“Wrong ผิด Wrong ถูก” อนุญาตให้ตัวเองกล้าที่จะท้าทายด้วยความไม่รู้

Share

คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล

หลายวันก่อนมีน้องที่รู้จักคนหนึ่งมาแชร์ประสบการณ์เรื่องการทำงานในประเด็นเกี่ยวกับการทำงานเอาหน้าของเจ้านาย พอฟังแล้วก็เห็นใจ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มันสร้างทั้งความรู้สึกผิดและผิดหวังต่อตัวน้องเองเหมือนกัน มันเหมือนถูกหักหลังเหมือนกันนะอารมณ์แบบตอนแรกคุยกันอีกแบบ พอเกิดเรื่องก็พลิกไปอีกแบบจนน้องเหมือนเป็นฝ่ายผิด ทีนี้สิ่งที่กำลังจะบอกคือ เราจะสามารถอยู่กับความผิดที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในแวดวงการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา

บังเอิญไปเจอบทความที่ชื่อว่า Why it’s good for to be wrong เขียนโดย Stephanie Vozza ซึ่งเธอเขียนคอลัมน์แนว Work Life อยู่แล้ว แล้วบทความนี้มันอยู่ในหมวด Career Evolution ก็น่าสนใจดีเลยอ่านเอาก็พบว่าเออมีมุมให้เราเรียนรู้เรื่อง Being Wrong ได้เหมือนกัน และมันก็นำพาเราไปรู้จักกับ Hal Gregersen ผู้อำนวยการแห่ง MIT Leadership Center และผู้เขียนหนังสือ Questions are the Answer: A Breakthrough Approach to Your Most Vexing Problems at Work and in Life ซึ่ง Vozza ได้อ้างอิงงานของตา Gregersen ซะเป็นส่วนมากเลยครับ

ส่วนใหญ่แล้ว เราล้วนพยายามเชื่อมโยงคำตอบที่สำคัญมากกว่าคำถาม เราพยายามที่จะหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด โดยรวมแล้วพวกเราต่างรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องเอยถึงปัญหา ความท้าทาย และการดิ้นรนในสิ่งที่เราไม่รู้ ยิ่งถ้าคุณเป็นหัวหน้าคน มันต้องยิ่งต่อสู้และพยายามให้หนักขึ้น ส่วนผู้นำนั้นยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากต้องหาคำตอบทั้งหมดแล้ว ยังต้องหัดซ่อนความอ่อนแอไว้อีกด้วย

Gregersen บอกว่า “ในแต่ละวันพวกคุณต้องอยู่ในพื้นที่ร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งมีส่วนในการบังคับให้คุณต้องรู้ทุกสิ่งอย่าง หรือไม่ก็ทำให้คุณรู้สึกว่าความรู้ที่คุณมีนั้นผิด ทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ในโหมดตั้งคำถามได้ เราควรหัดตั้งคำถามเสียบ้าง ถึงแม้ว่าคนอื่นจะไม่อยากถามก็ตาม ถึงแม้ว่ามันจะเสี่ยงว่าคำถามที่เราตั้งนั้นมันจะดูเป็นเรื่องที่ผิดและน่าตลกต่อคนหมู่มาก” ซึ่งประเด็นนี้เราเชื่อว่าเด็กไทยหรือผู้ใหญ่อื่นๆ ก็คิดเหมือนเรา

ทว่า Gregersen มองว่า ความผิดมันมีเสน่ห์นะ ดีกว่าที่คุณตื่นมาทุกวันแล้วรู้หมด เพราะความผิดนั่นแหละที่จะช่วยให้คุณมีทัศนะที่เติบโตมากขึ้น

ถ้าถามว่ามีผู้นำคนไหนบ้างที่ชอบโอบกอดความผิดได้อยู่นั้น Jeff Wilke ซีอีโอแห่งอเมซอน คือคำตอบ Jeff ชอบความท้าทายต่อสภาพจิตใจตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ

  • แบบแรกคือกาท้าทายที่ช่วยหล่อหลอมประสบการณ์ขึ้นมาใหม่
  • แบบที่สอง คือ การหัดตั้งคำถามขึ้นมาท้าทายตัวเอง

