ลองแล้วติดใจ! บริษัทส่วนใหญ่ขอทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หลังทดลองแล้วทั้ง ‘บริษัท – พนักงาน’ มีชีวิตที่ดีขึ้น

Share

ยุคของการ ‘ทำงานหนัก’ (work hard) กำลังจะหมดไป และหันมาใช้แนวคิด ‘ทำงานอย่างชาญฉลาด’ (work smart) กันมากขึ้น

เทรนด์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ กำลังมาแรง และมีการทดลองใช้กันอย่างจริงจังทั่วโลก โดยโมเดลนี้ตั้งอยู่บนหลักคิดที่ว่า ลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้เวลาทำงาน 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังได้ผลลัพธ์ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเท่าเดิม

กลุ่มนักวิจัยที่ศึกษาโมเดลการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ซึ่งนับเป็นการทดลองขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอังกฤษ โดยมีบริษัทเข้าร่วม 61 บริษัท จากหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธนาคารไปจนถึงร้านฟาสต์ฟู้ด และเอเยนซี่โฆษณา

การทดลองนี้มีพนักงานเข้าร่วมมากถึง 2,900 คน และใช้เวลาทดลองยาวนาน 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2022 โดยมีนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาชื่อดังหลายแห่ง รวมถึงจากบอสตัน คอลเลจ, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ร่วมในคณะนักวิจัย

หลังการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่า บริษัทมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตอบแบบสอบถามยืนยันจะยังคงทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ต่อไป ในจำนวนนี้ 18 บริษัท มีแผนประกาศให้เป็นนโยบายใหม่แบบถาวร

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังการทดลอง บริษัทส่วนใหญ่พบว่า การลดเวลาทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ส่งผลดีต่อทั้งพนักงานและบริษัท โดยบริษัทมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และจำนวนพนักงานลาออกก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

พนักงาน 4 ใน 10 คนที่เข้าร่วมการทดลอง บอกว่า พวกเขารู้สึกเครียดน้อยลง และเกือบ 3 ใน 4 ยอมรับว่า การลดวันทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ช่วยให้ภาวะ ‘หมดไฟ’ ในตัวมีระดับต่ำลง

นอกจากนี้ พนักงานหลายคนยังบอกว่า พวกเขาสามารถรักษาสมดุลระหว่างการทำงาน กับการใช้เวลากับครอบครัว หรือทำงานเพื่อสังคมได้ดีขึ้น

“เริ่มแรกนายจ้างอาจมองเรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาพนักงาน ‘หมดไฟ’ ในช่วงโควิด แต่ตอนนี้กลายเป็นประเด็นการรับสมัครงาน และการรักษาคนให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ แทนแล้ว” จูเลียต ชอร์ (Juliet Schor) นักเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งบอสตัน คอลเลจ กล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัทในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ก็ทดลองใช้การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เช่นกัน แต่เกิดขึ้นในสเกลที่เล็กกว่าสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังมีการทดลองคล้ายกันในประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล ด้วย

ส่วนการทดลองในไอซ์แลนด์ ซึ่งมีพนักงานจากอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมมากกว่า 2,500 คน พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ยังคงรักษาความ ‘โพรดักทีฟ’ หรืออาจโพรดักทีฟมากขึ้น และมีรายงานระดับความเครียดในการทำงานลดลงเช่นกัน

สำหรับอุปสรรคของการใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ได้แก่ พนักงานบางคนบอกว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการงานทุกอย่างให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทส่วนใหญ่ที่ร่วมทดลองยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ยังไม่สะดวกในการทดลองใช้วิธีนี้

ส่วนผู้กังขาบางคนตั้งคำถามว่า ความโพรดักทีฟ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น หากประกาศให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์แบบถาวร ความโพรดักทีฟนี้อาจหายไป

อย่างไรก็ตาม แคลร์ แดเนียลส์ (Claire Daniels) ซีอีโอของ Trio Media บริษัทเอเยนซีการตลาดดิจิทัล ซึ่งมีพนักงาน 13 คน ระบุว่า เธอเลือกเข้าร่วมการทดลองนี้เพื่อพิสูจน์ว่า การลดเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อความโพรดักทีฟของธุรกิจได้จริงหรือไม่

ก่อนเริ่มทดลอง เธอและพนักงานช่วยกันตรวจสอบและวิเคราะห์สัปดาห์การทำงานของตัวเอง และได้ข้อสรุปว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่เสียไป หมดไปกับการประชุมที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเดินทางไปติดต่อธุรกิจ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ไร้ประสิทธิภาพ

“เรารู้ตัวทันทีว่า เราไม่จำเป็นต้องอัดงานที่เพิ่มมาลงไปใน 4 วันทำงานต่อสัปดาห์ที่ว่านี้” แคลร์ กล่าว

บริษัทของเธอใช้วิธีแบ่งพนักงานเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทำงานวันจันทร์ – พฤหัสบดี ส่วนอีกกลุ่มทำงานอังคาร – ศุกร์ โดยแต่ละคนจับคู่กันดูแลงานในวันที่คู่ของตัวเองได้วันหยุดเพิ่มในแต่ละสัปดาห์

นอกจากนี้ แคลร์และพนักงานยังยกเลิกการประชุมทีมรายวันแบบมาราธอน ส่วนการประชุมกับลูกค้า หรือนำเสนองาน จะใช้วิธีการให้พนักงานเข้ามาร่วมเฉพาะในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง ไม่ต้องนั่งประชุมตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความจำเป็นว่า ช่วงไหนใครควรอยู่เข้าร่วมประชุม

แคลร์บอกว่า ส่วนที่ยากที่สุด คือ การทำให้พนักงานมั่นใจว่า พวกเขาจะไม่กลับไปใช้นิสัย หรือทัศนคติแบบเก่าในการทำงาน ผลการทดลองโดยรวมพบว่า ความโพรดักทีฟยังอยู่ในระดับเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 47 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ บริษัทของแคลร์ จึงเป็นหนึ่งในองค์กรที่บอกว่า จะทดลองใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ต่อไปอีก 6 เดือน ก่อนตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนเป็นนโยบายใหม่แบบถาวรหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ เธอบอกว่า “ฉันไม่คิดว่าพวกเราจะกลับไปใช้โมเดลทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ รูปแบบเก่าอีกต่อไป”

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/3INaX4N