‘Sustainable Value Creation รักษ์โลกแบบไหน’ ที่เรียกว่ายั่งยืน สรุปงานเสวนาที่ขับเคลื่อนโลกเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27165226/ศูนย์คุณธรรม-09-scaled.jpg)
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ Moral Space ร่วมกับ Future Trends จัดงานเสวนาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Sustainable Value Creation “รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน”
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ Paragon Cineplex สยามพารากอน โดยมีกิจกรรมสำคัญดังต่อไปนี้
- แถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ในปี 2567 โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
- MORAL HACKATHON 2024 ที่เยาวชนนักศึกษาจำนวน 5 ทีม จะมานำเสนอผลงานที่มีโมเดลธุรกิจดำเนินตามแนวคิดด้านความยั่งยืน
- การบรรยายหัวข้อ ‘เรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยนคือแรงขับเคลื่อนโลก’ โดยคุณณัฐกร เวียงอินทร์ Head of Content & Branding of Future Trends ซึ่งมาแบ่งปัน 5 เทรนด์สำคัญในยุคนี้ ที่เรื่อง AI และ Sustainable กำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
- เวทีเสวนาหัวข้อ มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อให้คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน โดยคุณอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน และคุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้กว่าตั้ง Moreloop
- เวทีเสวนาหัวข้อ ‘การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร’ โดยคุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry และคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery
รายละเอียดแต่ละกิจกรรม ดังต่อไปนี้
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27165445/ศูนย์คุณธรรม_3-1024x1024.jpg)
สถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2567
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เปิดเผยผล สำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีรายละเอียดสำคัญ ต่อไปนี้
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทำการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ด้วย 2 เครื่องมือ คือ ดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ในกลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี อายุ 25-40 ปี และ อายุ 41 ปีขึ้นไป รวม 29,432 คน ใน 6 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีผลการสำรวจดังนี้
[ ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรม ปี 2567 ]
- ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมภาพรวม 3 ช่วงวัย อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.32 จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.73 ลดลง 8.67%
คุณธรรม 5 ด้าน ภาพรวม 3 ช่วงวัย พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4,17, 4.27 และ 4.19 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.64 และ 4.35
เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณธรรมด้านสุจริต อยู่ในระดับน้อยทั้ง 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี ค่าเฉลี่ย 4.21 อายุ 25-40 ปี ค่าเฉลี่ย 4.04 และอายุ 41 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ย 4.31
- ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรม 3 ช่วงวัย
- อายุ 13-24 ปี พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4.19 และ 4.21 ส่วนคุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ กตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.48, 4.80 และ 4.42 ตามลำดับ
- อายุ 25-40 ปี พบว่า คุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 3.93 และ 4.04 ส่วนคุณธรรมด้านพอเพียง กตัญญู จิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.28, 4.60 และ 4.22 ตามลำดับ
- อายุ 41 ปีขึ้นไป พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4.05, 4.33 และ 4.31 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.48 และ 4.38
[ ผลสำรวจทุนชีวิต ปี 2567 ]
1. ทุนชีวิตภาพรวม 3 ช่วงวัย อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.57 เปรียบเทียบปี 2566 ที่อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 83.80 ลดลง 7.43%
2. ทุนชีวิต 3 ช่วงวัย ใน 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน พบว่า
- อายุ 13-24 ปี พลังตัวตนอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 80.15 ขณะที่พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/ พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน อยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 78.81 ร้อยละ 76.93 ร้อยละ 76.79 และร้อยละ 73.55 ตามลำดับ
- อายุ 25-40 ปี พลังตัวตน และพลังครอบครัว อยู่ในระดับดีมาก คือ ร้อยละ 81.13 และร้อยละ 80.70 ขณะที่พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน อยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 78.67 ร้อยละ 78.19 และร้อยละ 76.72 ตามลำดับ
