9 เหตุผลที่ UX/UI ยังคงมีความสำคัญในยุคทองของ AI นักออกแบบต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก ดึงประสบการณ์เพื่อทัชใจพวกเขาให้ได้มากที่สุด
สรุป Session ‘Design for AI Products’ โดยคุณศิระ หาญชนะ Head of UX/UI Design, AXONS จากงาน ‘UX DAY: Elevating UX/UI Practices’ ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2024 ณ True Digital Park, Auditorium
เนื้อหาภายใน Session นี้จะเป็นการสำรวจการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ต้องคำนึงถึง UX/UI ภายใต้การมาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในฐานะนักออกแบบเราต้องใช้กระบวนการคิดแบบไหน ถึงจะออกแบบการใช้งานได้ทัชใจ สร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้ใช้งานได้
ปัญหาสุดคลาสสิกของผู้ใช้งานเครื่องมือ AI คือความไม่ถูกต้อง เช่น ถามอย่างตอบอย่าง ส่งผลให้เราต้อง Prompt ใหม่เรื่อยๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่ถูกใจและตรงประเด็น กระบวนการนี้เป็นการสร้างประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น โดยเรามักจะเรียกสิ่งนี้ว่า การสร้างประสบการณ์
ดังนั้น Experience คือคำตอบของการใช้งาน AI ในการออกแบบผลิต ถ้าอยากจะทัชใจผู้ใช้งานเราต้องใช้ประสบการณ์ในรูปแบบของ UX/UI ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคุณศิระ ได้นำพาเราไปรู้จักกับโลกของ AI ในบริบทของการออกแบบ ให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากภูมิทัศน์ของพวกมัน
ประสบการณ์ครั้งแรกที่เราได้สัมผัสกับเครื่องมือ AI อาจจะเริ่มตั้งแต่ปี 1970 ในรูปแบบของเครื่องคิดเลข ก่อนที่จะถูกพัฒนามาเรื่อยๆ กลายมาเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้งานในบ้าน อย่าง หุ่นยนต์ทำความสะอาด จนมาถึงกลุ่ม Generative AI ที่เข้าถึงคนได้ในวงกว้าง เพราะการประยุกต์ใช้ทำงานที่ช่วยให้ชีวิตพวกเราง่ายขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ที่ AI ได้มอบให้และเราก็คาดหวังกับอนาคตของมันมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันเราสามารถพูดได้เต็มปากว่า AI นั้นเข้ามาปฏิวัติการทำงาน มันถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Social Media, Digital Assitants, Smart Home Devices, Chatbots, Education และอื่นๆ อีกมากมาย
หนึ่งในด้านที่ได้รับผลกระทบแบบเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘การออกแบบ’ หากเรามองย้อนกลับไป เดิมทีนักออกแบบจับดินสอ/ปากกา เพื่อนำเสนอภาพในหัวออกมา ก่อนที่จะถูกมอบประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ ปากกาวาดรูป โทรศัพท์มือถือ จนมาถึงการใช้ Generative AI ในการสร้างสรรค์รูปภาพ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงจากใช้มือเพื่อวาด กลายมาเป็นใช้มือเพื่อพิมพ์คำสั่งแทน นี่คือสิ่งที่ AI ทำได้ แต่เราจะสามารถนำมันมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างไรนั้น เป็นความท้าทายของนักออกแบบในยุคทองของ AI เลย
[ 9 เหตุผลที่ UX/UI ยังคงมีความสำคัญในยุคทองของ AI ]
⭐ เพิ่มการยอมรับและการรักษาผู้ใช้งาน
UX/UI ที่ดีช่วยดึงดูดและรักษาผู้ใช้งานให้กลับมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง
⭐ สร้างความเชื่อมั่น
UX/UI ที่ออกแบบดีทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเชื่อถือและมั่นใจในผลิตภัณฑ์
⭐ ช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น
UX/UI ที่เข้าใจง่ายช่วยให้ผู้ใช้งานตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำ
⭐ การปรับแต่งและการใช้งานเฉพาะบุคคล