ในหนังสือของ Gregersen บอกไว้ว่า ถ้าคุณไม่เคยตั้งคำถามเลย คุณจะไม่ได้รับประสบการณ์ใหม่ใดๆ เลย และก็ยังไม่ได้อะไรใหม่ๆ มาด้วย คือเราไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ใดๆ ในโลกหรอกถ้าอยากได้อะไรใหม่ๆ เพียงแค่หาในสิ่งที่เราไม่รู้เราก็เจออะไรใหม่ๆ ได้แล้ว

ซึ่งการได้เจออะไรใหม่ๆ ตามที่ Gregersen บอกก็คือการอนุญาตให้ตัวเองกล้าที่จะออกไปลองผิดดู ไปลองด้วยการไม่รู้ หรือไปตั้งคำถาม แม้บางทีเราจะเขินอายบ้าง แต่นั้นแหละที่จะเป็นสารกระตุ้นทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่าเดิมนะ  

Gregersen ยังอ้างอิงคนดังๆ ที่ยินดีต้อนรับความผิดที่เกิดขึ้นในชีวิตอีกมากมาย อาทิ Hasso Plattner Co-Founder จาก SAP ทุกครั้งที่เขาตื่นมา เขาชอบสงสัยว่ายังมีอะไรที่ยังไม่ผิดพลาดอีก หรือแม้คนอย่าง Sara Blakely ซีอีโอจาก SpanX ที่เล่าถึงการเติบโตมากับพ่อของเธอ

เธอเล่าว่า พ่อชอบถามว่าสัปดาห์นี้มีอะไรที่ลูกล้มเหลวบ้างไหม Sara บอกว่า ถ้าสัปดาห์นั้นไม่มีเรื่องให้ล้มเหลวเลย หรือเรียกว่าปกติสุข นั่นหมายความว่าเธอยังไม่มีความพยายามมากพอต่อสิ่งที่ทำ (ชีวิตจะโหดอะไรปานน้าน) เธอบอกว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นคือการนำสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิตเธอ ยกเว้นการชักชวนไปทำผิดนะ อย่าเข้าใจผิด

การฝึกที่จะอยู่กับความผิด (อันนี้เข้าขั้นเป็นวิชาเรียน)

“หนทางการสวมกอดกับความผิดคือการหัดทำมันบ่อยๆ” ตา Gregersen กล่าว

นี่ถือว่าเป็นทักษะใหม่เสมือนเป็นการประดิษฐ์ภาษาการสื่อสารใหม่ขึ้นมา

การเผชิญหน้ากับไอเดียหรือมุมมองที่เห็นต่าง หรือการไปเยือนสถานที่ไม่คุ้นเคย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่คำตอบ

Gregersen คงกลัวว่าคนจะไม่เห็นภาพเลยยกตัวอย่าง การพัฒนาบทภาพยนตร์ว่า ทุกครั้งมันต้องมีการเสนอไอเดียและโดนยิงคำถามจากคนอื่นๆ แน่นอนแหละว่าเราอาจต้องเจอฟีดแบคที่ย่ำแย่ ถึงแม้มันจะทำให้ใจเราห่อเหี่ยวไปบ้าง แต่นี่แหละคือประโยชน์ของความผิด ความย้อนแย้ง และความเห็นต่าง ที่ทำให้เราได้มุมมองมาพัฒนาให้บทภาพยนตร์มันดีขึ้น

การอยู่กับความผิดคือส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ แน่นอนว่ามันอาจจะสร้างความน่าวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้แก่เราบ้าง แต่นี่คือหนทางที่จะเจอคำตอบที่ไม่มีใครคนไหนสามารถค้นพบได้

เพราะคำตอบที่เราได้มักแลกมาด้วยการเผชิญหน้า ความท้าทาย และการแก้ไขจากปัญหาและการแข่งขันต่อตัวเอง แน่นอนแหละว่าเราต้องแลกกับการลองผิดลองถูกกว่าจะได้มา แต่การก้าวถอยหลังและสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อไม่ให้เผชิญต่อปัญหาคือการสร้างความผิดอันมหันต์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะใครจะไปรู้ว่าคำตอบบางอย่างในชีวิตก็สามารถพลิกชีวิตเราได้ไปตลอดกาล   

ที่มา: https://www.fastcompany.com/90292670/why-its-good-for-you-to-be-wrong?fbclid=IwAR0G7-_5G1YuhLW2BYNi1nenAo6PS4SMfrJW6dX6CeAzPMIlf8JvAns2zeQ