- อายุ 41 ปี ขึ้นไป ทั้ง 5 พลัง อยู่ในระดับดี พลังตัวตน ร้อยละ 78.24 พลังครอบครัว ร้อยละ 77.94 พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร ร้อยละ 76.21 พลังเพื่อนและกิจกรรม
ร้อยละ 75.58 และพลังชุมชน ร้อยละ 74.66
3. ผลสำรวจทุนชีวิตรายข้อ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเรื่องเดียวใน 3 ช่วงวัย ที่มีคะแนนอยู่ในระดับ
ปานกลาง คือ พลังชุมชน อายุ 13-24 ปี เรื่องการมีเพื่อนบ้านที่สนใจและให้กําลังใจ ร้อยละ 69.04
[ ข้อเสนอจากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ]
1. ควรหยิบยกประเด็นคุณธรรมด้านสุจริตและด้านวินัยรับผิดชอบ มาเป็นประเด็นร่วมในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในลักษณะที่เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1) ระบบมาโคร (Macro system) คือ ระบบที่เป็นภาพรวมของสังคม 2) ระบบไมโคร (Micro system) คือ สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดมนุษย์ เช่น ครอบครัว สถานศึกษา องค์กร ชุมชน และ 3) สื่อ (Media) เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง
- ระบบมาโคร (Macro system)
คุณธรรมด้านสุจริต คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องความสุจริต การสร้างและพัฒนาระบบแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle-blower) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการให้ข้อมูลและร้องเรียนเรื่องทุจริต เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการไม่ทนต่อการทุจริต
คุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องวินัยรับผิดชอบ โดยเฉพาะวินัยจราจร
- ระบบไมโคร (Micro system) คือ การส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตและวินัยรับผิดชอบโดยมีจุดเริ่มจากครอบครัว และใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน
- สื่อ คือ การใช้พลังของสื่อในการพัฒนา Soft skill การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ในเรื่องสุจริตและวินัยรับผิดชอบ
2. รณรงค์ให้เข้าใจและรู้เท่าทันกระแสบริโภคนิยม เสริมสร้างความรู้ด้านวินัยทางการ.เงิน และส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน
3. ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของคนวัยทำงานในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเรียนรู้ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2583
4. เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างสรรค์ ที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมจิตอาสาควรบูรณาการงาน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือสร้างภาระให้กับเด็กและเยาวชน
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27165632/ศูนย์คุณธรรม_4-1024x1024.jpg)
‘Moral Hackathon 2024’ รวมพลวัยรุ่นเปลี่ยนโลก เพื่อความยั่งยืนของวันพรุ่งนี้
เซสชั่นที่เยาวชนผู้เข้าร่วมการการแข่งขัน MORAL HACKATHON 2024 จำนวน 5 ทีม มานำเสนอผลงานที่มีโมเดลธุรกิจดำเนินกิจการตามหลัก ESG ดังต่อไปนี้
- ทีม WE BEAR BEARS
โครงการผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว แบรนด์ JARAT ที่มีการส่งเสริมชาวชาติพันธุ์ที่ปลูกข้าวดอยในพื้นที่สูงให้มีรายได้ ผ่านดำเนินการธุรกิจอย่างอย่างยืนตามหลัก ESG
E: การเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการใช้ไร่หมุนเวียน ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่, การปลูกข้าวดอยบนพื้นที่สูงช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการผลิตในพื้นที่เกษตรแบบเข้มข้น และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านไร่หมุนเวียน ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ท้องถิ่นและใช้ทรัพยากรน้ำและดินอย่างมีประสิทธิภาพ
S: ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวชาติพันธุ์ที่ปลูกข้าวดอยในพื้นที่สูง ช่วยรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบนดอย, ช่วยสร้างงานในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงเปิดโอกาสให้ชาวชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต และการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นทางเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยเพิ่มทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคในเมือง
G: ความโปร่งใสและความยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นโดยตรงเพื่อจัดหาวัตถุดิบช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการรับรองว่าการผลิตดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ชุมชนท้องถิ่น นักลงทุน และผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ทีม Medium Rare
ธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางการจ้างงานระหว่างผู้ว่าจ้างและกลุ่มผู้เปราะบาง ให้ทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต โฆษณา แจกทดลองสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างเอนเกจเมนต์ให้กับแบรนด์ของผู้ว่าจ้าง
