ทำไมนโยบาย ‘Zero COVID’ ของจีน จึงเป็นภาระต่อเศรษฐกิจโลก? สำรวจความเป็นไปได้ของตลาดเทคฯ เมื่อเซี่ยงไฮ้เปิดเมือง

Share

หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘ซีโร่ โควิด’ (Zero COVID) หรือนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ ของจีนตามสื่อต่างๆ กันอยู่แล้ว -ถึงแม้ว่า จะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่จริงๆ จีนมีการใช้นโยบายนี้ มาเป็นเวลากว่า 28 เดือน หรือ 2 ปีกว่าๆ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกเลยด้วยซ้ำ

ในช่วงแรกของการใช้นโยบายซีโร่ โควิด อย่างเข้มงวด ทำให้จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศว่า ตัวเองได้รับชัยชนะเหนือโควิด-19 เพราะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แต่แล้วเวลาแห่งการเฉลิมฉลองก็อยู่กับจีนไม่นาน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘โอมิครอน’ (Omicron)

และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้จีนกลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันแตะหลักหมื่นเหมือนช่วงก่อนหน้า รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจบังคับใช้นโยบายซีโร่ โควิดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง หลังจากที่ผ่อนปรนมาได้สักพัก แต่เคราะห์กรรมของจีนไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เมื่อเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์คือ ‘เซี่ยงไฮ้’ ศูนย์รวมความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีนที่เป็นหัวใจหลักด้านการค้า การผลิต การนำเข้า-ส่งออก และการเงิน

เมื่อเมืองที่เป็นศูนย์รวมความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจถูกตีจนแตก ความเสียหายที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

นอกจากที่มาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ จะทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากแล้ว เศรษฐกิจจีนก็พังทลายลงไปด้วย โดยดัชนี PMI หรือดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ ชี้ว่า เศรษฐกิจกำลังหดตัวอย่างรุนแรง อีกทั้งยอดขายสินค้าภายในจีนของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ทั้งนโยบายซีโร่ โควิด และมาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ยังเป็นภาระต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า จีนคือฐานการผลิตสำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ใครๆ ต่างก็ต้องมาตั้งโรงงานที่จีน ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล (Apple) เทสลา (Tesla) โซนี่ (Sony) และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น การที่จีนดื้อดึง และไม่ผ่อนปรนการใช้นโยบายหรือมาตรการต่างๆ เลยแม้แต่น้อย มีแต่จะทำให้จีนได้รับความเสียหาย รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่มีเชนการผลิตผูกติดไว้กับจีนอีกมากมาย และเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแต่แย่กับแย่ลง หลายประเทศจึงเริ่มกดดันจีนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้จีนพิจารณานโยบาย และมาตรการที่ตนเองใช้อยู่อย่างรอบคอบ

จนในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะแรงกดดันอันมหาศาล หรือเศรษฐกิจในประเทศพังทลายจนยากที่จะฟื้นฟู จีนก็ได้ตัดสินใจผ่อนปรนการใช้นโยบายซีโร่ โควิด และเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ ฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้ถึง 50 ข้อ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การจ้างงาน และการบริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชากรในเมืองเซี่ยงไฮ้

เมื่อเซี่ยงไฮ้ใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้ง 50 ข้อ ภายในเมืองอย่างเต็มรูปแบบ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?

ราคา ‘Bitcoin’ พุ่งขึ้นเหนือ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ อีกครั้ง หลังจากอยู่ในแดนลบมา 8 สัปดาห์ติดต่อกัน

ทุกคนอาจจะสงสัยว่า ‘จีน’ กับ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เกี่ยวอะไรกัน ทั้งๆ ที่สินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในจีน จริงๆ แล้ว ประเด็นนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในทางอ้อมมากกว่า กล่าวคือการเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะการเปิดเมือง หมายถึง โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต ดังนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการเปิดเมือง จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วย

หากมองว่า กลไกของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลล้อไปกับกลไกของราคาหุ้นก็คงจะไม่ผิดนัก ด้วยความที่หุ้นคือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงประเภทหนึ่ง จากราคาที่ผันผวนรายชั่วโมง สินทรัพย์ดิจิทัลก็มีความเสี่ยงในลักษณะนั้น ดังนั้น นักลงทุนบางส่วนอาจจะตัดสินใจนำเงินเข้าสู่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เพื่อหวังสร้างผลกำไรที่มากขึ้นก็เป็นได้

‘Supply Chain’ ที่เคยขาดสะบั้น กลับมาต่อกันติดอีกครั้ง

ในช่วงที่จีนใช้นโยบายซีโร่ โควิดอย่างเข้มงวด ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การสะดุดของห่วงโซ่อุปทานโลก’ (Global Supply Chain Disruption) เพราะจีนคือฐานการผลิตหลัก และฐานการนำเข้า-ส่งออกรายใหญ่ของโลก เมื่อจีนสะดุด ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนก็สะดุดตาม เช่น ‘แอปเปิล’ บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีเชนการผลิตผูกติดกับจีนไว้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการของผู้ซื้อ จนต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามแทน

ดังนั้น การผ่อนปรนนโยบายซีโร่ โควิด และการเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ จะช่วยลดความตึงเครียดในระบบห่วงโซ่อุปทาน และการผลิตของโลก โดยในส่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นทีละนิด ปัญหาเกี่ยวกับการผลิตสินค้าไม่ทัน จะค่อยๆ หมดไป ทำให้บริษัทเทคฯ สามารถวางแผนจัดการสต๊อกสินค้าให้สัมพันธ์กับความต้องการของผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี

ยอดขายสินค้าด้านเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้น ตามความคึกคักของตลาดแรงงาน

เนื่องจาก ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ อัตราการว่างงานของคนจีนสูงขึ้นมาก อีกทั้งการจ้างงานเด็กจบใหม่ยังลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตอนนี้ ‘คน’ ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะไม่พร้อมสุดๆ ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้ง 50 ข้อ จะช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้อย่างครบวงจรมากขึ้น กล่าวคือเมื่อมีการจ้างงาน คนจะมีรายได้ และมีกำลังในการซื้อสินค้า ทำให้ธุรกิจเติบโต จนมีเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มยอดขายสินค้าด้านเทคโนโลยีนั้น มองว่า เป็นเหมือนหนึ่งในผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ถึงแม้เทคโนโลยีจะไม่ใช่ปัจจัยสี่ที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด แต่หากขาดไป คงใช้ชีวิตในยุคนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ก็จะตัดสินใจซื้อสินค้าด้านเทคโนโลยี เพื่อทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นนั่นเอง

ถึงแม้ว่าตอนนี้ จีนจะผ่อนปรนการใช้นโยบายซีโร่ โควิด บ้างแล้ว แต่นี่ไม่ใช่การยกเลิกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาใช้นโยบายนี้อย่างเข้มงวด เมื่อมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง จึงมีความเป็นไปได้อยู่เสมอ

และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้นโยบายซีโร่ โควิด อย่างเข้มงวด คงเป็นความเข็ดหลาบและบทเรียนครั้งสำคัญของบริษัทต่างๆ ที่ผูกเชนการผลิตไว้กับจีนเพียงแห่งเดียวอยู่ไม่น้อย จนในท้ายที่สุด ก็ไม่มีบริษัทใดที่เชื่อมั่นในศักยภาพของจีนอีกต่อไป

Sources: https://econ.st/3mbMhH6

https://econ.st/3x7X4qC

https://bloom.bg/3tfw1bX

https://bloom.bg/3NQIwlX

https://bloom.bg/3aEFfrM

https://bit.ly/3xd1myc