UX/UI ที่รองรับการปรับแต่งช่วยให้ประสบการณ์ของผู้ใช้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
⭐ ลดความผิดพลาดและเพิ่มความปลอดภัย
การออกแบบ UX/UI ที่ดีช่วยลดข้อผิดพลาดและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานได้
⭐ คำนึงถึงจริยธรรมและความยุติธรรม
UX/UI ที่ถูกออกแบบอย่างมีจริยธรรมช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความยุติธรรมและไม่ก่อให้เกิดอคติ
⭐ การเข้าถึงที่ง่าย
UX/UI ที่ออกแบบมาดีช่วยให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม
⭐ วงจรความคิดเห็นสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
UX/UI ที่ดีช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถให้ Feedback ได้ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
⭐ เชื่อมโยงอารมณ์
UX/UI ที่ดึงดูดช่วยสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้ใช้และผลิตภัณฑ์
9 เหตุผลนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักออกแบบ ถึงแม้ว่ามือของเราจะถูกเปลี่ยนฟังก์ชันเป็นการพิมพ์คำสั่งและสร้างงานผ่าน Generative AI แต่ประสบการณ์ที่สร้าง UX/UI ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ออกแบบได้ทัชใจผู้ใช้งานมากที่สุด
[ ทำความเข้าใจผู้ใช้งานว่าพวกเขาต้องการอะไรจาก ‘AI’ ]
ความคาดหวังของผู้ใช้งานเมื่อพวกเขาต้องใช้งาน AI จะมีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อหลักๆ ที่นักออกแบบจะสามารถนำไปเป็นไอเดียตั้งต้นได้
⭐ Efficiency ประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานต้องการให้ AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน มันต้องเข้ามาเป็นโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาได้ และมันต้องสามารถคืนเวลาให้กับผู้ใช้งานได้
⭐ Personalization มันต้องเข้าใจความเป็นตัวตนของผู้ใช้งาน เช่น การแนะนำสิ่งที่คาดว่าผู้ใช้จะชอบของแพลตฟอร์ม Netflix ซึ่งต้องมีความอิสระในการปรับเปลี่ยนให้กับผู้ใช้งาน
⭐ Control ต้องสามารถควบคุมได้ AI ต้องสร้างความรู้สึกเป็นมิตรที่ไม่คุกคามและแสดงให้เห็นว่าสามารถหยุดได้ทุกเมื่อที่ผู้ใช้งานต้องการ
⭐ Trust ความเชื่อใจ AI ต้องสามารถไว้ใจได้แม้ในเรื่องของความรับผิดชอบและจริยธรรมก็ตาม
⭐ Familiarity ต้องสร้างความคุ้นเคยให้กับประสบการณ์การใช้งานได้ AI ต้องสามารถทำงานไปพร้อมๆ กับประสบการณ์ที่คุ้นชินกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
⭐ Engagement Feeling AI ต้องสามารถโต้ตอบเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้
[ User-Centric Design คือหลักการที่ต้องยึดมั่นหากคุณจะใช้ AI เพื่อการออกแบบ ]
User-Centric Design คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ เราต้องมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เทคโนโลยี ก่อนที่จะคิดว่าเทคโนโลยีทำอะไรได้บ้าง ให้คิดก่อนเสมอว่าลูกค้าต้องการให้เทคโนโลยีทำอะไรกันแน่? โดยมันต้องครอบคลุมความต้องการ พฤติกรรม และความรู้สึกของผู้ใช้งานได้อย่างตรงไปตรงมา
แนวคิดที่สามารถทำให้คุณเข้าถึงหลักการ User-Centric Design ได้มีชื่อว่า PDAC
1️⃣ Plan – วางแผนเก็บความต้องการของผู้ใช้งาน เข้าใจในธุรกิจและ Pain Point
2️⃣ Do – พัฒนาระบบ ออกแบบหน้าตา ทดสอบต้นแบบที่ผู้ใช้งานพอใจมากที่สุด
3️⃣ Check – ใช้งานจริง เก็บข้อมูลประสบการณ์การใช้งานจริง
4️⃣ Adjust – ปรับปรุงให้ผู้ใช้งานพอใจมากที่สุด
[ คว้าโอกาสการใช้ AI ใน 5 ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงผู้ใช้งาน และกรณีศึกษาจาก AXONS ]
1️⃣ แบ่งงานออกเป็นงานย่อย
ทำให้เข้าใจง่ายและสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบ
