‘Bitcoin’ ร่วงสู่ 22,000 ดอลลาร์ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยที่ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ แต่สั่นสะเทือนถึงไทยอย่างไรบ้าง?

Share

อุ่นใจได้ไม่นาน ก็ต้องกลับมาขวัญผวาอีกครั้ง…

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มิถุนายน) ช่วงเวลาแห่งฝันร้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ได้เริ่มต้นขึ้น เพราะราคาของเหรียญแทบทั้งหมด พากันดำดิ่งสู่ก้นเหว โดยเฉพาะ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) ที่ ณ ขณะนี้ ราคาร่วงสู่ 22,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน สามารถกลับไปยืนเหนือ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐได้อีกครั้ง เนื่องจาก ได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนนโยบายซีโร่ โควิด (Zero COVID) ของจีน

วิกฤตของราคาคริปโทฯ ณ ขณะนี้ รุนแรงกว่าช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเสียอีก เพราะการที่ราคาบิตคอยน์ลงไปแตะที่ 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นในตลาดคริปโทฯ มานานแล้ว อีกทั้งราคานี้ ยังเป็น ‘แนวรับ’ หรือที่ในวงการคริปโทฯ เรียกว่า ‘บอตทอม’ (Bottom) หมายถึงจุดที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ราคาจะไม่ลงไปมากกว่านี้ แต่ก็ผิดคาด เมื่อราคาบิตคอยน์ร่วงมาถึงแนวรับเป็นที่เรียบร้อย และมีโอกาสสูงมากที่จะร่วงทะลุแนวรับไปเรื่อยๆ

แต่นอกจากที่ตลาดคริปโทฯ แตกเป็นเสี่ยงๆ และราคาบิตคอยน์ร่วงแรง จนทำให้พอร์ตของนักลงทุนกลายเป็นสีแดงที่แรงฤทธิ์กว่าเดิมมากๆ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการลงทุนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความถดถอยทางเศรษฐกิจได้ด้วย โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจใน ‘สหรัฐอเมริกา’

‘เงินเฟ้อ’ ในสหรัฐอเมริกา ดีดตัวกลับอย่างรุนแรง

ตั้งแต่เข้าปี 2022 มา หนึ่งในคำฮอตฮิตที่ต้องได้ยินกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘เงินเฟ้อ’ ปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยประเทศที่กำลังประสบปัญหามากที่สุดในขณะนี้ คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวดีว่า อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลง แต่ในตอนนี้ กลับดีดตัวสูงขึ้นถึง 8.6 เปอร์เซ็นต์

ถามว่า ทำไมประเทศศักยภาพสูงอย่างสหรัฐอเมริกา จึงกลายเป็นประเทศที่บอบช้ำจากวิกฤตเงินเฟ้อครั้งนี้มากที่สุด?

คงเป็นเพราะบาดแผลที่ ‘โควิด-19’ ได้ฝากเอาไว้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนัก สหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นได้จากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตที่ครองอันดับ 1 ของโลก การที่ผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ได้นำพามาแค่ความโศกเศร้าเสียใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำพามาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วย

เพราะ ‘คน’ คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจทำงานได้สมบูรณ์ เมื่อฟันเฟืองหยุดหมุน การเติบโตทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงักไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องออกนโยบายทางการเงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งนโยบายหลักๆ ก็คือการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และกระตุ้นการดำเนินของภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาคึกคัก จนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นแบบ ‘รูปตัววี’ (V-Shape) หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดด เหมือนไม่เคยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาก่อน

แต่การผลักดันนโยบายเช่นนี้ ได้ผลแค่ช่วงแรกเท่านั้น เมื่อฉากหน้าที่ดูดียังเต็มไปด้วยปัญหาที่อยู่เบื้องหลัง อย่างการที่ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงักไปนาน ต้องรีบกลับมาทำงาน เพื่อผลิตสินค้าให้ทันต่อความต้องการที่พุ่งสูงภายหลังการคลายล็อกดาวน์ ทำให้อุปทานและอุปสงค์ในระบบไม่สัมพันธ์กันอย่างรุนแรง และนี่จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญของ ‘วิกฤตเงินเฟ้อ’ ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติด้านการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและคริปโทฯ

