“Don’t put all your eggs in one basket – อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”
สำนวนสะท้อนความเสี่ยง หากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ไข่ในตะกร้าก็จะเสียหายไปทั้งหมด มักถูกใช้ในวงการธุรกิจและการนักลงทุน หากธุรกิจไม่ได้ใหญ่โตพอที่จะพร้อมลงทุนในด้านอื่นๆ แบบทันทีทันใด จะทำอย่างไร ?
มุมมองจากผู้ประกอบการ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่บางส่วนกลับมาฟื้นตัวได้ แต่บางส่วนยังไม่ดีขึ้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะผ่านไป แต่ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ยังคงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เห็นเด่นชัดคือ ค่าเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อน ภาพรวมธุรกิจจะกระทบหลายด้าน หมายความว่าภาคธุรกิจไม่ได้มีความมั่นคงกันเท่าไรนัก
การกระจายความเสี่ยง แบบใส่ไข่ไว้ในตะกร้าหลายใบนั้น นักลงทุนอาจทำได้ไม่ยาก เช่น แบ่งลงทุนกระจายไปในหุ้น ทองคำ สกุลเงิน หรืออสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ การจะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ หรือข้ามประเภทธุรกิจเลยทันที เป็นเรื่องที่ยากกว่าและเสี่ยงกว่ามาก
ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงหรือขยายธุรกิจ มักจะเป็นไปในแบบพอที่จะเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหรือองค์กรต้องมีความเข้าใจในธุรกิจนั้นที่มากพอที่จะทำ ซึ่งจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ผลกระทบทำให้หลายธุรกิจรู้ว่า การพยายามกระจายความเสี่ยง อาจไม่ช่วยอะไรได้เสมอไป เพราะตะกร้าทุกใบเสี่ยงมีปัญหาได้ตลอด จึงกลายเป็นว่า “การเปลี่ยนตะกร้า” คือทางรอดที่น่าสนใจกว่า
ตัวอย่าง เช่น ช่วงล็อกดาวน์เมืองจะการระบาดของโควิด-19 โรงแรมบางแห่ง ต้องมาเปิดบูธขายอาหาร แม้โรงแรมจะเป็นระดับ 5 ดาว ก็หันมาทำข้าวกล่องแบบไม่แพงราคาจับต้องได้ขาย ส่วนธุรกิจอาหารเอง ก็เน้นออนไลน์จัดส่งถึงบ้าน ต่อให้ระดับเป็น Michelin star ก็ยังต้องหันมาปรับเมนูเพื่อให้ขายคนทั่วไปได้ แม้แต่ในโรงงานรับผลิต (OEM) ก็หันมาทำแบรนด์ตัวเองขาย เพื่อชดเชยงานสั่งผลิตที่หายไป ซึ่งหลายธุรกิจอาจไม่คิดจะทำมาก่อน
“ธุรกิจจำเป็นต้องมีตะกร้าสำรอง ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์หรือฐานลูกค้า ไม่ต่างจากคนทำงานควรมีอาชีพที่สอง”
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เช่น Forth หรือ ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของไทย โดยเดิมที ฟอร์ทฯ เป็นเพียงบริษัทแปลงซอฟต์แวร์ และได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจไปหลายครั้ง โดยในหลายครั้งนั้น ธุรกิจเดิมถูก disrupt อย่างไม่มีทางเลือกตลอดในช่วงหลายสิบปีนี้ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ สู่ฮาร์ดแวร์ในหลากหลายสาย จากตู้ชุมสาย สู่ตู้บุญเติม และวันนี้บริษัทได้ย้ายไข่อีกครั้ง มาสู่ตะกร้าที่ชื่อว่า “เต่าบิน” ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จัก
หากมองเป็นรายธุรกิจ คงเห็นได้ว่า ต้องกล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ แต่สำหรับภาพรวม คงมีไม่กี่บริษัทในไทยที่จะปรับตัวได้เก่งอย่าง ฟอร์ทฯ เพราะผลลัพธ์เป็นที่ทราบดีในหมู่นักลงทุนว่า ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจเหมือนแต่ก่อน ไม่มีธุรกิจใดที่ก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงนวัตกรรมเท่าไรนัก
แม้จะยังขยับขยายเหมือนกระจายไข่ไปในหลายตะกร้า แต่ก็อาจไม่ช่วยให้ก้าวหน้าเท่าไร หรือเมื่อมองไปที่ประเทศญี่ปุ่น ทุกวันนี้ก็เริ่มมีปัญหา เพราะขาดตะกร้าใหม่ๆ ให้นำไข่ไปวาง ส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งตะกร้าใหม่ในต่างประเทศกันเสียหมด ซึ่งนั่นไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของผู้คนภายในประเทศเป็นแน่
“อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว ยังคงจริงตามนั้น แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เปลี่ยนตะกร้าใส่ไข่ได้ย่อมเป็นอะไรที่ดีกว่า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป ตะกร้าใส่ไข่อาจต้องมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนตาม”
สรุป “การปรับตัว” ในเส้นทางธุรกิจเดิมๆ อาจยังดีไม่พอเมื่อเทียบกับ “การเปลี่ยนแปลง” ฉะนั้น ผู้ประกอบการและผู้นำองค์กรต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ให้ดี และมองให้ขาด เพื่อวางแผนทางหนีทีไล่ในทางธุรกิจ “ไข่ในตะกร้าที่คุณใช้อยู่อาจปลอดภัยแค่ไหน”