หัวใจสำคัญ คือการเป็นศูนย์กลางของแพลตฟอร์มสั่งอาหาร : คุยเรื่อง ‘Eatable’ กับ KBTG

Share

ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราเห็นธุรกิจการเงินเจ้าใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยหันมาจับธุรกิจแพลตฟอร์มร้านอาหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ ในบ้านเรากำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม คำถามที่ตามมาก็คือ แพลตฟอร์มร้านอาหารของกสิกรมีความแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์อย่างไร ทำไมธุรกิจการเงินถึงให้ความสนใจ-กระโดดเข้าสู่สนามแข่งเดือดแห่งนี้ด้วย ความได้เปรียบของเขาคืออะไรกันแน่

ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principle Visionary Architect และดร. สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Eatable

“แพลตฟอร์มเราไม่เหมือนเจ้าอื่นๆ ในตลาดตอนนี้ เรามั่นใจว่ายังไม่มีใครทำแบบเดียวกับที่เราทำ”

คือ ส่วนหนึ่งของคำตอบที่ ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principle Visionary Architect และ ดร. สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Eatable บอกกับเราว่า Eatable ไม่ใช่ฟู้ด เดลิเวอรี่ ไม่ได้มีความตั้งใจลงมาแข่งกับแอปพลิเคชั่นสีเขียว สีชมพู หรือสีเหลือง แต่ Eatable ต้องการเป็น ‘hub’ ที่เชื่อมต่อแพลตฟอร์มอาหารทุกส่วนเข้าด้วยกันมากกว่า

อยากให้เล่าที่มาที่ไปของการที่กสิกรมาจับธุรกิจแอปพลิเคชั่นอาหารให้ฟังหน่อย

เริ่มมาจากการที่เราก็มองว่า KBTG มีความสามารถด้านเทคโนโลยีอยู่ส่วนหนึ่ง ทีนี้ก็เป็นโจทย์ของพี่กระทิง (กระทิง-เรืองโรจน์ พูลผล) ว่าลองไปดูซิว่า นอกจากอุตสาหกรรมไฟแนนเชียลที่ทำอยู่แล้วมีตรงไหนที่เราจะเอาความสามารถไปทำให้ธุรกิจของลูกค้าดีขึ้นได้บ้าง แรกสุดเลยคือ ผมได้มาหลายโจทย์มาก โจทย์แรกคือท่องเที่ยว แต่ถ้าจะไปแตะเรื่องท่องเที่ยวมันเป็น ecosystem ที่ใหญ่มาก เราก็มานั่งดูว่าจุดไหนที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของการใช้บริการร้านอาหารมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่คนไทยก็สามารถนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้งานได้เหมือนกัน

จากนั้นเราก็มาเจาะดูกันต่อว่า ในมุมร้านอาหารยังมีตรงไหนที่ต้องเติมบ้าง ซึ่งเรื่องฟู้ด เดลิเวอรี่ สำหรับคนไทยเนี่ยเจริญถึงจุดหนึ่งแล้ว มีคู่แข่งใหญ่ๆ ในตลาด 4 – 5 เจ้า แต่การทานอาหารที่ร้านยังไม่ค่อยดีเท่าไร ประกอบกับเวลานักท่องเที่ยวเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการนั่งทานที่ร้านด้วยเลยคิดกันว่า จะทำยังไงให้ประสบการณ์การทานที่ร้านดี จะให้เขามาดาวน์โหลดแอปฯ ทุกคนคงไม่มีคนใช้แน่นอน ไหนจะเรื่องภาษาอีก จะเป็นเมนูภาษาไทย อังกฤษ หรืออะไร ก็เลยคิดว่า หลักๆ ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายจนมาเจอว่า โอเคทุกคนมีมือถือนี่ จะสั่งอาหารทำไมต้องมานั่งวุ่นวายรอเรียกพนักงาน ทุกคนต้องเคยเจอ pain point ตรงนี้ ก็มาได้เป็นไอเดียนี้ขึ้นมาว่า ทุกคนก็สั่งอาหารผ่านมือถือสิ ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ก็เป็นการสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วกัน

