จากวันธรรมดาสู่ Buzzword ชีวิต รวมฮิต 7 ศัพท์ประจำวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอดสัปดาห์

Share

ด้วยสภาพแวดล้อม และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้ชีวิตการทำงานจึงไม่ใช่เพียงนิยามวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์แบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่ได้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ และผลสำรวจที่ใช้อธิบายความซับซ้อน และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ออฟฟิศกันมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น Monday Blue อาการเกลียดวันจันทร์, Terrible Tuesday วันอังคารที่เลวร้าย, Little Saturday วันเสาร์กำมะลอ, The New Monday วันจันทร์สาขา 2, Thank God It’s Friday! วันเสาร์สักที ขอบคุณพระเจ้า หรือแม้กระทั่ง Sunday Scaries อาการกลัววันอาทิตย์ก็ด้วย

แล้วแต่ละคำคืออะไร มีแนวคิดอย่างไร วันไหนคือวันที่ดีที่สุด และแย่ที่สุดกันแน่? บทความนี้ Future Trends จะพาไปไล่เรียงวันตลอดทั้งสัปดาห์กัน

ทรงอย่างแบด แซดวันจันทร์ ‘Monday Blues’ ไม่ไปทำงานได้รึเปล่า?

ได้ยินคำว่า วันจันทร์ทีไร หัวใจห่อเหี่ยวทุกที ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวหรอกที่รู้สึกแบบนี้ คนอื่นก็เช่นกัน โดยผลการศึกษาของพลอส (PLOS) ระบุว่า ทุกๆ วันจันทร์บนแพลตฟอร์ม Twitter จะมีข้อความกว่า 63 ล้านทวีต บ่นประมาณว่า “ตนไม่อยากทำงานในวันแรกของสัปดาห์”

นอกจากนี้ ยังมีอีกรายงานหนึ่งออกมายืนยันอีกเสียงว่า บรรดามนุษย์ออฟฟิศรู้สึกไม่มีความสุขมากที่สุดในเวลา 11.17 น. ของวันจันทร์ ซึ่งในทางจิตวิทยา เราเรียกความรู้สึก Suffer ลักษณะนี้ว่า ‘Monday Blues’

Monday Blues หรืออาการเกลียดวันจันทร์ คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกอาการที่รู้สึกเครียด ท้อแท้ เหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่เพียงมนุษย์ออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาด้วย

แชนตัล กาเนียล (Chantal Gagnon) นักจิตวิทยาอธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนเราจะรู้สึกเครียดมากขึ้นในวันจันทร์เพราะจิตใจเชื่อมโยงกับความคิดว่า ‘วันจันทร์คือวันที่ต้องกลับทำงาน’ ซึ่งนำไปสู่ความเครียด

อีกทั้ง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) ก็ชี้ให้เห็นว่า การตั้งตารอว่าจะต้องเข้าไปทำงานในออฟฟิศทำให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้นด้วย

วันอังคารนั้น ฉัน Productive ‘Terrible Tuesday’ ไม่ได้แย่เสมอไป

แม้วันอังคารจะห่างไกลจากวันหยุดมาแค่วันเดียว แต่ก็ยังเป็นวันแย่ๆ ของบางคน และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Terrible Tuesday’ แต่ในความเป็นจริง นี่กลับเป็นวันทำงานที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ

ผลสำรวจของแอคเคาน์เท็ม (Accountemps) บริษัทสรรหาพนักงานจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพนักงาน 400 คน พบว่า กว่าครึ่งของพนักงานยอมรับว่า พลังงาน และแรงของตัวเองสูงสุดในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอังคาร คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ วันจันทร์ คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และวันพุธ คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์

หรือสรุปง่ายๆ ว่า วันอังคารเป็นวันทำงานที่ Productive สุด สามารถเคลียร์งานได้มากกว่าวันอื่นๆ เนื่องจาก ไม่ได้ใกล้กับวันหยุดเกินไปจนทำให้รู้สึก Suffer แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นวันที่หลายคนสดชื่น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่ได้เหนื่อยล้าจากการทำงานอันหนักหน่วงนัก

อย่าเพิ่งรีบยกธงขาวให้วันพุธ ลองหลอกตัวเองด้วย ‘Little Saturday’ วันเสาร์กำมะลอ

มีแนวคิดหนึ่งของฟากฝั่งอเมริกาที่เปรียบเทียบวันทำงานเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า วันทำงานก็เหมือนกับภูเขา วันพุธคือ ‘Hump Day’ หรือเนินเขาที่สูงชันตรงกลาง ถ้าผ่านไป เราก็จะแล่นลงไปวันที่เหลือได้อย่างสบายฉิว แต่หากพูดกันตามเนื้อผ้า กว่าจะลงภูเขาได้ก็ทำเอาเหงื่อตกอยู่ไม่น้อย ดังนั้น แทนที่จะรอให้วันหยุดมาถึง แต่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้เอง!

