ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่คาร์นิวัล (Carnival) ปล่อยภาพตัวอย่าง New ergonomic chair by CARNIVAL® x Modernform Series 16 All Black Limited Edition คอลเลกชันใหม่ออกมา ก็เกิดกระแสฮือฮาอย่างมากบนโลกโซเชียล ทำเอาเหล่าสาวกแฟนคลับของแบรนด์ถึงกับร้องว้าว กรี๊ดไปตามๆ กัน เพราะแก้จุดเจ็บปวด (Pain point) ของคนยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า ฟังก์ชันดูครบครัน แถมยังเรียบ เท่อีกด้วย
และแน่นอนว่า นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกอีกเช่นเคยที่คาร์นิวัล มัลติแบรนด์สโตร์สัญชาติไทยอันดับ 1 ของประเทศสร้างปรากฏการณ์ตกตะลึงให้กับสังคม หากย้อนกลับไปดูช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า หนึ่งในกลวิธีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของมัลติแบรนด์รายนี้ก็คือ ‘การจับคู่ ผนึกกำลังกับพันธมิตรแบรนด์ต่างๆ ในการทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกัน (Collaboration หรือ Co-brand)’ ไม่ว่าจะเป็นเคเอฟซี (KFC), ดิสนีย์ (Disney), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix), ไนกี้ (Nike) หรือแม้กระทั่งอาดิดาส (Adidas) ก่อนหน้านี้ Future Trends เคยพูดถึงประเด็นนี้ในบทความก่อนไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://bit.ly/3k8qhvC)
แต่ที่น่าสงสัยคือทุกครั้งที่ทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกับแบรนด์ไหนก็ตาม เพียงแค่ติดป้ายหรือใส่คำว่า ‘Carnival’ ลงไป ก็ดูสวยขึ้นกว่าเดิมถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แถมราคาก็ ‘สูงขึ้น’ ด้วย เสมือนป้ายของแบรนด์เป็น ‘เครื่องหมายมูลค่าเพิ่ม’ ยังไงยังงั้นทีเดียว
ทั้งที่ราคาก็แพงลิบลิ่ว แต่ทำไมไม่ว่าจะออกคอลเลกชันไหน ก็ขายได้หมดเกลี้ยงชั่วพริบตา แล้วอะไรคือความลับสำคัญที่ทำให้คาร์นิวัลจับอะไรก็ฮอตฮิต เป็นเงินเป็นทองซะทุกครั้ง จนหลายคนมองว่า ดีต่อใจ และคุ้มค่าต่อเงิน วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
จากตัวตน (Brand Character) มัลติแบรนด์สโตร์ที่มีจุดเด่นเรื่องความเรียบ เท่ มีสไตล์ เอกลักษณ์เฉพาะตัวในแง่มุมของแฟชั่นสายสตรีท บวกกับโลโก้ที่จดจำได้ง่าย สวย สะดุดตา (Eye-catching logo) ที่จริงก็อาจจะคล้ายกับแบรนด์สตรีทในฝันของคนทั่วโลกด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กำหนดความนิยมให้ ‘พุ่งทะยาน’ ได้เป็นอย่างดี เกิดการผลิตซ้ำของภาพจำว่า หากสวมใส่แล้วคงดูอินเทรนด์ เท่ เฟี้ยวมากแน่ๆ
อีกทั้งอุปทาน (Supply) หรือปริมาณการผลิตสินค้าของผู้ผลิตที่มีอยู่อย่าง ‘จำกัด’ วางขายรุ่นลิมิเต็ด ‘เฉพาะช่วงเวลา’ การออกแบบลวดลายที่ไม่ซ้ำใคร ความวิจิตรบรรจง แปลกใหม่ที่ออกมาให้ตื่นเต้นตลอด รวมไปถึงวัสดุคุณภาพดีเยี่ยม ส่งผลให้ถึงแม้ราคาจะนำคุณภาพไปหลายขุม แต่อุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการสินค้าของผู้บริโภคนั้นกลับสูง สวนทางกับความเป็นจริง ถึงขั้นที่ว่าสาวกบางคนยอมทุ่มหมดหน้าตัก เปย์ไม่อั้นเพื่อให้ได้มีไว้ในครอบครองเลยทีเดียว
เพราะเป็นของสะสมที่ดีต่อใจ ‘ยิ่งเก็บนานเท่าไร มูลค่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น’ จะว่าไปก็เหมือนกับกระเป๋าแบรนด์เนมพวกชาแนล (Chanel) แอร์เมส (Hermès) หรือพวกเพชร เครื่องประดับที่ผู้หญิงชอบเก็บไว้เป็นคอลเลกชัน ทำนองนั้นเลยค่ะ
