รู้จักความสุขผ่านคน 4 รูปแบบ จากวิชาที่มีคนเรียนมากสุดใน ‘Harvard’
ตอนนี้คุณมีความสุขดีไหม?
หลายครั้งที่เราสงสัยในคุณค่าของชีวิต ความสุขเป็นคุณค่าของชีวิตหรือไม่ แล้วอะไรทำให้ฉันมีความสุข งานที่ทำ หนังที่ดู อาหารที่กิน มันใช่ความสุขที่ยั่งยืนจริงหรือ
ลองมีดูแนวคิดเรื่องคนกับความสุข 4 รูปแบบ ของ ทาล เบน ชาฮาร์ (Tal Ben-Shahar) ผู้สอนเกี่ยวกับจิตวิทยาความเป็นผู้นำและจิตวิทยาเชิงบวก รวมถึง ‘วิชาความสุข’ ที่มีสอนแค่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเป็นวิชาที่มีผู้ลงเรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ
ชาฮาร์ ได้แบ่งแฮมเบอร์เกอร์ออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทสะท้อนรูปแบบของทัศนคติและพฤติกรรมที่แตกต่างกันในเรื่องของความสุข สอดคล้องกับรูปแบบของคนที่เกี่ยวข้องกับความสุข 4 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. รูปแบบหนูวิ่งแข่ง
รูปแบบหนูวิ่งแข่ง (rat race archetype) เป็นคนประเภทอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมทนทุกข์กับปัจจุบันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่างที่วาดไว้ในอนาคต
เปรียบเป็นแฮมเบอร์เกอร์มังสวิรัติไร้รสชาติ เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมีสารอาหารที่จะได้ประโยชน์ในอนาคต แต่จะไม่รู้สึกอร่อยในปัจจุบันที่กำลังกิน
ตัวอย่าง : ในการเรียน มองว่าเกรดเป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งใช้วัดความสำเร็จ ดังนั้น หลายคนจึงพยายามเรียนอย่างหนักเพื่อให้ได้คะแนนที่ดี และได้รับการยอมรับจากครอบครัวและครู การเรียนในห้อง เรียนพิเศษต่อหลังเลิกเรียน กลับบ้านก็ต้องทบทวนอ่านหนังสืออย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ อาจสร้างความทุกข์ทรมานและความเหนื่อยล้าอย่างมาก แต่เพื่อความสำเร็จ (เกรดที่ดี) ต้องยอมอดทน
เมื่อเกรดออกเป็นไปอย่างตั้งใจหวัง ความปลอดโปร่งโล่งใจจะเข้ามาแทนที่ แต่ไม่นานก็ต้องกลับมาทำวังวนเดิมอีกครั้ง เราอาจคิดว่า ถ้าเรียนจบมัธยม สอบเข้าสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่คาดหวังได้ จะได้มีความสุขเสียที
เมื่อสอบได้อย่างใจหวัง ความโล่งใจก็อยู่ไม่นาน ด้วยความจริงที่ว่าจะต้องเรียนให้ได้เกรดที่ดีไม่ต่างจากมัธยม เราอาจคิดว่า เรียนจบจะได้มีความสุขเสียที
เมื่อเรียนจบเข้าทำงาน ก็ต้องพยายามทำงานและฝึกฝนตนเองให้ประสบความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ ต้องทำงานอย่างหนัก อดทนต่อความไม่พอใจต่างๆ เพื่อความก้าวหน้า เมื่อได้เลื่อนขั้นก็ปลอดโปร่งโล่งใจกับความสำเร็จนั้น และพบว่าความกดดันก็เพิ่มขึ้นตามตำแหน่งและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น
ความโล่งใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว พวกหนูวิ่งแข่งสับสนว่านั่นคือความสุข จึงยังคงวิ่งตามเป้าหมายของตนเองต่อไป โดยคิดว่าแค่ได้บรรลุเป้าหมายก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มีความสุข
2. รูปแบบคนเจ้าสำราญ
รูปแบบคนเจ้าสำราญ (hedonism archetype) มีคติการใช้ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการเสาะหาความพอใจและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด มีความสุขกับปัจจุบันโดยไม่แยแสผลเสียที่อาจจะตามมาในอนาคต
