รู้จักที่มา ‘อัลกอริทึม’ คำโบราณนับพันปีที่ขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ และทำคนสร้างคอนเทนต์ปวดหัว

Share

หากจะพูดว่า โลกยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วย ‘อัลกอริทึม’ (algorithm) คงไม่ผิดเกินไปนัก เพราะแทบทุกอย่างบนโลกออนไลน์ ล้วนทำงานด้วยอัลกอริทึม ตั้งแต่ระบบนำทาง ระบบค้นหา ตลอดจนโปรแกรมที่แนะนำให้เราเลือกซื้อ เลือกชม หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต

ล่าสุด อัลกอริทึมตัวดี ยังทำให้คนสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ปวดหัว เมื่อ Facebook ปรับอัลกอริทึม ทำให้เนื้อหาบางประเภทที่แม้จะพิถีพิถันสร้างสรรค์กันมาดิบดี กลับถูกเจ้าของแพลตฟอร์ม กดยอดเข้าถึงคนดู ทำให้คนเห็นเนื้อหาน้อยลงจนท้อใจ

นั่นคือความสำคัญของ ‘อัลกอริทึม’ ในโลกยุคใหม่ คำที่ใครหลายคนคุ้นหู แม้อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความหมายคืออะไร และต้นกำเนิดของคำนี้ มีประวัติความเป็นมายาวนานแค่ไหน

กำเนิดในเอเชีย แต่รู้จักแพร่หลายในยุโรป

หากจะย้อนถึงที่มาของคำว่า ‘อัลกอริทึม’ สามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงประมาณปี ค.ศ. 780 เมื่อบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในดินแดน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ประเทศอุซเบกิสถาน

บุคคลผู้นี้มีชื่อว่า ‘มุฮัมหมัด อิบน์ มุซา อัล-ควาริซมี’ (Muhammad ibn Musa al-Khwarizmi) เขาเป็นชาวเปอร์เซีย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นอัจฉริยะผู้คิดค้นแนวความรู้ใหม่มากมาย ทั้งในสาขาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิชาเขียนแผนที่

ชื่อ ‘อัล-ควาริซมี’ สันนิษฐานว่า มาจากชื่อดินแดนบ้านเกิด ซึ่งเป็นจักรวรรดิโบราณของชาวเปอร์เซีย นามว่า ‘จักรวรรดิควาริซึม’ (Khwarizm) ตามตำนาน จักรวรรดินี้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาวมองโกล ภายใต้การนำทัพของ ‘เจงกิสข่าน’ ใน ค.ศ. 1220

อย่างไรก็ตาม ก่อนถูกเจงกิสข่านเข้ายึดครอง ดินแดนแห่งนี้มีความเจริญก้าวหน้า และอัล-ควาริซมี ก็คือหนึ่งในผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น

เขามีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการของ ‘สำนักแห่งปัญญา’ (House of Wisdom) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักวิชาการ ตั้งอยู่ในกรุงแบกแดด ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9

ผลงานของอัล-ควาริซมี ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมมีมากมาย แต่งานเขียนที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน คือ หนังสือที่ชื่อว่า Concerning the Hindu Art of Reckoning 

โดยหลังจากอัล-ควาริซมี เสียชีวิตประมาณ 300 ปี มีผู้ค้นพบหนังสือเล่มนี้ และนำไปแปลเป็นภาษาละติน ทำให้โลกตะวันตกได้รู้จักกับตัวเลขฮินดู-อารบิก และต่อมานำมาใช้กันอย่างแพร่หลายแทนตัวเลขโรมัน

ระบบตัวเลขแบบฮินดู-อารบิก ซึ่งมาพร้อมจุดทศนิยม ที่บรรยายในหนังสือของอัล-ควาริซมี ต่อมากลายเป็นรากฐานที่พัฒนาไปสู่ตัวเลขอารบิก ที่คนทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน

จากอารบิก สู่ละติน และยุคดิจิทัล

หลายคนอาจสงสัย แล้ว ‘อัล-ควาริซมี’ เกี่ยวอะไรกับคำว่า ‘อัลกอริทึม’ นักประวัติศาสตร์ระบุว่า ระหว่างที่มีการแปลหนังสือของเขามาเป็นภาษาละติน ชื่อหนังสือได้ถูกเขียนขึ้นใหม่ในสไตล์ภาษาละติน และเรียกชื่อเขาว่า ‘อัลกอริตมี’ (algoritmi)

คำนี้เอง คือ ที่มาของคำว่า อัลกอริทึม โดยนอกจากคำว่า อัลกอรึทึมแล้ว นักคณิตศาสตร์ชาวเปอร์เซียคนเดียวกัน ยังเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘อัลจิบรา’ (algebra หรือ พีชคณิต) ซึ่งมาจากเนื้อหาในหนังสืออีกเล่มของเขาด้วย

หนังสือของอัล-ควาริซมี มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติความเข้าใจด้านคณิตศาสตร์ในโลกตะวันตก แสดงให้เห็นว่า โจทย์ที่ยากและซับซ้อน สามารถแยกย่อยออกเป็นส่วนเล็กๆ ซึ่งทำให้หาคำตอบได้ง่ายขึ้น

ในยุคกลางของละติน คำว่า ‘algorismus’ (อัลกอริสมัส) ยังมีความหมายง่ายๆ เป็นแค่ระบบการใช้จุดทศนิยม จนกระทั่งศตวรรษที่ 13 คำว่า อัลกอริทึม จึงกลายมาเป็นภาษาอังกฤษ และถูกใช้แพร่หลายในงานเขียนของกวีเอกหลายคน

อย่างไรก็ตาม อัลกอริทึม ในความหมายปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง “ชุดคำสั่งแบบเป็นขั้นเป็นตอนสำหรับใช้แก้ไขปัญหา” เพิ่งเกิดขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19

และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ พยายามคิดค้นทฤษฎีที่ทำให้เครื่องจักรสามารถทำตามคำสั่งแบบเป็นขั้นเป็นตอนแบบอัลกอริทึม เพื่อแก้โจทย์เลขยากๆ

นั่นคือจุดเริ่มต้นยุคสมัยของคอมพิวเตอร์ โดยระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อลัน ทัวริง สร้างเครื่องจักรที่ชื่อว่า ‘Bombe’ (บอมบ์) ขึ้นมา เขาใช้อัลกอริทึม เพื่อถอดรหัสลับจากเครื่อง ‘อีนิกมา’ (Enigma) ของกองทัพนาซี

จากนั้น คำว่า ‘อัลกอริทึม’ ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเทคโนโลยี ในฐานะชุดคำสั่งเพื่อขับเคลื่อนโลกยุคคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล และ AI และอาจรวมถึงยุคต่อๆ ไปในอนาคต

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/3jng3KU