‘ชีวิตสั้น แต่ข้อมูลออนไลน์นั้นยืนยาว’ แนะวิธีเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัลก่อนจากโลกนี้ไป เพื่อไม่ให้สูญหายและมีทายาทดูแล

Share

“ชีวิตสั้น แต่ข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นยืนยาว” 

แม้ประโยคนี้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้กล่าวไว้ แต่มันคือความจริงของโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบคลาวด์

คนรุ่นใหม่หลายคนใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์พอๆ กับการใช้ชีวิตบนโลกความเป็นจริง บางคนเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล และจากโลกนี้ไปพร้อมกับเทคโนโลยีดังกล่าว หรือจะเรียกว่า มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายบนโลกออนไลน์ไม่ต่างจากชีวิตจริง

ดังนั้น เมื่อเราจากโลกนี้ไป ข้อมูลหลายอย่างที่เราเก็บไว้บนโลกออนไลน์จึงถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมีค่า (อย่างน้อยก็ทางจิตใจ) ไม่ต่างจากมรดกที่จับต้องได้อย่างบ้าน รถยนต์ หรือเงินในธนาคาร ที่เราทิ้งไว้เช่นกัน

สินทรัพย์ดิจิทัลมีค่าเหล่านั้นอาจเป็นรูปถ่าย บันทึกเรื่องราวบนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่เบอร์ติดต่อคนรู้จักทั้งในสายอาชีพ และคนสนิทส่วนตัว สิ่งเหล่านี้อาจมีค่าสำหรับทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่หลายคนยังไม่รู้วิธีบริหารจัดการ เพื่อให้สินทรัพย์เหล่านี้มีคนสานต่อ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจึงแนะนำวิธีเตรียมตัว เพื่อให้แน่ใจว่า เราจะมีคนที่ไว้ใจสามารถเข้ามาจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ได้ และไม่ปล่อยให้มันขาดคนรับช่วงต่อ หรือหายไปพร้อมกับการจากไปของเรา วิธีดังกล่าวมีดังนี้

1. สมัครใช้บริการผู้จัดการพาสเวิร์ด (password manager)

การจดพาสเวิร์ดต่างๆ เก็บไว้อย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะบางทีเราอาจลืมอัปเดตข้อมูลเมื่อมีการเปลี่ยนพาสเวิร์ด ดังนั้น วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คือ สมัครสมาชิกกับผู้ให้บริการดูแลพาสเวิร์ด หรือ password manager และแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ (contact person) เป็นทายาทที่เข้าถึงข้อมูลได้ในยามฉุกเฉิน หรือเมื่อเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว

วิธีแต่งตั้งคนใกล้ชิดเป็นทายาทกับ password manager รายใหญ่ๆ มีดังนี้

Bitwarden: คุณสามารถระบุชื่อ contact person ในหมวดห้องนิรภัยของผู้ให้บริการ และบอกได้ว่าจะอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้แค่ไหน โดยจ่ายค่าบริการแบบพรีเมียม แพลน ปีละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 340 บาท) หรือแฟมิลี แพลน ใช้ได้สูงสุด 6 คน จ่ายปีละ 40 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,370 บาท)

1Password: ลูกค้าสามารถแชร์ข้อมูล login กับสมาชิกครอบครัว และเลือกได้ว่าจะเอาสำเนา ‘ชุดฉุกเฉิน’ ที่รวบรวมข้อมูลบัญชีทั้งหมดไว้ทั้งในรูปดิจิทัลและ hard copy ไปให้คนที่ไว้ใจเก็บไว้ด้วยหรือไม่ บริษัทนี้คิดค่าบริการเดือนละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 170 บาท) สำหรับบัญชีครอบครัวที่มีสมาชิกไม่เกิน 5 คน

LastPass: ผู้ให้บริการรายนี้มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลฉุกเฉิน เพื่อให้ contact person สามารถร้องขอการเข้าถึงรหัสและบันทึกต่างๆ หลังคุณเสียชีวิต โดยฟีเจอร์นี้มีให้บริการเฉพาะลูกค้าที่จ่ายราคาพรีเมียม (ปีละ 36 ดอลลาร์สหรัฐ) และแฟมิลี แพลน (ปีละ 48 ดอลลาร์สหรัฐ) เท่านั้น 

2. ระบุชื่อทายาทผู้สามารถเข้าถึงบัญชีออนไลน์

บัญชีออนไลน์ที่อยู่บนระบบคลาวด์ ก็มีวิธีแจ้งชื่อทายาทผู้สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้เช่นกัน โดยผู้ให้บริการแต่ละระบบมีวิธีแตกต่างกันไป ดังนี้

Apple: ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ Mac สามารถเข้าไปกรอกชื่อทายาทผู้เข้าถึงข้อมูลของเราได้ในโหมด Password & Security โดยกรอกได้มากกว่า 1 ชื่อ

เมื่อเราจากโลกนี้ไป คนเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงรูปภาพ ข้อความ โน้ต ไฟล์ แอป และข้อมูลแบ็กอัปบนอุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ต้องใช้พาสเวิร์ด แต่ข้อมูลอื่นๆ เช่น เพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือที่เราซื้อไว้ รวมถึงข้อมูลใน iCloud Keychain เช่น พาสเวิร์ด พาสคีย์ และข้อมูลการจ่ายเงิน จะไม่สามารถเข้าถึงได้