เศรษฐกิจไทยถูกฉุดให้ลงเหวไปพร้อมๆ กันด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพทางเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกถูกเชื่อมโยงกันไว้ด้วยกลไกบางอย่าง ยิ่งมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เชื่อมโยงกันมาก ยิ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่างกัน และไทยเองก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย

วันนี้ เราจึงรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในวงการเศรษฐศาสตร์ มาสรุปเป็นข้อๆ ว่า สัญญาณความถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง?

1. อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งกระฉูด
หลังจากที่มีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็สร้างความตระหนกตกใจให้คนในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะมีตัวเลขสูงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า เรายังต้องอยู่ในภาวะ ‘ซื้อของแพง แต่ค่าแรงเท่าเดิม’ กันต่อไป

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า วิกฤตเงินเฟ้อในครั้งนี้ เกิดจากปัญหาที่ห่วงโซ่อุปทานถูกตัดขาดเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ทั้งสหรัฐฯ และไทยอยู่ในสถานะผู้บริโภคไม่ต่างกัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการปรับตัวของราคาต้นทุน พุ่งสูงตามกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ‘แบงก์ชาติ’ อาจจะต้องประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่พร้อม
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นมากๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างจริงจังเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา จากการผลักดันนโยบายการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีความบอบช้ำ และไม่พร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินล้อไปกับต่างประเทศ

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ‘แบงก์ชาติ’ มองว่า ปัญหาของเงินเฟ้อในครั้งนี้ เกิดจากปัญหาที่อุปทานโตไม่ทันอุปสงค์ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ห่วงโซ่การผลิต หรือชะลอการโตของอุปสงค์ น่าจะตรงจุดกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูง ทำให้ความต่างระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทไทยเพิ่มขึ้นมาก จนเงินบาทไทยอ่อนค่า (ผลกระทบที่เรากำลังจะกล่าวถึงในข้อต่อไป) การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย คงเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติจะต้องนำมาพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาในเร็ววันอย่างแน่นอน

3. ค่าเงินบาทอ่อนตัว ล่าสุดแตะ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่เรียบร้อย
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ คงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนตัวสุดในรอบ 20 ปี และในตอนนี้ ก็ถึงคิวของเงินบาทไทยที่อ่อนตัวตามไปติดๆ การที่เงินบาทไทยอ่อนค่า จะทำให้เสียเปรียบด้านการค้า เพราะหากมีการนำเข้าสินค้า แล้วต้องจ่ายเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่า ต้องใช้เงินบาทไทยมากขึ้นในการซื้อสินค้าเท่าเดิม

ดังนั้น การที่ปรับนโยบายทางการเงินตามสหรัฐฯ จะทำให้ช่องว่างระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทไทยต่างกันน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อสอง หรือการที่แบงก์ชาติอาจจะต้องพิจารณาการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาดุลการค้าไว้

จากการที่ตลาดคริปโทฯ แตก ราคาบิตคอยน์ร่วงแรง เคยเป็นเรื่องของนักลงทุนบางกลุ่ม แต่ในวันนี้ กลายเป็นหนึ่งในสัญญาณที่สามารถสะท้อนถึงความถดถอยทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างที่พูดกันเสมอว่า “โลกของการเงินและการลงทุนถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยกันหมด”

และเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า วิกฤตเงินเฟ้อครั้งนี้ จะจบลงอย่างไร? และไทยจะสามารถเอาชนะวิกฤตเงินเฟ้อครั้งนี้ได้หรือไม่?

Sources: https://cnb.cx/3xryUaJ

https://econ.st/3QAgX2L

https://bit.ly/39pLsrb

https://bit.ly/39u6pBu

https://bit.ly/3xtXckD