เปรียบเหมือนแฮมเบอร์เกอร์อาหารขยะที่มีรสชาติอร่อย แต่แลกมาด้วยความเสียหายด้านสุขภาพในอนาคต
ตัวอย่าง : คนเจ้าสำราญนั้นหาความพอใจและเลี่ยงความเจ็บปวด ใช้เวลาไปกับการสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่คิดถึงผลลัพธ์ของอนาคต การทำบางอย่างให้รู้สึกดีนั้นเป็นประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะทำต่อไปจนกว่าจะต้องการสิ่งใหม่หรือเบื่อสิ่งที่ทำไปแล้ว
คนเหล่านี้เข้าใจผิดว่า ความพยายามหมายถึงความเจ็บปวดและความพึงพอใจหมายถึงความสุข นึกถึงคนจากตัวอย่างที่แล้ว วันหนึ่งเขาอาจพบว่า ความพยายามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดของเขานั้นทำให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก เป้าหมายหรือความสำเร็จยากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะไปถึงความทุกข์ทรมานก็มากมายเกินรับไหว
เขาเริ่มหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมความสุขที่หายไป ด้วยความพึงพอใจชั่วครู่ในปัจจุบันดัง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มสังสรรอย่างหนักหลังเลิกงานและบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เขารู้สึกได้ปลดปล่อย รู้สึกดีกับความเมามายที่มอบให้ รู้ตัวอีกทีร่างกายก็อ่อนแอลงและการงานก็คุณภาพลดลงอีกด้วย
3. รูปแบบคนหมดอาลัยตายอยาก
รูปแบบคนหมดอาลัยตายอยาก (nihilism archetype) บ่งบอกถึงคนที่สิ้นหวังในชีวิต เป็นคนที่ไม่มีความสุขในปัจจุบันและไม่มีความหวังกับอนาคต
เปรียบเสมือนแฮมเบอร์เกอร์ที่เป็นอาหารขยะแถมรสชาติไม่อร่อย ขณะกินก็ไม่มีความสุขและส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคตอีกด้วย เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในทุกรูปแบบ
ตัวอย่าง : คนหมดอาลัยตายอยากเป็นผู้ที่หมดหวังกับความสุข ยอมจำนนว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย ยอมพ่ายแพ้ให้กับภาวะไร้ความสุข ถูกจองจำไว้ในอดีตและไม่อาจมีความสุขในปัจจุบัน รวมถึงคาดหวังถึงอนาคต
งานวิจัยของ มาร์ติน เซลิกแมน ได้ทำการทดลองโดยแบ่งสุนัขเป็น 3 กลุ่ม กล่มแรกถูกไฟดูด แต่พวกมันจะปิดกระแสไฟฟ้าได้ด้วยการกดแผงควบคุม กลุ่มที่สองจะถูกไฟดูดไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถทำอะไรได้ กลุ่มที่สามไม่ถูกไฟดูด
จากนั้น สุนัขทั้ง 3 กลุ่ม ถูกนำไปใส่ไว้ในกรงที่มีกระแสไฟฟ้า แต่ครั้งนี้พวกมันสามารถจะรอดจากไฟดูดได้ด้วยการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางเตี้ยๆ ได้อย่างง่ายดาย ผลปรากฏว่า สุนัขกลุ่มแรกและสาม สามารถกระโดดหนีไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่สุนัขกลุ่มที่สองได้แต่นอนครางอยู่ในกรง ยอมให้ไฟดูดต่อไป สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ที่จะหมดอาลัยตายอยากในชีวิต (learned helplessness) ไปโดยปริยาย
ลองนึกถึงคนในตัวอย่างก่อนหน้า เมื่อเขาพบว่า ความพยายามอย่างหนักก็เจ็บปวด การตอบสนองความปรารถนาชั่วครั้งคราวก็ไม่ใช่ความสุข ปัจจุบันก็ไม่มีความสุข อนาคตก็คาดหวังไม่ได้ว่าจะมีความสุข เพราะที่ผ่านมาได้เรียนรู้ว่า ความสำเร็จหรือเป้าหมายที่ไปถึงในแน่ละครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงได้เลย เขาจึงคิดว่า ชีวิตนี้คงไม่มีความสุขอีกแล้ว ชีวิตช่างไร้ความหมาย
