‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต
การกำหนดนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Society and Governance หรือ ESG) ของธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ายังอยู่ในยุค ‘ไร้ขื่อแป’ ส่งผลให้หลายบริษัทมักออกมาป่าวประกาศว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่การกระทำตรงกันข้าม จนถูกขนานนามว่า ‘ฟอกเขียว’ (greenwashing)
ปี 2023 การแอบอ้างว่า ‘รักษ์โลก’ จะทำได้ยากขึ้น เมื่อทั่วโลกพยายามออกกฎระเบียบควบคุมและตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น
เริ่มที่สหภาพยุโรป (EU) เริ่มบังคับให้ทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน EU ต้องปฏิบัติตาม ‘ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนของบริษัท’ (Corporate Sustainability Reporting Directive หรือ CSRD)
กฎระเบียบนี้บังคับให้บริษัทต้องเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การต่อต้านการให้สินบนและคอรัปชั่น ตลอดจนประเด็นความหลากหลายในบอร์ดผู้บริหาร และวิธีปฏิบัติกับพนักงาน โดยรายงานชิ้นแรกจะเผยแพร่ในปี 2024
เป้าหมายของการออกข้อบังคับนี้ คือ การยกระดับการทำงานของตลาดมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ที่ชื่อว่า ESG ซึ่งประสบปัญหามายาวนานเรื่องความไม่สม่ำเสมอในการนำเสนอข้อมูล ตลอดจนมาตรฐานการจัดทำรายงาน และวิธีการให้คะแนนความยั่งยืน
3 ข้อดี มาตรฐาน ESG ยุโรป
สเตฟานี แฮร์ (Stephanie Hare) ผู้เขียนหนังสือ Technology is Not Neutral ระบุว่า กฎระเบียบใหม่ของ EU จะพยายามเข้ามาควบคุมความไร้กฎเกณฑ์เรื่อง ESG ใน 3 แนวทาง คือ
หนึ่ง บริษัทต้องเข้าหลักเกณฑ์เรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นมาตรฐานของ EU ด้วยการเปิดเผยรายงานที่มีคุณภาพมากขึ้น และทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
สอง ข้อมูลในรายงานของบริษัทต้องได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบ ซึ่งในทางทฤษฎี นั่นเท่ากับว่า จะมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
สาม บริษัทต้องทำมากกว่าแค่การรายงานว่า ปัจจัยเรื่อง ESG มีผลอย่างไรต่อบริษัท แต่ต้องระบุด้วยว่า ธุรกิจของบริษัทมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และระบบธรรมาภิบาล
มุมมองทั้งสองด้านที่มาคู่กันจะช่วยให้นักลงทุน ตลอดจนผู้คุมกฎ และลูกค้า สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า จะให้รางวัลหรือลงโทษบริษัทนั้นๆ จากผลงานด้าน ESG
เดินหน้าปราบธุรกิจ ‘ฟอกเขียว’
การขาดความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบ หรืออธิบายรายละเอียดได้ในตลาด ESG ถือเป็นความเสี่ยงต่อทั้งนักลงทุน และธุรกิจ
ยกตัวอย่าง ปี 2022 คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) สั่งปรับหน่วยงานด้านการลงทุนของธนาคารบีวายเอ็น เมลลอน (BYN Mellon) เป็นเงิน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ฐานแจ้งข้อมูล ESG ไม่ตรงความเป็นจริง และสอบสวนวาณิชธนกิจชื่อดังอย่าง โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ฐานโฆษณา ESG ไม่ตรงความเป็นจริงเช่นกัน
องค์กรผู้คุมกฎในเยอรมนี ก็เปิดการสอบสวน DWS Group ซึ่งเป็นกลุ่มทุนในเครือของ ‘ดอยช์ แบงก์’ (Deutsche Bank AG) ในกรณีคล้ายกัน
ปี 2023 การตรวจสอบเช่นนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตลาด ESG
แกรี เกนสเลอร์ (Gary Gensler) หัวหน้า SEC เคยโพสต์เตือนบน Twitter ในปี 2022 ว่า หลายบริษัทอาจกำลัง ‘ฟอกเขียว’ และบอกด้วยว่า คำถามเรื่องการลงทุนใน ESG มีความหมายอย่างไร ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในหมู่คนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง
‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีหลายสาขา เคยทวีตด้วยว่า “ESG เป็นเรื่องหลอกลวง มันคืออาวุธของเหล่านักรบเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคมที่จอมปลอม”
มัสก์ ทวีตข้อความนี้หลังจาก S&P 500 ลบชื่อบริษัท ‘เทสลา’ (Tesla) ของเขาออกจากดัชนี ESG แต่จัดให้ ‘เอ็กซอนโมบิล’ (ExxonMobil) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอเมริกา อยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางดัชนี
S&P 500 พยายามชี้แจงเรื่องนี้ว่า ‘เทสลา’ ถูกลบชื่อออก เพราะบริษัทถูกกล่าวหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในโรงงานของตน
คำถามที่ยังตามหาคำตอบ
ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามทั้งในทางกฎหมายและเชิงปรัชญาตามมา
ยกตัวอย่างเช่น มันจะมีประโยชน์กว่าหรือไม่ หากเราให้คะแนนบริษัทแยกระหว่างเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือปัจจัยทั้งสามข้อของ ESG ต้องพิจารณาร่วมกัน?