Lillördag หรือ Little Saturday คือแนวคิดของชาวสแกนดิเนเวียที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ความสุข และ Work-Life Balance’ ซึ่งพวกเขาได้ตัดบางสัปดาห์ออกเป็น 2 ส่วน หรือการตั้งหลักกิโลเมตรย่อยในการพักหลังจากทำงานมาทั้งสัปดาห์ด้วยการสร้าง ‘วันเสาร์ทิพย์หรือวันเสาร์กำมะลอ’ ขึ้นในวันพุธ โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุดในวันเสาร์ และอาทิตย์จริงๆ

โดยพวกเขาจะให้รางวัลตัวเองด้วยการเฉลิมฉลองเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะสังสรรค์หลังเลิกงาน การดูหนัง และซีรีส์ที่ชอบกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งการชอปปิงกับแฟน เพื่อคลายความเครียด ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำงาน และลดโอกาสเกิดภาวะหมดไฟ

นอกจากนี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา มีกระแสการทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน โดยวันพุธเองก็เป็นวันที่เหมาะกับการหยุดงานที่สุดด้วย ดอว์น่า บัลลาร์ด (Dawna Ballard) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) อธิบายว่า

ถึงการหยุดวันพุธจะเป็นการเว้นจังหวะที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างโครงสร้างสัปดาห์การทำงาน แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ค้นพบจังหวะใหม่ที่เกิดจากปัจจัยภายใน แถมการหยุดวันพุธก็ยังช่วยให้เราจัดการสิ่งต่างๆ และรู้สึกสงบได้มากขึ้นด้วย

วันพฤหัสกับฉันกับฉัน รู้จัก ‘The New Monday’ วันจันทร์สาขา 2

ต่อให้วันพฤหัสบดีจะไม่ใช่วันที่เพอร์เฟกต์อะไร แต่อีกอึดใจเดียวเราก็จะได้หยุดกันแล้ว เพราะพรุ่งนี้คือวันศุกร์ที่เป็นวันสุดท้ายของการทำงาน

โดยจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรเริ่มเปลี่ยนไปทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) กันมากขึ้นผ่านการเข้าออฟฟิศบางวันหรือเข้าแค่เท่าที่จำเป็น ไม่ได้เข้าวันจันทร์ถึงศุกร์อีกต่อไป

เวลาในการเผชิญหน้าที่ลดลงนี้ส่งแรงกระเพื่อมให้วันพฤหัสบดีได้กลายเป็น ‘The New Monday’ หรือวันจันทร์สาขา 2 ของมนุษย์ออฟฟิศหลายคนที่ใช้วางแผนตารางงานสัปดาห์ถัดไป สอดคล้องกับที่เบรนต์ ไฮเดอร์ (Brent Hyder) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคลบริษัทเซลส์ฟอร์ช (Salesforce) บอกว่า สำหรับตนแล้ว วันพฤหัสคือวันจันทร์ใหม่

รวมไปถึงบทความบนเว็บไซต์สำนักข่าว The Wall Street Journal ก็เผยว่า จากการลงความเห็นของ Manager และผู้นำก็มองตรงกันว่า วันอังคาร พุธ พฤหัสกลายเป็นวันที่มีการประชุมในสำนักงานสูงสุดมากกว่าวันศุกร์ และวันพฤหัสเป็นวันยอดนิยมในการเข้าออฟฟิศด้วย

บ่ายสามโมงวันศุกร์ ‘Thank God It’s Friday!’ ขอบคุณพระเจ้า

อย่างที่เล่าไปในวันพุธว่า มีแนวคิดในฝั่งมองว่า วันทำงานไม่ต่างอะไรจากภูเขา วันศุกร์ก็เหมือนกับเนินเขาขาลงที่เราแล่นลงได้สบายๆ โดยที่บางทีก็ไม่ต้องออกแรงมากด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ตั้งตารอให้ถึงเร็วๆ โดยในวันศุกร์ก็มีแฮชแท็กฮิตหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ TGIF หรือ Thank God It’s Friday! แปลเป็นไทยว่า “ขอบคุณพระเจ้า วันศุกร์สักที เย้!”

