นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเห็นพ้องว่า สิ่งที่ทำให้ผู้นำแตกต่างกันไม่ใช่แนวคิด ปรัชญา บุคลิกภาพ หรือรูปแบบการบริหารจัดการ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Action Logic หรือตรรกะการกระทำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้นำตีความสถานการณ์และตอบสนองเมื่ออำนาจหรือความรู้สึกถูกท้าทาย
เดวิด รุก (David Rooke) ผู้อำนวยการ Harthill Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ และ วิลเลียม อาร์ โทรเบิร์ต (William R. Torbert) ศาสตราจารย์ด้านการเป็นผู้นำจากบอสตัน คอลเลจ (Boston College) ร่วมกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ทำการศึกษาโดยใช้เครื่องมือ “แบบสำรวจพัฒนาการความเป็นผู้นำ” (Leadership Development Profile) กับบรรดาผู้บริหารและคนทำงานหลายพันคน อายุระหว่าง 25 – 55 ปี จากร้อยกว่าองค์กรหลากหลายอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ และยุโรป พบว่า ระดับผลงานของบุคคลและองค์กรจะแตกต่างไปตาม Action Logic ประเภทต่างๆ
ประเภทของผู้นำที่จำแนกไปตาม Action Logic เรียงลำดับจากผู้ที่มีประสิทธิภาพและความซับซ้อนน้อยที่สุด ไปมากที่สุด ได้แก่ นักฉวยโอกาส (Opportunist), นักการทูต (Diplomat), ผู้ชำนาญการ (Expert), นักปฏิบัติ (Achiever), นักปฏิวัติ (Individualist), นักกลยุทธ์ (Strategist) และผู้นำระดับเทพ (Alchemist)
แล้วตัวคุณเอง หรือคนที่คุณรู้จักจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำประเภทไหน ?
นักฉวยโอกาส
จุดแข็ง: มีประโยชน์ในภาวะฉุกเฉินและการขาย
จุดอ่อน: คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทนเดินตามได้นาน
พบได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มตัวอย่าง มีลักษณะชอบเอาชนะ ไม่ว่าด้วยวิธีใด เห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก ชอบบงการ และมองว่า อำนาจคือความถูกต้อง
นักฉวยโอกาสมักไม่ไว้ใจผู้อื่น เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และชอบสร้างสถานการณ์ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มให้ความสำคัญกับชัยชนะมากเกินไป มองโลกและผู้คนว่าเป็นโอกาสให้ตนสามารถเอาเปรียบได้ แนวทางของนักฉวยโอกาสกำหนดโดยความรู้สึกถึงความสามารถในการควบคุมเป็นหลัก หมายถึงการตอบสนองต่อเหตุการณ์ขึ้นอยู่กับว่า ตัวเองรู้สึกสามารถควบคุมผลลัพธ์ได้หรือไม่ โดยจะปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนคู่แข่ง มักไม่ยอมรับความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้อื่น และตอบโต้กลับอย่างรุนแรง นักฉวยโอกาสมักเป็นผู้บริหารได้ไม่นาน เว้นแต่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ Action Logic อื่นที่สูงขึ้น
นักการทูต
จุดแข็ง: เป็นกาวใจหรือตัวเชื่อมความสัมพันธ์ให้กับทีม
จุดอ่อน: ไม่สามารถฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา หรือตัดสินใจเรื่องยากๆ ที่จำเป็นต่อการปรับปรุงการทำงานได้
พบได้ 12 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มตัวอย่าง มีลักษณะชอบหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เชื่อสิ่งที่เป็นบรรทัดฐาน ไม่สร้างแรงกระเพื่อม
นักการทูตมักมองโลกสดใส พยายามเอาใจผู้อื่นที่มีสถานะเหนือกว่าและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เน้นควบคุมพฤติกรรมของตนมากกว่าควบคุมสถานการณ์ภายนอกหรือคนอื่นๆ มีความเชื่อว่า ผู้นำจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อปฏิบัติได้ตามบรรทัดฐานของกลุ่ม และรับผิดชอบหน้าที่ของตนให้ดี ผลการศึกษายังพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำประเภทนี้มักทำงานในระดับล่างขององค์กร
ผู้ชำนาญการ
จุดแข็ง: เป็นผู้สร้างประโยชน์ให้กลุ่ม
จุดอ่อน: ขาดความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ขาดความเคารพในผู้อื่นที่มีความเชี่ยวชาญน้อยกว่าตน
พบจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะจะปกครองด้วยเหตุผลและความเชี่ยวชาญเป็นหลัก โดยใช้ข้อมูลที่หนักแน่นเพื่อสร้างการยอมรับ
ผู้ชำนาญการเป็นประเภทผู้นำที่พบมากที่สุด มักสร้างความสามารถในการควบคุมโดยการเพิ่มความรู้ของตนเอง ทำงานด้วยความเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของตน สร้างการยอมรับและโน้มน้าวด้วยการนำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่หนักแน่น ชอบมองตัวเองว่าถูกเสมอ และมักดูถูกคนที่มีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า สามารถทำประโยชน์ให้ทีมได้อย่างมาก แต่ไม่เหมาะกับการนำทีม
นักปฏิบัติ
จุดแข็ง: เหมาะกับงานบริหารจัดการ
จุดอ่อน: ต่อต้านการคิดนอกกรอบ
พบจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะจะมุ่งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างการทำงานเป็นทีม รับผิดชอบการบริหารจัดการและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย
นักปฏิบัติสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นบวกได้ และให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ แต่แนวทางมักอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ หลายครั้งมักขัดแย้งกับผู้ชำนาญการ โดยเฉพาะลูกทีมที่เป็นผู้ชำนาญการที่มักมีความรู้สึกไม่ยอมรับผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติ
นักปฏิวัติ
จุดแข็ง: มีประสิทธิผลในบทบาทที่ปรึกษาและการทดลองสิ่งใหม่ๆ
จุดอ่อน: อาจสร้างความไม่พอใจให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน โดยละเลยกระบวนการหรือบุคคลสำคัญ
พบจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะทำงานด้วยวิธีการที่แตกต่างจากคนอื่น มักมองข้ามกฎเกณฑ์ที่เห็นว่าไม่สอดคล้องต่อการทำงาน
นักปฏิวัติรู้ดีว่า Action Logic ไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เป็นผลรวมระหว่างคนกับโลก สามารถสร้างความแตกต่างและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติให้แก่องค์กร โดยสามารถเข้าใจบุคลิกลักษณะและวิธีการปฏิสัมพันธ์ได้ดี ทั้งยังสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาตระหนักถึงความขัดแย้งที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และมักมองข้ามข้อบังคับต่างๆ ที่เห็นว่าไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้หัวหน้าหรือคนอื่นๆ รู้สึกไม่ดี
นักกลยุทธ์
จุดแข็ง: สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
จุดอ่อน: –
พบจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะเด่นคือความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลและองค์กร เน้นความร่วมมือ ประสานวิสัยทัศน์และความเป็นจริง มีความคิดริเริ่มที่ทันเหตุการณ์ ตั้งคำถามกับความเชื่อในปัจจุบัน
นักกลยุทธ์จะใส่ใจในความรู้สึกและข้อจำกัดภายในองค์กร มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถพูดคุยและเปลี่ยนแปลงได้ มีความชำนาญในการหาข้อยุติและนำไปสู่การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป ซึ่งส่งผลวงกว้างระดับองค์กร ชำนาญในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับคนอื่นๆ อีกทั้งรับมือความขัดแย้งได้ดีกว่าผู้นำประเภทอื่น รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีหรือเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร พวกเขาทำงานเพื่อสร้างหลักการและหลักจริยธรรมที่อยู่เหนือประโยชน์ของตนเองและองค์กร เพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น
ผู้นำระดับเทพ
จุดแข็ง: สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้เป็นวงกว้าง
จุดอ่อน: –
พบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะเด่นคือความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับสังคมได้ สร้างองค์กรใหม่ที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ (เช่น เนลสัน แมนเดลา)
ผู้นำระดับเทพหรือผู้นำระดับสังคม มีความสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นตนเองหรือองค์กรได้ ด้วยความสามารถมากมายในการรับมือสถานการณ์หลากหลายระดับพร้อมกัน สื่อสารได้ดีกับคนทุกระดับที่แตกต่าง รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยไม่ลืมเป้าหมายระยะยาว
ผลการศึกษาพบว่า ผู้นำระดับเทพมักดำรงตำแหน่งผู้นำหลายองค์กรพร้อมๆ กัน และสามารถบริหารจัดการได้อย่างดี โดยตื่นตัวอยู่เสมอและใช้ชีวิตด้วยมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูง มีส่วนผสมที่เป็นข้อดีของผู้นำประเภทอื่นๆ ที่กล่าวไปก่อนหน้าทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าผู้นำทั้ง 7 แบบ ไม่ได้เป็นเพียงลักษณะที่แตกต่างกันตามแนวคิดหรือรูปแบบการบริหารจัดการ แต่เป็นตรรกะแนวคิดในการมองตนเองและโลกภายนอก ซึ่งนำไปสู่การกระทำที่แสดงออกมา
ผู้นำทั้ง 7 แบบ ยังมีการแบ่งลำดับขั้น ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะความสำเร็จต่อเป้าหมายขององค์กร แม้ตัวคุณเอง หรือคนที่รู้จัก อาจไม่ใช่ผู้นำอันดับสูงเท่าที่ควร แต่ข่าวดีก็คือ ทักษะเหล่านี้สามารถพัฒนาได้ด้วยการตระหนักรู้ เรียนรู้ เข้าใจ และฝึกฝน จนสามารถเลื่อนขั้น หรือ ‘อัปเลเวล’ ความเป็นผู้นำให้สูงขึ้นไป จนกลายเป็นผู้นำระดับเทพได้ในที่สุด
เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ “HBR’s 10 Must Reads: On Leadership” (ภาวะผู้นำ) เขียนโดย Jim Collins และ Peter F. Drucker แปลโดย คมกฤช จองบุญวัฒนา เรียบเรียงโดย วีรวุธ มาฆะศิรานนท์ สำนักพิมพ์ Expernet