คำถามนี้มีมานานหลายปีแล้ว แต่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันใหม่หลังเกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน
โดยบริษัทวัดเรตติ้ง ESG มีคำถามว่า พวกเขาควรรักษานโยบายแบนบริษัทผลิตอาวุธต่อไป เพราะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อประหัตประหารทำร้ายเพื่อนมนุษย์ หรือควรเพิ่มคะแนน ESG ให้บริษัทเหล่านี้ เพราะมีบทบาทช่วยปกป้องระบอบประชาธิปไตย?
สิ่งนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า การพิจารณาข้อศีลธรรมไม่ควรเป็นงานของพนักงานบริษัทวัดเรตติ้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และควรให้คนที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่นี้แทน
ข้อเสนอดังกล่าวยังนำไปสู่คำถามที่ว่า เราควรให้คนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นในการชั่งนำ้หนักจริยธรรมทางธุรกิจหรือ เพราะเรื่องนี้แม้แต่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผู้บริหารบริษัท พนักงาน นักลงทุน และลูกค้า ต่างก็ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน?
ปี 2023 การถกเถียงเรื่องนี้จะมีความเข้มข้นขึ้น เพราะบรรดาบริษัทและองค์กรวัดเรตติ้ง ต้องตอบคำถามให้ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์จะนำมาใช้ไม่ใช่แค่ในกรณีสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ยืดเยื้อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกยึดครองไต้หวันในอนาคตด้วย
ปีแห่งความจริงจังตั้งมาตรฐาน ESG
ความพยายามออกกฎระเบียบเรื่อง ESG ในปี 2023 จะยังดำเนินต่อไป หลังจากปีที่ผ่านมา SEC เสนอให้มีกฎระเบียบบังคับบริษัทในตลาดหุ้นต้องทำรายงานความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ การปล่อยมลพิษ และแผนการเปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์
แม้ข้อเสนอนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบออกมาบังคับใช้ แต่บริษัทต่างๆ จะเริ่มรู้สึกกดดันมากขึ้นจากธนาคารกลาง ไม่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือแบงค์ชาติของอังกฤษ และสวีเดน ล้วนประกาศจะยกระดับมาตรฐานการรายงานผลเรื่องสภาพภูมิอากาศให้สูงขึ้น เพื่อสอดคล้องกับแผนลดโลกร้อนที่ประกาศไว้ใน ‘ข้อตกลงปารีสปี 2015’
กองทุนมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards Foundation) องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานการทำบัญชีทั่วโลก เพิ่งจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาใช้ชื่อว่า ‘บอร์ดมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ’ (International Sustainability Standards Board) เพื่อมากำหนดมาตรฐาน ว่าด้วยการรายงานผลงานด้าน ESG ทั่วโลกโดยเฉพาะ
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในปี 2023 ปีแห่งการกำหนดมาตรฐานเพื่อทำให้โลกใบนี้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: The WIRED World in 2023