โครงการนี้จะสามารถช่วยให้กลุ่มผู้เปราะบาง ที่มีจำนวนกว่า 10 ล้านคนในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโอกาสและการสร้างรายได้
- ทีม INFINITREE
ส่งเสริมเกษตรกรให้ทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ผ่านแพลตฟอร์มที่มีการช่วยวางแผนและแนะนำในการทำเกษตรคาร์บอนต่ำ รวมถึงสามารถทำคาร์บอนเครดิตไปในตัว ที่สามารถต่อยอดเป็นรายได้เพิ่มเติม
E: ช่วยส่งเสริมและปลูกฝังการทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ และการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
S: เพิ่มแหล่งรายได้ที่หลากหลายให้แก่เกษตรกร และคนในชุมชนเกิดทักษะที่เพิ่มความยั่งยืนในการทำการเกษตรได้
G: เป็นการเก็บข้อมูลที่ช่วยติดตามผลของการทำเกษตร มีเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมมาตรฐานคาร์บอนเครดิต ให้สู่มาตรฐานสากล
- ทีม Medifcent
HEALL แพลตฟอร์มการจัดการระบบ ESG ครบวงจรสำหรับสถานพยาบาล ที่สามารถเก็บข้อมูล แสดงผลที่เข้าใจง่าย วิเคราะห์ข้อมูล ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเป้าหมายต่างๆ และสามารถสร้างรายงานได้เพียงคลิกเดียว ตอบโจทย์แก้ความยุ่งยากในการเก็บข้อมูลและจัดทำรายงาน
- ทีม NOVA PLUS
intaSoil เพื่อแก้ปัญหาดินตะกอนจากการขุดลอกคูคลอง โดยนำตะกอนมาตรวจสอบและคัดแยก เพื่อนำไปทิ้งหรือบำบัดก่อนทิ้ง สามารถลดมลพิษที่มาจากกระบวนการขุดลอกที่ไม่ผ่านการบำบัด โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย
การแข่งขัน MORAL HACKATHON 2024 จัดขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษา ที่มีความสนใจงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ได้พัฒนาแนวคิดที่สร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาโมเดลต้นแบบ หรือนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโลกในอนาคต
พร้อมทั้งรณรงค์ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี หรือพฤติกรรมเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งเน้นการออกแบบพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม ที่สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (ESG) โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม
ภายใต้โจทย์ เยาวชนกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน (ESG YOUNG IMPACT MAKER) ซึ่งจัดแข่งขันรอบตัดสินไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27165745/ศูนย์คุณธรรม_5-1024x1024.jpg)
‘5 เทรนด์ขับเคลื่อนโลก’ ทางรอดในยุคที่เอไอและความยั่งยืนพุ่งทะยานจนเแทบก้าวตามไม่ทัน
คุณณัฐกร เวียงอินทร์ Head of Content & Branding of Future Trends ซึ่งมาแบ่งปัน 5 เทรนด์สำคัญในยุคนี้ ที่เรื่อง AI และ Sustainable กำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในหัวข้อ ‘เรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยนคือแรงขับเคลื่อนโลก’ มีสาระสำคัญ ต่อไปนี้
[ 1. Technology & AI: เมื่อ AI กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ]
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน แต่การใช้ AI อย่างรับผิดชอบ (Responsible AI) กลับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า AI ก็มีด้านมืดเช่นกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีนักการเงินในฮ่องกงที่ถูกหลอกให้โอนเงินถึง 900 ล้านบาทด้วยเทคโนโลยี Deepfake หรือกรณีที่ปรึกษาการเงินในไทยที่ถูกทำเสียงปลอมเพื่อชักชวนคนไปลงทุน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของภัยที่มาพร้อมกับ AI
ขณะเดียวกัน AI ก็กำลังพัฒนาไปสู่การเป็น AI Agent ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนในการทำงานและใช้ชีวิตได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการการประชุม ให้คำแนะนำต่างๆ หรือแม้แต่การช่วยขับรถ ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะมี สมองที่สอง ที่คอยช่วยเหลือเราในชีวิตประจำวัน
ต่อมาคือ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายองค์กรและรัฐบาลต่างมุ่งเน้นการฝึกอบรมด้าน AI มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่ประกาศแผนฝึกทักษะ AI ให้กับคน 2.5 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025 หรือ Amazon Web Services (AWS) ที่ประกาศลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้าน AI ในประเทศไทย เป็นต้น
[ 2. Sustainable Trends: เมื่อความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น ]
ความยั่งยืนกำลังกลายเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตาม (Legislationization) ไม่ว่าจะเป็นภาษีความหวาน, PDPA, Carbon Tax, หรือแม้แต่ พ.ร.บ. ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินการทางกฎหมายและเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (ESG Disclosure Management) กำลังกลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น โดยบริษัทต่างๆ ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าให้กับสังคม