ซึ่งที่ต้องขอบคุณพระเจ้าก็เพราะหลังจากนี้พวกเขาจะได้มีเวลาไปลั้ลลาในวันเสาร์ และอาทิตย์ หลังจากทำงานหนักมาทั้งสัปดาห์ ไม่ต้องรีบตื่น รีบนอน รีบกินข้าวแบบวันทำงานอีก โดยรายงานก็ชี้ให้เห็นว่า บรรดามนุษย์ออฟฟิศรู้สึกมีความสุขมากที่สุดในเวลา 15.47 น. ของวันศุกร์ด้วย

เพราะเป็นวันหยุดจึงเจ็บปวด เมื่อ ‘วันเสาร์’ ไม่ใช่สวรรค์อีกต่อไป!

แม้จะมีคนเคยกล่าวไว้ว่า “การบ้านคือยาพิษ ‘เสาร์อาทิตย์คือสวรรค์’ นรกคือวันจันทร์ ส่วนวันสอบนั้นคือวันตาย”

ประกอบกับงานวิจัยเรื่อง ‘The weekend effect’ ของเจสซี่ เบิร์นชไตน์ (Jessey Bernstein) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill University) และเคิร์ก วอร์เรน บราวน์ (Kirk Warren Brown) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลธ์ (Virginia Commonwealth University) ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอาชีพไหนก็ตาม เมื่อวันหยุดมาถึง เรามักจะมีความสุข มีสุขภาพที่ดีมากกว่าวันทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียด และความวิตกกังวล

ทว่า แท้จริงแล้ว ในโลกแห่งการทำงานกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงจะเป็นวันหยุด แต่หลายคนก็ยังคงปั่นงานไม่หยุดอยู่ดี โดยผลสำรวจของเรสคิวไทม์ (RescueTime) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมรูปแบบการทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ 92 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า ตนทำงานเป็นประจำในตอนเย็น และวันหยุดสุดสัปดาห์

หมดเวลาสนุกแล้วสิ! ‘Sunday Scaries’ เพราะวันอาทิตย์ไม่ใช่ Safe Zone

พอพักจนหนำใจในวันเสาร์แล้ว เมื่อเข้าสู่เช้า เย็น หรือค่ำของวันอาทิตย์ บางคนถึงกับรู้สึกแย่ขึ้นมาทันที เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า พรุ่งนี้คือวันจันทร์ วันที่เราต้องกลับไปทำงานอีกครั้ง ไม่มีอิสระทำสิ่งต่างๆ ได้ตามใจตลอดทั้งวัน ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้เวลาเดินไปช้าๆ หรือหยุดไว้ที่วันหยุดนานๆ ซึ่งอาการแบบนี้เรียกว่า ‘Sunday Scaries’

Sunday Scaries หรืออาการกลัววันอาทิตย์ คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกอาการหดหู่ใจ เครียด วิตกกังวลในวันอาทิตย์ โดยมีสาเหตุมาจากการคืบคลานเข้ามาของวันจันทร์หรือวันทำงานแรกประจำสัปดาห์

อีกทั้งโพลสำรวจบน LinkedIn ยังเผยว่าเป็นอาการที่มีอยู่จริง เห็นได้จาก 78 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจที่บอกว่า ตนเคยมีความเครียดในวันอาทิตย์ หรือ Sunday Scaries กลัวการมาถึงของวันจันทร์

นอกจากความฉลาดทางอารมณ์ที่เป็นทักษะการทำงานที่ไม่ควรมองข้าม จริงๆ แล้ว ยังมีเรื่องการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะมันช่วยให้เรารู้ทันความรู้สึกนึกคิด ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกแย่ๆ มาบั่นทอนนานๆ และการเข้าใจสัจธรรมชีวิตว่า ท้ายที่สุดแล้ว ‘ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเป็นแค่สิ่งชั่วคราว’ เท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันไหน ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

Sources: https://cnb.cx/3FqtnWP

https://bit.ly/3Fsd9fX

https://bit.ly/3Fq3CWC

https://bit.ly/3lf8KWC

https://bit.ly/3yGSl0w

https://bit.ly/3LvOaw9

https://bit.ly/3yIyH4e

https://bbc.in/3FpgLPL

https://on.today.com/3JE1A7L

​​https://bit.ly/3VtZJ8l

https://bit.ly/3GpZA1v

https://bit.ly/3hS39Ef

https://on.wsj.com/3TkBZ6U

https://bit.ly/3LvOaw9

https://cnb.cx/3FqtnWP

https://bit.ly/3LqeWpq

https://bit.ly/3YQqm8Y

https://fxn.ws/3yICrCO

https://bit.ly/3Jrrx9w