ทายาทที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลเพียงนำใบมรณบัตร และรหัสผ่าน 88 หลัก ที่ได้รับตอนคุณแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลข้อมูลมาแสดงกับ Apple โดยหลังจากกรอกชื่อทายาทในระบบ รหัส 88 หลักจะส่งไปยังทายาทผ่านโปรแกรม Messages และเมื่อตอบรับ รหัสนี้จะถูกนำไปเก็บไว้ใน Apple ID ของทายาทโดยอัตโนมัติ

วิธีค้นหารหัสนี้ ทายาทผู้ได้รับมอบหมายแค่คลิกไปที่ชื่อบัญชีของตัวเอง ก่อนเข้าไปที่ Password & Security และ Legacy Contact เท่านั้น

Google: คุณสามารถตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับบัญชี Google ของตัวเอง รวมถึงข้อมูลต่างๆ ในนั้น เมื่อเจ้าของบัญชีไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาติดต่อกันตามที่ตั้งไว้ในระบบ

วิธีการ เพียงไปที่ myaccount.google.com และคลิกที่ Data & Personalization จากนั้นเลื่อนลงมาที่ “Make a plan for your account” ตรงนี้ คุณจะถูกเชื่อมไปยัง “inactive account manager tool” ของ Google ซึ่งสามารถระบุชื่อทายาทที่จะให้เข้าถึงข้อมูลได้ ตลอดจนเลือกว่า ข้อมูลใดบ้างที่อนุญาตให้เข้าถึง เช่น อีเมล รูปภาพ หรือเอกสารต่างๆ เป็นต้น

3. วางแผนหาทายาทสืบทอดตำนานบนโซเชียลมีเดีย

สำหรับใครหลายคน โซเชียลมีเดียเป็นทั้งอัลบั้มภาพ ไดอารี่ คลังข้อมูลติดต่อบุคคลต่างๆ ทั้งในสายอาชีพและเพื่อนสนิทมิตรสหาย ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อทายาทของเจ้าของบัญชีด้วยเช่นกัน วิธีจัดการบัญชีโซเชียลมีเดียก่อนตาย เพื่อไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ไร้คนดูแล จะแตกต่างกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนี้

Facebook: บริษัท Meta เจ้าของแพลตฟอร์มอนุญาตให้เจ้าของบัญชีสามารถแต่งตั้ง legacy contact หรือคนใกล้ชิดที่จะมารับหน้าที่ดูแลบัญชีต่อจากผู้เสียชีวิตได้ ส่วน Instagram ก็สามารถตั้งโปรไฟล์เป็นผู้เสียชีวิตได้ โดยจะมีคำว่า ‘Remembering’ แสดงขึ้นมาให้ทราบ แต่ยังไม่สามารถตั้ง legacy contact

วิธีตั้ง legacy contact บน Facebook แค่ไปยัง Settings & Privacy และเข้าไปที่โหมด memorialization settings หลังจากคุณเสียชีวิต ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นทายาทจะสามารถเข้ามาดาวน์โหลดข้อมูลทุกอย่างที่คุณแชร์บน Facebook รวมถึงอัปเดตโปรไฟล์ รูปหน้าปก และยื่นคำร้องขอปิดบัญชีของคุณได้ แต่ไม่สามารถ log in เข้าบัญชี และอ่านข้อความใน message รวมถึงเพิ่มหรือลบเพื่อนในบัญชีของคุณ

Twitter และ LinkedIn: สองแพลตฟอร์มนี้ไม่เปิดให้มีการตั้ง legacy contact แต่ทายาทหรือผู้ใกล้ชิดสามารถยื่นขอลบบัญชีของผู้เสียชีวิตได้

4. หารือกับครอบครัวเพื่อบอกเล่าความต้องการก่อนจากไป

วิธีสุดท้ายที่ง่ายและไม่ยุ่งยาก คือ การหาเวลาพูดคุยกับคนรัก หรือสมาชิกครอบครัวเพื่อบอกเล่าถึงความต้องการส่วนตัวเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของเราก่อนตาย

ซูซาน คัลเบิร์ตสัน (Susan Culbertson) ผู้เชี่ยวชาญการใช้งานอุปกรณ์ของ Apple บอกกับ The Wall Street Journal ว่า บางทีแค่บอกพาสเวิร์ดเข้าใช้งานบัญชีดิจิทัลของเราให้คนในครอบครัวทราบอย่างเดียวอาจไม่พอ

“คุณอยากให้บัญชีของคุณได้รับการเก็บรักษาไว้เพื่อระลึกถึง หรือต้องการลบมันทิ้งไป หรืออยากให้ใครมาดาวน์โหลดข้อมูลอะไรบ้างไปเก็บไว้ ?” นั่นคือคำถามที่ซูซานยกขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า รายละเอียดเหล่านี้ เราควรแจ้งให้ทายาททราบไว้ก่อนตาย เพื่อให้ง่ายสำหรับคนที่อยู่ข้างหลัง

เพราะโลกยุคใหม่ การสั่งเสียกับคนในครอบครัว ไม่ใช่แค่เขียนพินัยกรรมทรัพย์สินที่จับต้องได้ทิ้งไว้เท่านั้น สินทรัพย์ดิจิทัลบนโลกออนไลน์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะ “ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น แต่ข้อมูลออนไลน์นั้นยืนยาว”

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: https://bit.ly/41TPe1J