2️⃣ การทำแผนที่เส้นทางของผู้ใช้งาน
เพื่อตรวจสอบกระบวนการและค้นหาจุดที่ AI สามารถเข้ามามีบทบาทได้
3️⃣ ตรวจสอบว่า AI เหมาะสมกับงานหรือไม่
ประเมินว่า AI สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหานั้นได้ดีแค่ไหน
4️⃣ ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการใช้งาน AI กับงานนั้น
วิเคราะห์ความคุ้มค่าและความพร้อมขององค์กรในการนำ AI มาใช้งาน
5️⃣ นำมนุษย์เข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกับ AI
ผสมผสานการทำงานระหว่างคนและ AI เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
AXONS ได้หยิบยก Case Study มานำเสนอให้เราเห็นภาพการใช้งาน AI ในด้านการออกแบบ UX/UI อย่างไรให้ทัชใจผู้ใช้งานด้วยกันทั้งหมด 3 กรณีศึกษา ได้แก่
🌱 Farm One (Mobile App)
แอปพลิเคชันที่พัฒนาโดย AXONS AgriTech เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับวิธีการทำการเกษตร เช่น การเข้าถึงข้อมูล การติดตามสภาพอากาศ การจัดการทรัพยากร และการควบคุมศัตรูพืช เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนให้กับการเกษตร
🧑⚖️ Legal Assistance (Web Platform)
เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทีมกฎหมาย โดยสามารถสร้างสัญญา การจัดการเอกสาร และการอนุมัติได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบอัตโนมัติ ช่วยลดภาระงาน ป้องกันการสื่อสารผิดพลาด และลดข้อผิดพลาดในสัญญา ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นตรงเวลา
🏥 HI Test (Hemagglutination Inhibition Test)
เป็นการทดสอบตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส โดยใช้ปฏิกิริยา Hemagglutination Inhibition เพื่อตรวจหาแอนติบอดีซึ่งแสดงถึงภูมิคุ้มกันที่มีต่อโรค ทำให้การตรวจสอบโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
จากทั้ง 3 กรณีศึกษาคุณศิระ ได้สรุปข้อสังเกตที่คุณควรคำนึงถึงเมื่อทำการออกแบบ
1.สร้างความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราทำอะไร
2.สื่อสารให้ผู้ใช้งานรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
3.ถามความคาดหวังของลูกค้า และนำมาประยุกต์ใช้
4.มอบอิสระให้ผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนความต้องการของพวกเขาได้ตลอดเวลา
5.สิ่งที่ผู้ใช้งานพบเจอต้องมีที่มาที่ไปที่สอดคล้องกับประสบการณ์ของพวกเขา
6.ข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ส่วนตัวต้องถูกแสดงออกอย่างชัดเจน
7.ประสบการณ์ของลูกค้าต้องถูกนำมาปรับใช้งานให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายที่สุด
ท้ายที่สุดของ Session นี้ คุณศิระได้ฝากข้อคิดดีๆ เอาไว้ว่า “UX/UI เป็นตัวเชื่อมของเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกับการนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้พวกมันเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีทักษะทางเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใดก็ตาม”
ดังนั้น AI ควรจะเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพในการทำงาน พวกมันไม่สามารถมาแทนที่ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นใจ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้การออกแบบของคุณทัชใจผู้ใช้งาน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Session ‘Design for AI Products’ โดยคุณศิระ หาญชนะ Head of UX/UI Design, AXONS ในงาน ‘UX DAY: Elevating UX/UI Practices’ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2024 ณ True Digital Park, Auditorium
FutureTrends #AXONS #AXONSUXDAY #ผู้นำด้านAgriTech #เทคโนโลยีพลิกโฉมคุณภาพชีวิต