ต่อมาคือ แนวคิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านความยั่งยืนที่สำคัญ จากคำว่า Sustainability สู่ Resilience ที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรงและคาดเดาไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นแค่การรักษาสมดุลเพียงอย่างเดียว
[ 3. Aging Society: เมื่อสังคมผู้สูงอายุมาถึง เราพร้อมรับมือแล้วหรือยัง? ]
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2040 จะมีผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน นี่เป็นโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Care Economy
ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุคาดว่า จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2033 นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เทคโนโลยีที่ช่วยในการดูแลและอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่การออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
[ 4. Consumer Trends: เมื่อแบรนด์ต้องเป็นมากกว่าผู้ขายสินค้า ]
ผู้บริโภคในยุคนี้ ต้องการมากกว่าแค่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ พวกเขาต้องการแบรนด์ที่ใส่ใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาจริงๆ (Brandcare)
ตัวอย่างเช่น Morrisons ที่ร่วมมือกับ NHS ติดข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งบนป้ายฉลากชุดชั้นใน หรือ Dulux Indonesia ที่มีโครงการ Yellow Canteen ซึ่งเป็นโรงอาหารสีเหลืองที่ช่วยกันยุง เป็นต้น
นอกจากนี้ แบรนด์ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นใหม่ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แสดงถึงความจริงใจ (Brand Butlers) เช่น Cleartrip ที่มีนโยบาย ‘ยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล’ ซึ่งทำให้การจองโรงแรมเพิ่มขึ้น หรือ Praxis ที่เป็นแอปพลิเคชันวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อการประหยัดพลังงานในบ้าน เป็นต้น
[ 5. Happiness: เมื่อความสุขกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ]
ในยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันมากขึ้น การแสวงหาความสุขและความหมายในชีวิต กลายเป็นเรื่องสำคัญ แนวคิดเกี่ยวกับความสุขจากทั่วโลกกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- Ikigai ของญี่ปุ่น ที่เน้นการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่
- Focus หลักการทำสมาธิเพื่อจดจ่อในสิ่งที่ทำ
- Taoism ของจีน ที่เน้นการดำเนินชีวิตด้วยการสมดุลเพื่อความสงบเรียบง่าย
- Hygge ของเดนมาร์ก ที่เน้นการสร้างความอบอุ่นและความสุขใจผ่านบรรยากาศที่เรียบง่าย
- Lagom ของสวีเดน ที่เน้นความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
- Sisu ของฟินแลนด์ ที่เน้นการอดทน มุ่งมั่น ความแข็งแกร่งภายใจจิตใจ เผชิญกับความยากลำบาก
- Stoicism ของกรีกโบราณ ที่เน้นการควบคุมตนเองและการยอมรับความจริง ท่ามกลางความทุกข์หรือความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
[ เตรียมพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ]
ทั้ง 5 เทรนด์ขับเคลื่อนโลกที่เราได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็น Technology & AI, Sustainable Trends, Aging Society, Consumer Trends และ Happiness เราจะเห็นได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจดูน่าหวาดหวั่นและท้าทาย แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่า นี่เป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27165929/ศูนย์คุณธรรม_6-1024x1024.jpg)
คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน
คุณอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน และคุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้กว่าตั้ง Moreloop มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อให้คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- เทรนด์ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม ในประเทศไทยยังมีไม่มาก โดยในปี 2563 มี 146 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 ราย ซึ่งการเติบโตของวิสาหกิจใหม่ๆ ชะลอตัวลง แต่อาจจะเติบโตได้มากขึ้นตามเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังขยายตัว
- การทำเรื่องความยั่งยืนวางอยู่บน 3 ขา คือ ผู้ปฏิบัติ (เช่น เอกชน) หน่วยงานรัฐ และผู้สนับสนุน (เช่น สังคม ลูกค้า) ซึ่งขาดขาใดไปไม่ได้
- การขับเคลื่อนนั้นจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิด CnSR (Consumer Social Responsibility)
- ด้าน E กับ S ในอดีตจะเป็นภาคสมัครใจ แต่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจจะต้องมีด้าน G มาควบคุมทั้ง E และ S ซึ่งด้าน G จะต้องกำกับโครงสร้างและมีการเปิดเผยให้สังคม ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ได้รับรู้ถึงการดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใส
- Stakeholder Capitalism ประกอบด้วย Human Rights, Climate Crisis, Sustainable Consumption และที่เพิ่มใหม่ในยุคนี้คือ New Leadership และ Citizen Power