และที่ยิ่งไปกว่านี้คือการมีไว้ในกำมือก็เป็นเสมือน ‘สัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะ (Status Symbol)’ ไปในตัว ที่ไม่ได้แปลว่า รวยอย่างเดียว แต่ยังควบรวมไปถึงเรื่องความอินเทรนด์ เท่ ดูดีมีสไตล์อีกต่างหาก โดยถ้าเทียบเคียงกับแบรนด์ระดับโลก ดิฉันมองว่า คงเปรียบได้กับซูพรีม (Supreme) แบรนด์ในฝันของคนทั่วโลกที่ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ทำโปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์ไหน ราคาของสินค้านั้นก็อัปขึ้น ‘เกินเรื่อง’ จากราคาปกติไปมาก
ยกตัวอย่างเช่น โปรเจกต์รองเท้าความร่วมมือกับไนกี้ ที่เดิมราคารองเท้าอาจจะอยู่แค่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ แต่พอใส่โลโก้ซูพรีม และไนกี้ลงไป ราคาก็อัปขึ้นเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อแบรนด์นำไปให้คนดังสวมใส่ ราคาก็พุ่งกระฉูดถึง 5 เท่าตัวกว่า หรือราวๆ 800 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยในทางธุรกิจ การกระตุ้นส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นแบบนี้ผ่านการนำเสนอในแง่มุมของสินค้าหายาก (Rare Item) และความขาดแคลนในอนาคต เรียกว่า ‘ผลจากอคติการขาดแคลนทางความคิด (Scarcity Effect) หรือตลาดแบบขาดแคลน (Scarcity Marketing)’ ค่ะ
ซึ่งทั้งหมดนี้ เมื่อรวมเข้ากับความทรงพลังของชุมชน (Powerful Community) ทั้งจากกลุ่มสาวก นักสะสม และตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ก็ต่อยอดไปสู่ระบบนิเวศของการขายต่อเป็นทอด ที่บางทียิ่งส่งต่อไปเรื่อยๆ มูลค่าก็พุ่งขึ้นกว่าเดิมถึงเท่าตัว นอกจากนี้ ดิฉันมองว่า เป็นอีกหนึ่งวิธีการเยียวจิตใจ บำบัดความเครียดที่ดี หรือ ‘Shopping Therapy’ นั่นเอง
เนื่องจากยิ่งเปย์มากเท่าไร เราก็ยิ่งรู้สึกมีอำนาจเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ต้องวงเล็บทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า ชอปปิงได้ แต่ก็อย่าลืมลิมิตตัวเองกันด้วยนะคะ เพราะไม่งั้นแล้ว จากที่หายเครียด จะกลายเป็นเครียดกว่าเดิม มีหนี้สินกองโตรอให้ใช้คืนค่ะ ฮ่า
การผนึกกำลังกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกัน ที่หากย้อนกลับไปดูช่วงแรก อาจจะเป็นเพียงแค่การขยายฐานลูกค้า กระตุ้นการรับรู้ (Brand Awareness) ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านกระแสนิยม และการปรากฏตัวในปรากฏการณ์ใหม่ สร้างความรู้สึกตื่นเต้น แปลกใจให้กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ถึงวันนี้กลับกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สร้างความจงรักภักดี (Brand Loyalty) กับเหล่าสาวก ไต่ระดับสู่แบรนด์สินค้าอันดับหนึ่งในใจ (Top of Mind) ของผู้บริโภคอย่างเหลือเชื่อ
ฉะนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกว่า ทำไมคาร์นิวัลถึงอู้ฟู่ ขึ้นแท่นอันดับ 1 มัลติสโตร์ของประเทศ หยิบโลโก้ไปติดกับสินค้าอะไรก็สวยขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แถมราคาก็สูงขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน แต่ก็ยังขายหมดเกลี้ยงทุกครั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น ‘เครื่องหมายมูลค่าเพิ่มที่ไม่มีวันเสื่อมค่าตามกาลเวลา’ เลยสักนิด…
Sources: https://bit.ly/3k15yd6