ในเวลาเดียวกับที่กสิกรลงมาในตลาดนี้ก็มีเจ้าอื่นๆ ครองตลาดอยู่เหมือนกัน จุดแข็งของเราอยู่ตรงไหน

ต้องบอกว่า การที่แต่ละคนเข้ามาทุกคนเข้ามาช่วยเติมเต็ม ecosystem ทั้งนั้น หรือต่อให้มีเจ้าอื่นๆ เข้ามาแต่ละคนก็เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ของ ecosystem นี้ หลังจากที่พวกเราลองไปศึกษาแล้วมันก็มีเจ้าที่เป็นโลคอลมากกว่านั้น ถ้าลองลิสต์มาแพลตฟอร์มฟู้ด เดลิเวอรี่ เจ้าดังที่เป็น nation wide มีประมาณ 5 เจ้า แต่ถ้าตัดแบ่ง category เขาคือ ฟู้ด เดลิเวอรี่แพลตฟอร์มกันทั้งหมด รงมถึงเจ้าที่เป็นโลคอลด้วย

แต่ Eatable เราตั้งตัวเองแต่วันแรกว่าเราไม่ทำฟู้ด เดลิเวอรี่นะ เพราะเรามองว่า ก็ในเมื่อมี 5 เจ้าใหญ่บวกเจ้าเล็กๆ อีกเยอะแยะตลาดมันแข่งขันสมบูรณ์อยู่แล้ว เราเขhาไปอีกจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงไหม ดังนั้น เราเลยบอกว่างั้นถอยมาหนึ่งก้าว ทำในสิ่งที่คนเขาไม่ทำกัน ทุกคนทำให้ฟู้ด เดลิเวอรี่ ดีขึ้น แต่เราอยากทำให้คนที่มานั่งกินที่ร้านสะดวกมากขึ้น Eatable ไปตอบคนละโจทย์ แต่เราก็อยู่ใน ecosystem นี้แหละ

การที่กสิกรเป็นธุรกิจการเงิน ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในธุรกิจอาหารไหม

จริงๆ แล้วอาจจะกลับกันด้วยซ้ำ อนาคต Eatable อาจจะหยิบ payment solution ของธนาคารไปช่วยให้ Eatable ใช้งานได้ง่ายมากกว่า

ตอนนี้ KBTG มองตลาดธุรกิจอาหารในบ้านเราไว้ยังไงบ้าง

พฤติกรรมคนจะเริ่มกลับมา ผมไม่แน่ใจว่าจะมี second wave ไหม แต่อย่างที่เห็น ตอนนี้คนก็เริ่มออกไปเที่ยวกันมากขึ้น เป็น domestic ในเมืองไทยเสียส่วนใหญ่ เดี๋ยวนี้ร้านอาหารก็เริ่มต่อคิวกันเยอะมากขึ้นแล้ว normal เริ่มกลับมา ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่อไป แต่ไม่ว่ายังไงต้องเจอทั้ง 3 ประสบการณ์แน่นอนคือ คนเริ่มกลับไปกินที่ร้านมากขึ้น เดลิเวอรี่กลายเป็นความเคยชินแต่ยอดอาจจะไม่สู้เท่าตอนคนอยู่บ้าน และสุดท้ายคือ pick up ก็อาจจะมีอยู่ ส่วนผสมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โดยรวมวอลุ่มยังเท่าเดิม

กลุ่มผู้ใช้งาน Eatable ที่เรามองไว้เป็นใครบ้าง

มีความหลากหลายมาก เพราะตอนที่เราเข้าไปมีทั้งเชนใหญ่ๆ แล้วก็ SMEs หรือไซส์เล็กก็มีเหมือนกัน แต่ในตอนแรกเราตั้งใจจะตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง แต่เราก็เห็นว่าสุดท้ายเราสามารถช่วยในกลุ่มร้านค้าขนาดใหญ่ได้ด้วย Eatable สร้างออปชั่นที่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็น dine in, dine out หรือว่ารวมกันก็ยังได้