- เทรนด์ ESG จะเกิดเป็นกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ (Legislation) มากขึ้น เช่น การมาของ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะกระทบ 14 อุตสาหกรรม หรือกฎหมายภาษีคาร์บอนที่จะรับกับระเบียบ CBAM ของสหภาพยุโรป ซึ่งถ้ารัฐไม่ออกเป็นภาคบังคับจะตามโลกไม่ทัน
- เมื่อก่อนการที่องค์กรทำเรื่อง Climate ได้ เป็นความสามารถพิเศษ แต่ปัจจุบัน เป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ จากนั้นองค์กรต้องหาทางประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้ได้ เช่น สินค้าและบริการยั่งยืน นวัตกรรม หรือการลงทุนสีเขียว เป็นต้น
- เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกเราเป็นแบบเส้นตรง ที่ใช้อย่างไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งพบว่า 91.4% ของสิ่งที่เราผลิตกลายเป็นขยะไปในที่สุด ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้านความยั่งยืน จึงเข้ามามีบทบาทในการที่จะแก้ปัญหานี้
- กลยุทธ์ในการทำ Circular Economy คือ Product as a Service (ให้เช่าบริการแทนการขายขาด) Product Life Extension (ออกแบบให้สินค้ามีอายุที่ยืนยาว) Closed loop / Take back (วงจรปิด / การรับคืน) Modularity (การออกแบบแบบโมดูลาร์) Embedding intelligence (การฝังความอัจฉริยะ) และSmart material choices (การเลือกใช้วัสดุอัจฉริยะ)
- สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน คือ การกำกับดูแลที่ดี (CG: Coporate Governance) ซึ่งไม่ใช่แค่การทำตามกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น จะต้องประยุกต์เพื่อสร้างคุณค่าให้มากกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อการเติบโตและยั่งยืนได้ โดยบอร์ดจะต้องมีความรู้และเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ก่อน องค์กรจึงจะขับเคลื่อนต่อไปได้
![](https://assets.futuretrend.co/futuretrend/wp-content/uploads/2024/09/27170035/ศูนย์คุณธรรม_7-1024x1024.jpg)
การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร
คุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry และคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery มาพูดคุยในหัวข้อ ‘การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร’ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- ผู้บริโภคมีส่วนสำสัญที่จะช่วยด้านความยั่งยืนได้ ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการกิน ใช้ และเดินทาง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การอุดหนุนท้องถิ่น เป็นต้น
- อย่างไรก็ตาม ยังมีภาครัฐและผู้ประกอบการ ที่มีส่วนสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ลำพังผู้บริโภคลดการใช้ถุงพลาสติกอาจต้องการกลุ่มคนจำนวนมากจึงจะเห็นผล แต่ถ้าภาคผู้ประกอบการทำจะเห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเห็นได้ชัดที่สุดจะเป็นการผลักดันจากภาครัฐ
- พฤติกรรมของผู้คนยังเป็นสิ่งสำคัญ เปลี่ยนวิถีชีวิตและเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกทำของเรา จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเลือกที่จะพกแก้วส่วนตัวแทนการใช้แก้วใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งสามารถลดขยะได้ทันที อีกทั้ง บริษัทผู้ผลิตแก้วอาจมองเห็นเทรนด์ดังกล่าวนี้ ทำให้ผลิตแก้วสำหรับพกพามากขึ้น เป็นต้น
- แต่ละคนต้นทุนไม่เท่ากัน เลือกเฉพาะที่สามารถทำได้ บางตัวเลือกอาจเข้าถึงได้อยากสำหรับบางคน แต่ถ้ามีกำลังและโอกาส ขอให้พยายามทำ
- ความรับผิดชอบต่อโลก ไม่ได้แค่เสียเงิน แต่สามารถช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้น เช่น การพกแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มในคาเฟ่ ซึ่งหลายร้านมีส่วนลดให้ 5 – 10 บาทต่อแก้ว ช่วยลดขยะและประหยัดเงินได้มากขึ้น
- ปัจจัยที่ยากต่อการทำให้เราเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อโลก คือ เรื่องของราคา ทำให้การเข้าถึงค่อนข้างยากสำหรับบางคน ถ้าภาครัฐสนับสนุนเอกชนให้สามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้มากขึ้น ราคาลดลงมาเท่าๆ กันกับสินค้าทั่วไป ผู้บริโภคอาจจะเลือกได้ง่ายขึ้น
- ระวังการตีตราใครว่า เป็นคนไม่รักษ์โลก ไม่งั้นคนจะตั้งกำแพง และจะสื่อสารได้อยาก วิธีการที่ทำได้ดีกว่าคือ การให้รางวัลคนที่ทำ โดยไม่ว่าคนที่ไม่ทำ
- ในการสื่อสารด้านความ Gen Z สื่อสารด้วยง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การสื่อสารจะต้องให้ตรงความสนใจหรือความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มวัย จึงจะมีประสิทธิภาพ
- การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน คือ การกินอาหารให้หมดจาน ไม่ให้เหลือเป็นขยะ
- การมุ่งสู่ความยั่งยืน ย่อมมีอุปสรรคแตกต่างกันไปแต่ละคน ทุกๆ ภาคส่วนจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมกันและกัน จะทำให้ความยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริง การเปลี่ยนโลกจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้
FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsESG #ศูนย์คุณธรรม #SustainableValueCreation #MoralSpaces