ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี และกระแสข่าวการ Layoff แบบสายฟ้าแลบที่ผุดให้เห็นเป็นประจำ ทำให้ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น Quiet Quitting การลาออกจากงานแบบทิพย์ๆ , Quiet Firing การบีบให้พนักงานลาออกแบบเงียบๆ หรือแม้กระทั่ง F.I.R.E. Movement เทรนด์การรีบทำงานเก็บเงิน รีบเกษียณไวๆ ก็ด้วย
ล่าสุด สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันยังส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดอีกหนึ่งคำศัพท์ใหม่ นั่นก็คือ ‘Career Cushioning’ แล้วมันคืออะไร มีศิลปะในการทำอย่างไร และผู้เชี่ยวชาญเขาแนะนำเรื่องนี้ไว้ยังไงบ้าง? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
Career Cushioning คืออะไร?
Career Cushioning คือเทรนด์การหางานสำรองเผื่อตกงานที่มีต้นตอมาจากรูปแบบความสัมพันธ์ของความรักอย่างการ Cushioning หรือ ‘คุยเผื่อเลือก’ คุยกับหลายๆ คนเผื่อคบเป็นแฟน แต่ถ้าโดนคนแรกเท ก็จะได้หันไปหาอีกคน
ซึ่งก็เปรียบได้กับพฤติกรรมของมนุษย์ออฟฟิศที่ต่อให้จะมีงานประจำอยู่แล้ว แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ กระแสข่าวการปลดคนของ Big Tech หลายหมื่นคน ส่งผลให้พวกเขาเตรียม Plan B เอาไว้ หางานสำรอง สมัครงานใหม่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่ว่า ถ้าโดน Layoff ขึ้นมาจริงๆ จะได้ไม่เจ็บหนัก รวมไปถึงยังเป็นการหาทางหนีทีไล่ หากวันหนึ่งเกิดไม่พอใจกับ Career Path ด้วย
ชาร์ลอตต์ เดวีส์ (Charlotte Davies) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของลิงก์อิน (LinkedIn) ให้ความเห็นว่า “แท้จริงแล้ว การ Career Cushioning ไม่ได้หมายความว่า พนักงานจะเปลี่ยนทัศนคติต่อบทบาทการทำงานปัจจุบัน แต่แค่เตรียมความพร้อม เป็นหลักประกันในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับอาชีพตัวเองในอนาคต”
Career Cushioning หมายถึงการทรยศบริษัท จริงไหม?
แม้บางคนจะรู้สึกว่าเป็นการทรยศต่อบริษัท แต่จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด แอบบี มาร์ติน (Abbie Martin) นักกลยุทธ์ด้านอาชีพ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “มีคนจำนวนมากรู้สึกว่า การหางานใหม่ในขณะที่ยังทำงานเดิมอยู่เป็นเหมือนการโกงบริษัท แต่ในความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ลูกจ้างสามารถทำได้ และไม่ควรรู้สึกผิด แต่ก็ควรอยู่ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณด้วย เช่น อาจหางานใหม่ในช่วงพักกลางวัน
“มันเปรียบเสมือนสิ่งหล่อเลี้ยงความฝัน และทำให้ขอบเขตความฝันขยายออกไปมากยิ่งขึ้น มันไม่ใช่เรื่องแย่เลยที่จะมีแผนสำรองเอาไว้ แม้คุณจะไม่ได้ทำงานกับอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็ตาม” นอกจากนี้ เดวีส์ก็ยังเสริมว่า “การ Career Cushioning เป็นแบบฝึกหัดในการเสริมสร้างความมั่นใจ และควรหมั่น Upskill เพิ่ม หากรู้สึกกังวลกับความมั่นคงของงาน” ด้วย
ศิลปะของการ Career Cushioning มีอะไรบ้าง?
แคทเธอรีน ฟิชเชอร์ (Catherine Fisher) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของลิงก์อิน ได้ให้คำแนะนำในการ Career Cushioning เอาไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. อัปเดตลิงก์อินตัวเองว่า #OPENTOWORK เพราะเครือข่ายเหล่านี้ถือเป็น ‘ทรัพย์สินทางวิชาชีพที่สำคัญที่สุด’
2. ทบทวนทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับงานที่กำลังมองหา
3. วางแผนว่า เป้าหมายต่อไปในชีวิตคืออะไร และจะทำอย่างไรให้มันสำเร็จ
อีกทั้ง ไดแอน กิลเลย์ (Diane Gilley) หุ้นส่วนของออดเจอร์ส เบิร์นด์สัน (Odgers Berndtson) บริษัทจัดหางานด้านเทคนิค ก็ยังบอกเช่นกันว่า “มันยังคงเป็นเรื่องดีที่ยังคงมุ่งมั่นกับงานประจำปัจจุบันอยู่ แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องคิดถึงสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง และความสนใจว่า อยู่ที่เรื่องไหน รวมถึงควรดูว่า เครือข่ายและประสบการณ์ที่มีจะพาคุณไปที่ไหน?”
หากพูดกันตามเนื้อผ้า การ Career Cushioning ไม่ได้เป็นเพียงการหาทางหนีทีไล่เผื่อฉุกเฉิน หรือมักจะเท่ากับความหมายเชิงลบเช่นเดียวกับการคุยเผื่อเลือกกับแฟนเสมอไป แต่จริงๆ แล้ว ยังเป็นการเพิ่ม Connection ฝึกทักษะใหม่ๆ และดูแลงานใน ‘บริษัท ชีวิตของเรา จำกัด’ ที่เราเป็นทั้งเจ้าของ หัวหน้า ลูกน้อง ให้ดีกว่าเดิมในทุกๆ วันด้วย
Sources: https://bloom.bg/3H93CKv