เราต้องการให้ Eatable ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามเก็บข้อมูลด้วยสิ่งที่เราคิดกับ market product ว่ามันเข้ากับลูกค้าไหม ไม่ได้คิดว่าที่ทำไปคือ โซลูชั่นที่ดีที่สุด ถ้าลูกค้าไม่โอเคเราก็หาจุดอื่นที่คิดว่าเหมาะที่สุดแล้วมาแก้ไขด้วยกัน

ตอนนี้เริ่มปล่อยให้ร้านค้าใช้งานมาประมาณกี่เดือนแล้ว

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเริ่ม on board ให้ร้านค้าเข้ามาใช้ เพราะแรกสุดเลยเราจะมีพาร์ตเนอร์มาทดลองด้วย 3 เจ้า แต่ 3 เจ้านี้ถ้ารวมสาขาเขาทั้งหมดก็เกือบๆ 10 เอาต์เล็ตได้ ตั้งแต่เราแถลงข่าวไปในวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา เราตั้งใจให้ Eatable เป็น public data นะ ถ้าพูดในแง่ tech company คือทดลองใช้ เจอฟีดแบ็คก็สามารถคอมเมนต์เข้ามาได้ ซึ่งตอนนี้มีร้านค้าเข้าใช้งานแล้วประมาณหลักพันแอคเคาต์ เรากำลังสร้างแอคเคาต์ให้เขาไปทดลองใช้ ว่า โซลูชั่นนี้เหมาะกับธุรกิจเขาไหม เพราะตอนนี้ที่เข้ามามีตั้งแต่เชนใหญ่กระทั่งร้านกาแฟร้านเดียวก็มี

ร้านที่ใช้งาน Eatable ไปแล้ว ฟีดแบ็คมายังไงบ้าง

มีผู้ประกอบการเจ้าหนึ่งฟีดแบ็คตัว pin text มา สมมติเขาอยากจะเอาไปใช้งานต่อ เขาต้องมานั่งก็อปปี้ชื่อ-ที่อยู่ลูกค้าแล้วเอาไปวางอีกที เขาก็ถามเรากลับมาว่า เป็นไปได้ไหมที่กดเสร็จครั้งหนึ่งแล้วแพลตฟอร์มสามารถเก็บละติจูด-ลองจิจูดไปเลย อย่างน้อยเวลาไปกดแอปฯ อื่นที่เป็นเดลิเวอรี่จะได้ไม่ต้องมานั่งพิมพ์ที่อยู่-บ้านเลขที่แล้ว ไปเสิชหาละติจูด-ลองจิจูดได้เลย เราก็ลองม็อคอัพขึ้นมาเล่นประมาณนี้ โฟลวประมาณนี้โอเคไหม

ต่อมาคือ นอกจากการก็อปปี้ตัวอักษรแล้วก็มีลูกค้าฟีดแบ็คมาในเรื่องของบราวเซอร์ เป็นไปได้ไหมว่า ตัวบราวเซอร์จะสามารถคลิกปุ่มเดียวเสร็จ มีแอปฯ แกร็บอยู่ตรงหน้าจอไม่รู้อยู่หน้าไหนของหน้าจอ แต่บราวเซอร์เราจะเรียกมาให้เลย พอฟังแล้วก็คิดว่าดีนะ ซึ่งฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่เพิ่มมาเราไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นมาเอง ก็ไปฟังจากผู้ใช้งานแล้วหยิบมาพัฒนาต่อ

แล้วผู้ใช้งาน Eatable จะได้อะไรที่พิเศษ หรือแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น เรามีอะไรดีกว่า

