‘Apple’ เลือกเวียดนาม ‘Tesla’ เลือกอินโดนีเซีย ทำไม ‘ไทย’ จึงไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการตั้งโรงงานของ Big Tech?

Share

หากใครติดตามข่าวสารด้านธุรกิจหรือเทคโนโลยีอยู่แล้ว เชื่อว่า ในช่วงนี้ คงเห็นข่าวเกี่ยวกับการที่บริษัทบิ๊กเทค (Big Tech) ชื่อดังระดับโลกอย่างแอปเปิล (Apple) และเทสลา (Tesla) มาตั้งฐานการผลิตใหม่ในประเทศอาเซียน (ASEAN) ซึ่งเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงประเทศที่เป็นแนวหน้าด้านการผลิตและส่งออกในอาเซียน คงหนีไม่พ้น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงไทยด้วย ซึ่งทั้งสี่ประเทศที่กล่าวมานี้ เป็นฐานการผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น หากบริษัทบิ๊กเทคต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิต หรือสร้างโรงงานใหม่ในอาเซียน ตัวเลือกแรกๆ ในการลงหลักปักฐาน ต้องเป็น 1 ในชื่อของ 4 ประเทศนี้แน่นอน และก็ไม่ผิดคาด เมื่อแอปเปิลเลือกเวียดนามให้เป็นฐานการผลิตใหม่ของไอแพด (iPad) จากเดิมที่เป็นจีน รวมถึงเทสลายังเลือกอินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ในเอเชียอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการย้ายฐานการผลิตมาในอาเซียน

โดยปกติ ฐานการผลิตสำคัญของบริษัทบิ๊กเทคแทบทุกบริษัท จะตั้งอยู่ที่ ‘จีน’ ทั้งด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการจัดตั้งโรงงาน และนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ต่างก็เป็นเหตุผลที่ทำให้จีนเป็นตัวเลือกแรกในการตั้งโรงงานเสมอ

แต่จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้จีนไม่ใช่ ‘One and Only’ ในใจบริษัทบิ๊กเทคอีกต่อไป ก็คือ การบังคับใช้ ‘นโยบายซีโร่ โควิด’ (Zero COVID) ของรัฐบาลจีน ความเข้มงวดของนโยบาย ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยากจะฟื้นฟู รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทบิ๊กเทคยังถูกตัดขาด จนส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภค

เมื่อฐานการผลิตเดิมเต็มไปด้วยปัญหา ก็ต้องหาฐานการผลิตใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม

‘อาเซียน’ จึงกลายเป็นตัวเลือกใหม่ในใจของบริษัทบิ๊กเทค เพราะข้อมูลจาก McKinsey และ BCG บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ชี้ตรงกันว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตในด้านการผลิตและส่งออกสูง โดยเติบโตขึ้นถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากปี 2015 ถึง 2019 และหากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเติบโตได้อีก 5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2023

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนัก จนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ‘อุตสาหกรรม 4.0’ (Industry 4.0) หรือยุคที่ในโรงงานมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกขั้นตอน และไม่ได้มองว่า ‘เทคโนโลยี = เครื่องจักร’ เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรม 4.0 ในอาเซียน จะสามารถสร้างรายได้มากถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสิ่งนี้ คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่จูงใจการลงทุนของบริษัทบิ๊กเทคได้ไม่น้อย

ถึงแม้ว่า อาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคขวัญใจของบริษัทบิ๊กเทคไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะได้อยู่ในสายตาของบริษัทเหล่านั้น โดยเฉพาะ ‘ไทย’ ที่มีศักยภาพด้านการผลิตและส่งออกเป็นเบอร์ต้นๆ ของอาเซียน แต่กลับไม่ได้รับการถูกเลือกให้เป็นฐานการผลิตใหม่ของบริษัทบิ๊กเทค ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

วันนี้ เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่ถูกเลือกจากบริษัทบิ๊กเทคมาวิเคราะห์ให้ทุกคนเข้าใจในทุกแง่มุมไปพร้อมๆ กัน

ไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เสียเปรียบประเทศอื่น

คำว่า ‘ลักษณะทางภูมิศาสตร์’ ในที่นี้ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละประเทศมีด้วย หากดูในแผนที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า ไทยเสียเปรียบเรื่องพื้นที่ทางทะเล มากกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียที่เป็นประเทศที่ถูกเลือก

ถามว่า ทำไมการเสียเปรียบเรื่องพื้นที่ทางทะเล ถึงกลายเป็นจุดอ่อน และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทบิ๊กเทคไม่เลือกไทย?

