ออก

ถึงทุกคนจะมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง เราต่างก็ใช้มันไม่เท่ากัน สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตมักเป็นสิ่งแรกๆ ที่คอยเข้ามากัดกินเวลาชีวิต ช่วงชิงความสนใจ หรือทำให้เราต้อง ‘แลก’ ไปกับต้นทุนบางอย่างในชีวิตเสมอ ซึ่งถ้าใครอยากจะก้าวตามองค์กรให้ทัน อย่างแรกต้องรู้จักตัดอะไรพวกนี้ออก ยอมทิ้งบางเรื่องไป คงเหลือไว้แต่เรื่องสำคัญให้น้อยที่สุด เพื่อที่ว่าจะได้ทุ่มเทเวลาที่เหลือไปกับงานที่สำคัญกว่า ช่วยให้เราโตทันองค์กรมากยิ่งขึ้น

3. เผชิญหน้ากับ ‘ความเป็นจริง’

การเติบโตอย่างรวดเร็วขององค์กร แน่นอนว่า มันก็มาพร้อมกับความท้าทาย และปัญหาอีกนับร้อยด้วย เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลก ถ้าบางคนจะรู้สึกท้อแท้กับความเป็นจริง ให้ลองกลับมาทบทวนตัวเองผ่านเช็กลิสต์การเติบโต ดังนี้

– ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?

– อะไรคือความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงที่เรารู้สึกมากที่สุด?

– อะไรคือความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของงานที่ทำอยู่?

– อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกกลัวอยู่?

ถอยออกมามองภาพกว้าง ตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เผชิญหน้า และยอมรับถึงการมีอยู่ของมัน จากนั้น เตรียมแผนการหาวิธีรับมือเท่าที่จะทำได้ หรือต่อให้พลาดอะไรไป ขอให้เรียนรู้จากสิ่งนั้น ท่องไว้เสมอว่า สุดท้ายแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทุกช่วงชีวิตเหล่านี้ล้วนทำให้เราเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น เก่งขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

4. แบ่งเวลา และตัวช่วยพัฒนาตัวเอง

แม้เนื้องานจะโหดหิน ยากแค่ไหน แต่ที่คนทำงานจะละเลยไม่ได้เลยก็คือ ‘การเเบ่งเวลา และตัวช่วยพัฒนาตัวเอง’ ทั้งเครื่องมือ และคนเก่งๆ มากประสบการณ์ เพราะจริงๆ แล้ว พวกเขาเหล่านี้จะเป็นเมนเทอร์ชั้นดีสอนให้เก่งเร็วขึ้นได้อย่างง่ายดาย

ในวันนี้ คนทำงานอย่างเราๆ จึงควรย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า ถึงที่สุดแล้วต้นทุนความเหนื่อยที่ทุ่มเทไปในแต่ละวันนั้นคุ้มกับงาน ทำให้เราเก่งขึ้นกว่าเดิมหรือไม่? แต่ถ้าไม่ อย่างน้อยที่สุดเลย เราก็ไม่ควรแย่กว่าเดิมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

5. ไม่ลืมดูแลตัวเอง

แน่นอนว่า การทุ่มเทเพื่อให้ตัวเองโตทันองค์กรก็ย่อมต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อย ทั้งร่างกาย และจิตใจด้วย ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งความสะสมเหล่านี้ก็ปะทุออกมาเป็นภาวะหมดไฟ (Burnout) ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่สนุกกับงานเหมือนสมัยก่อน ฉะนั้น คนทำงานอย่างเราๆ จึงควรแบ่งเวลา พาตัวเองออกไปพักผ่อน เปิดหูเปิดตาบ้าง

ในสถานการณ์โควิด-19 กับความไม่แน่นอนที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ปัจจุบัน ทั้งคนทำงาน และองค์กรต้องปรับตัว เรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เช่นเดียวกับ ปตท. องค์กรที่ปรับวิถีการทำงานให้เอื้อกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น อย่างที่คุณสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารศักยภาพองค์กร และธรรมาภิบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เล่าให้ Future Trends ฟังว่า ก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ปตท. มีนโยบายเพิ่มความยืดหยุ่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้วยนโยบายการ Work from anywhere ไม่ได้จำกัดให้นั่งทำงานอยู่แค่ในออฟฟิศอีกต่อไป แต่พนักงานสามารถ Workcation ทำงานไปพร้อมกับการพักผ่อน เพื่อเอาตัวเองออกจากความจำเจในห้องสี่เหลี่ยมได้ด้วย ทำให้พนักงานมีความพร้อมในการปรับตัวปฏิบัติงานแบบ work from home ได้อย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโรค เกิดประโยชน์ทั้งพนักงานที่ทำงานได้โดยไม่มีความเสี่ยง และองค์กรสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หากสถานการณ์กลับมาปกติ ปตท.ก็ยังคงจะใช้นโยบายนี้ต่อ เพราะเราได้ให้ความสำคัญกับ ‘ความสุขของพนักงาน (Employee Happiness)’ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับรายงาน ‘Resetting Normal: Defining the New Era of Work 2021’ ที่จัดทำโดยอเด็คโก้กรุ๊ป (Adecco Group) บริษัทชั้นนำที่ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลที่เผยว่า ความยืดหยุ่นจะกลายเป็นกุญแจสำคัญของโลกการทำงานยุคถัดไป

นอกจาก Work from anywhere ปตท. ยังส่งเสริม การพัฒนาพนักงานให้เก่ง และเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดียิ่งขึ้นด้วย โดยมี Employee Happiness Journey แพลตฟอร์มเก็บข้อมูล เสนอแนะแนวทางการพัฒนาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานไปจนถึงวันที่พวกเขาเกษียณ ซึ่งก็เป็นการออกแบบการพัฒนาตนเองร่วมกับผู้บริหารในรูปแบบเฉพาะแต่ละบุคคล โดยมีข้อมูลที่สำคัญที่ควรต้องทราบในแต่ละช่วงเวลาของการทำงาน และข้อมูลที่จำเป็นเพื่อชี้ให้เห็นว่า ณ ตอนนี้มีส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อนหรือสิ่งที่ขาดหายไป และควรจะพัฒนาจุดแข็ง Upskill ตรงไหนเพิ่มบ้าง? เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มดีๆ ที่ทำให้พนักงานมีความพร้อมสามารถพัฒนาตัวเองให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กรที่โตไวอย่าง ปตท. นั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว ‘องค์กรเติบโตได้เพราะคนฉันใด คนก็เติบโตได้เพราะองค์กรฉันนั้น’ แต่การจะไปได้ดี ประสบความสำเร็จ ย่อมต้องมีจังหวะการก้าวพร้อมกันที่ลงตัวด้วย ในมุมของคนทำงานอย่างเราๆ จึงควรย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า ได้อยู่ ‘ถูกที่ ถูกทาง’ อยู่ในงานที่ทำให้เก่งขึ้น อยู่ในองค์กรที่ยกระดับศักยภาพเราให้ดีกว่าเดิมในทุกวันแล้วหรือยัง รวมไปถึงเราได้ทำตัวให้เป็นฝ่ายที่คู่ควรกับการเติบโต ความก้าวหน้าเหล่านั้นแล้วหรือไม่?

Sources: บทสัมภาษณ์คุณสุชาติ ระมาศ

https://bit.ly/3ydG8Ra

https://bit.ly/3bkE7Kd