การเทียบกับแอปฯ อื่นยากมาก เพราะว่า positioning มันต่างกัน ตอบคนละโจทย์กัน เราอาจจะตอบโจทย์ร้านอาหารมากกว่า ถ้าไปเทียบกับแอปพลิเคชั่นฟู้ด เดลิเวอรี่มันไม่เหมือนกัน เทียบไม่ได้ ซึ่งแอปฯ ที่เหมือนกับเราตอนนี้ยังไม่มีในตลาด เราไม่ได้ไปเน้นเรื่องเดลิเวอรี่ ถ้าให้ position ตัวเองจริงๆ ให้นึกภาพว่า ร้านค้ามีพนักงานจดออเดอร์เพิ่มมา 1 คน แต่ไม่ต้องไปจ้างเขารายเดือนเดือนละ 7 – 8 พันเพิ่ม เพราะหน้าที่ของ Eatable คือ ordering system ลูกค้าเองก็ได้ประโยชน์ด้วยไม่ใช่แค่ร้านอาหาร

มีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ต่อไปยังไงบ้าง

เยอะมาก รายละเอียดปลีกย่อยมาก ตอนแรกเราแพลนจะทำแค่ ordering ทำไปทำมาถึงจุดหนึ่งคนบอกทำเรื่องคิวด้วยเลยไหม ถ้าวันหนึ่งเราเริ่มมีฟีดแบ็คประมาณนี้เยอะเราก็ทำ ทำไปถึงจุดหนึ่งเราอาจจะถอยออกมาเป็นสแตนดาร์ดของกลางที่ทุกคนที่เป็นพาร์ตเนอร์มาปลั๊กอินด้วยก็ได้นะ อนาคตอาจจะเป็น Eatable แพลตฟอร์มที่อยู่หลังบ้านไปเลย บางคนมีเดลิเวอรี่ก็มาปลั๊กอิน ระบบคิวหน้าร้านก็มาปลั๊กที่ตัวนี้ได้เหมือนกัน ตอนนี้ก็เริ่มมีพาร์ตเนอร์มาคุยด้วยแล้ว

หลักๆ คือ เราอยากผูก ecosystem ของอาหารให้ร้อยเรียงกลายเป็น supply chain สิ่งที่อยากให้เป็นและมองภาพไว้คือ ให้แต่ละเจ้าคอนเนคถึงกันหมด ถ้าคุณไปซื้อของตรงนี้คุณชำระเงินมากขึ้น อนาคตก็ต้องซัพพลายของมากขึ้นไหม แล้วเราจะไปช่วยในมุมไหนได้บ้าง ตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่า

Eatable ไม่ได้อยากเป็นคู่แข่งใคร เราอยากให้ทุกคนรัก Eatable ด้วยซ้ำเพราะว่า ถ้าสมมติตอนนี้ไปร้านกาแฟซึ่งเขามีฟู้ด เดลิเวอรี่มากมายหลายเจ้า เราก็คิดมาสักพักแล้วว่า ทุกคนทุกเจ้าต้องเอาเครื่องไปตั้งที่ร้านอาหาร เรียงกันหลายเครื่อง ทำไมไม่มีคนเชื่อมเข้าไป แต่หลังจากรีเสิชแล้วก็มีเงื่อนไขมากมาย เช่น ถ้าเชื่อมใครแบกค่าใช้จ่าย ถ้าเชื่อมก็ต้องเชื่อมให้ครบทุกเจ้า แล้วถ้าเชื่อมคนจ่ายค่าพัฒนาคือใคร แต่ถ้าวันหนึ่งเราตั้งแสตนดาร์ดได้ Eatable อาจจะหายไปจากระบบ เป็นเหมือน CPU ของ ecosystem นี้ จริงๆ นี่เป็นโจทย์ที่เราพยายามกันอยู่ สร้างนวัตกรรมที่สุดท้ายในการทำงานของเราก็คิดว่าจะไปสร้าง ecosystem ให้ลูกค้ายังไงได้บ้าง เพราะลูกค้ากสิกรส่วนใหญ่ก็เป็น SMEs อาจจะต้องไปต่อเติมเสริมแต่งเพื่อให้เชื่อมต่อกันมากขึ้น