เพราะการขนส่งวัตถุดิบ จะใช้ ‘เรือ’ เป็นช่องทางในการขนส่งหลัก เนื่องจาก เป็นวิธีการขนส่งที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดในปัจจุบัน ดังนั้น ประเทศที่มีพื้นที่ทางทะเลมากกว่า จึงได้เปรียบกว่าในประเด็นนี้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่า ไทยจะมีท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง แต่เมื่อบริษัทลองวิเคราะห์ศักยภาพดูแล้ว อาจจะไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่บริษัทต้องการก็เป็นได้

นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนั้นๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือการที่เทสลาเลือกอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และแร่นิกเกิลก็เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ ทำให้เทสลาไม่จำเป็นต้องเสียค่านำเข้าแร่นิกเกิลจากแหล่งอื่นมาใช้ในกระบวนการผลิต

นโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ ยังไม่โดดเด่นพอ

จริงๆ แล้ว ประเด็นนี้ ไม่ได้หมายถึงว่า นโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติของไทยไม่ดี แต่แค่อาจจะมีบางอย่างที่ไม่โดดเด่นเท่ากับนโยบายของประเทศอื่น อย่างเช่น เวียดนามที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มจำนวนบริษัทข้ามชาติใน Fortune Global 500 (การจัดอันดับทำเนียบบริษัทที่ทำรายได้สูงที่สุด 500 อันดับแรกของโลก) ที่ทำธุรกิจในเวียดนาม 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุ่นใจ การต้อนรับที่ดี และการสนับสนุนเวลาที่บริษัทจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศนั่นเอง

ดังนั้น ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมบริษัทที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ก็เป็นเหมือนหลักการทางจิตวิทยา หรือ ‘การซื้อใจ’ ที่ทำให้เกิดการยอมรับข้อเสนอที่มีได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าประเทศอื่น

ค่าแรง คือต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ในมุมของเจ้าของธุรกิจ ย่อมต้องการประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ลองคิดภาพตามว่า โรงงาน A ใช้เงิน 20 บาท ในการผลิตสินค้า C แต่โรงงาน B ที่ผลิตสินค้า C ได้เหมือนกัน ใช้เงินเพียง 10 บาท ดังนั้น เราก็ต้องเลือกโรงงาน B ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าอยู่แล้ว ซึ่งวิธีการคิดเรื่องค่าแรงก็ไม่ได้ต่างกันเลย

ข้อมูลจาก ASEAN Briefing ระบุว่า ในปี 2022 ค่าแรงขั้นต่ำของไทยเริ่มต้นที่ 313 บาท ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามเริ่มต้นที่ 150 บาท และค่าแรงขั้นต่ำของอินโดนีเซียเริ่มต้นที่ 138 บาท ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเวียดนามและอินโดนีเซีย จึงถูกเลือกให้เป็นฐานการผลิตใหม่ของบริษัทบิ๊กเทคนั่นเอง

ถึงแม้ว่า เหตุผลทั้งสามข้อนี้ จะเป็นข้อเสียเปรียบที่ทำให้ไทยยังไม่ถูกเลือกจากบริษัทบิ๊กเทคก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่า ในอนาคต ไทยจะไม่มีโอกาสในการถูกเลือกเลย เพราะตอนนี้ บริษัทบิ๊กเทคก็เข้ามาบุกตลาดในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเทสลาที่มีการจดทะเบียนบริษัทในไทย และแอปเปิลที่มีการจัดตั้งแอปเปิล สโตร์ (Apple Store) ถึง 2 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทบิ๊กเทคเองก็คงมองเห็นศักยภาพบางอย่างของไทยอยู่บ้าง

ดังนั้น หากไทยสามารถเอาชนะจุดอ่อนทั้งหมด และชูกลยุทธ์ที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ขึ้นมาได้ ก็คงเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ไทยกลายเป็นตัวเลือกแรกในสายตาของบริษัทบิ๊กเทคอย่างแน่นอน

แล้วทุกคนคิดว่า ในอนาคต ไทยจะมีโอกาสเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทบิ๊กเทคหรือไม่?

Sources: https://bit.ly/3xM9vK8

https://reut.rs/3xI4D96

https://cnb.cx/3MN7sKn

https://bit.ly/3O5PFyQ

https://mck.co/3xhmDWo

https://on.bcg.com/3xsm0Jy

https://bit.ly/3xpwxVZ