สมรภูมิเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) มีความเข้มข้นมากขึ้นอีกขั้น เมื่อ Baidu (ไป่ตู้) ผู้ให้บริการระบบค้นหาออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีน เตรียมเปิดตัวระบบค้นหาแบบใหม่คล้ายแชตบอตอัจฉริยะ ChatGPT ของ OpenAI บริษัทพัฒนา AI สัญชาติอเมริกันที่กำลังมาแรง
สำนักข่าว Bloomberg อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ ระบุว่า Baidu ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง ของจีน กำลังพัฒนา AI ที่สามารถตอบคำถามเป็นบทสนทนาคล้ายกับ ChatGPT โดยมีแผนเริ่มนำมาใช้ควบคู่กับระบบค้นหาเดิมของตัวเองในเดือนมีนาคมนี้ (2023)
Baidu คือ บริษัทผู้ให้บริการระบบค้นหาบนอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของจีน เจ้าของฉายา ‘Google เมืองจีน’ แต่ระยะหลังเมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่และโซเชียลมีเดียเต็มตัว บริษัทแห่งนี้ประสบปัญหาการเติบโตล่าช้ากว่าคู่แข่งอย่าง Alibaba, Tencent หรือแม้แต่ ByteDance เจ้าของโซเชียลมีเดียมาแรงอย่าง TikTok
ด้วยเหตุนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Baidu จึงทุ่มงบหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ หันมาพัฒนาเทคโนโลยี AI มากขึ้น และกำลังเปลี่ยนธุรกิจจากบริษัทเทคฯ มาเป็นบริษัท AI เต็มตัว เริ่มจากการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ก่อนมาถึงแชตบอตอัจฉริยะที่คล้ายคลึงกับ ChatGPT
รายงานระบุว่า Baidu ยังไม่ได้ตั้งชื่อให้กับแชตบอตตัวใหม่ของตัวเอง แต่เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นมาจากระบบ Ernie (เออร์นี) ซึ่งเป็นโมเดล machine-learning ขนาดใหญ่ที่บริษัทพยายามนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลใน search engine ของตัวเองตั้งแต่ปี 2019
โมเดล Ernie พัฒนาต่อยอดมาจากความสำเร็จของ Google ในการยกระดับโปรแกรมค้นหาให้สามารถแสดงผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับคำค้นของผู้ใช้งานมากที่สุด จากนั้นจึงแตกแขนงไปเป็นโมเดลอื่นๆ อีกหลายสิบโมเดล รวมถึง AI ที่สามารถวาดภาพและสร้างงานศิลปะ คล้ายกับ Dall-E ของ OpenAI
Baidu กำลังใช้ Ernie เป็นฐานในการพัฒนาแชตบอตใหม่ของตัวเอง และฝึกให้มันสามารถทำงานได้ทั้งจากฐานข้อมูลที่เป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ไม่ว่าที่มาของข้อมูลนั้นจะมาจากภายใน หรือภายนอกกำแพงปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร หรือ firewall อันเข้มงวดของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม แชตบอตอัจฉริยะของ Baidu ที่จะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ จะจำกัดการแสดงผลการค้นหาให้เป็นไปตามกฎหมายของรัฐบาลจีน
หากมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการตามไทม์ไลน์ที่ว่าไว้ Baidu จะกลายเป็นบริษัทเทคฯ เจ้าแรกที่ให้บริการแชตบอตอัจฉริยะรูปแบบใหม่กับชาวจีน เนื่องจาก ChatGPT ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศจีน เพราะติดปัญหาระบบเซนเซอร์อันเข้มงวดของรัฐบาลปักกิ่ง
การร่วมวงพัฒนาระบบค้นหาด้วยแชตบอตอัจฉริยะของ Baidu ครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้การแข่งขันในภาคเทคโนโลยี AI มีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจาก Microsoft เพิ่งออกมาทุ่มงบนับ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับ OpenAI เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ท่ามกลางความตื่นตัวของ Google ซึ่งเกรงว่า ChatGPT จะเข้ามาโค่นล้มระบบค้นหาที่ตนเองเป็นเจ้าตลาดมานานหลายสิบปี
โรบิน ลี (Robin Li) ซีอีโอของ Baidu เคยกล่าวสุนทรพจน์กับพนักงานของตนเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ว่า เทคโนโลยีแชตบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่าง ChatGPT คือโอกาสใหม่ที่บริษัทต้องการเข้าไปแข่งขันให้สำเร็จ
ChatGPT คือระบบค้นหาที่แสดงผลลัพธ์เป็นบทสนทนา คล้ายการถาม-ตอบกับผู้เชี่ยวชาญทั่วไป โปรแกรมนี้เปิดตัวให้คนทั่วโลกเริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 และกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีผู้ใช้งานครบล้านคนรวดเร็วที่สุด ภายในเวลาไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ChatGPT เป็นระบบ AI ที่ประมวลผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปบนโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และมีข้อมูลที่เข้าข่าย ‘สร้างความเกลียดชัง’ หรือ ‘เหยียดเพศ’ จน OpenAI ต้องเซนเซอร์ข้อมูลบางส่วน และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาจุดนี้
ขณะที่การเข้ามาร่วมวงเพื่อแข่งขันพัฒนา AI ของ Baidu นอกจากจะทำให้วงการ AI มีความคึกคักมากขึ้น ยังอาจเป็นชนวนให้เกิดความตึงเครียดรอบใหม่ ระหว่างวงการเทคฯ ของจีน กับอเมริกา หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศแบนการส่งออกเทคโนโลยีให้กับบริษัท Huawei (หัวเว่ย) ของจีน โดยอ้างเหตุผลหลักด้านความมั่นคง
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Sources: http://bit.ly/3JuQ9Qk