4. รูปแบบความสุข
บางครั้งประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตอาจขัดแย้งกัน บางสถานการณ์จำเป็นต้องละทิ้งสิ่งหนึ่งเพื่อแลกสิ่งหนึ่ง แต่เช่นเดียวกัน บางครั้งเราสามารถมีความสุขกับประโยชน์ทั้งสองไปพร้อมกันได้ เช่น ต้องเรียนอย่างหนัก แต่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบด้วย เป็นต้น เป็นรูปแบบของความสุข (happiness archetype) ที่มีประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต
เปรียบเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ในอุดมคติที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่ดีกว่าแบบอื่นๆ ทั้งหมด
ตัวอย่าง : แทนที่จะคิดว่า ควรมีความสุขตอนนี้หรืออนาคต ควรคิดว่า จะมีความสุขตอนนี้และอนาคตด้วยได้อย่างไร นึกถึงคนในตัวอย่างที่ผ่านมา จากที่เคยพยายามทำงานอย่างหนักไปสู่จุดหมาย กระทั่งคว้าเอาเฉพาะความปรารถนาในปัจจุบัน จนไม่เหลือสิ่งที่ตอบสนองความสุขได้ทั้งวันนี้และความหวังที่จะมีความสุขในวันข้างหน้า
เมื่อได้พิจารณาดีๆ กลับพบว่า มีอีกหลายสิ่งที่เขาสามารถมีความสุขได้ตั้งแต่วันนี้และยังเป็นประโยชน์ต่อวันข้างหน้าด้วย อาจเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อน ทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริมสิ่งที่ลูกสนใจจะเรียนรู้ กระทั่งการได้กลับมาทำในสิ่งที่เคยชอบในวัยเด็ก ที่ไม่ได้ทำนานแล้ว เป็นต้น
รูปแบบความสุขนี้ สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ไม่ยากนัก เพียงเลือกสิ่งที่เราปรารถนาและประเมินถึงประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต เช่น คุณอาจรู้ว่าแพทย์สามารถทำรายได้ได้สูงในประเทศนี้ แต่ลึกๆ คุณรู้ว่าไม่ได้ชอบที่จะทำงานแบบนั้น จงมองหาตัวเลือกอื่น ยังมีอีกหลายอาชีพที่จะตอบสนองความต้องการของเราได้ แม้จะสร้างรายได้ที่น้อยกว่า
ในความเป็นจริง เป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่คุณไม่ได้ทำมันด้วยใจรักจริงๆ ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่า หากทำในสิ่งที่รักและมีความสุข
สรุป
ภาพลวงตาของหนูวิ่งแข่งคือ เมื่อไปถึงจุดหมายแล้วจะมีความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งมองไม่เห็นความสำคัญของการเดินทางเลย ส่วนภาพลวงตาของคนเจ้าสำราญคือ การเดินทางเท่านั้นที่สำคัญ ขณะที่คนหมดอาลัยตายอยากได้ละทิ้งทั้งจุดหมายและการเดินทาง
หนูวิ่งแข่งเป็นทาสของอนาคต คนเจ้าสำราญเป็นทาสของปัจจุบัน คนหมดอาลัยตายอยากเป็นทาสของอดีต
การจะมีความสุขที่ยั่งยืนได้ ต้องมีความสุขกับการเดินทางไปสู่จุดหมายที่เราเห็นว่ามีคุณค่า ความสุขไม่ใช่การปีนขึ้นไปให้ถึงที่สุดของภูเขา และไม่ใช่การปีนไปรอบๆ อย่างไรจุดหมายเช่นกัน แต่เป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปีนขึ้นไปสู่จุดสูงสุดต่างหาก
หมายเหตุสำคัญ
กระนั้น การที่คาดหวังว่าจะมีความสุขตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่จะผลักดันเราไปสู่ความล้มเหลวและผิดหวัง จนกลายเป็นทุกข์เสียมากกว่า ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะได้ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตไปเสียทุกอย่าง
บางครั้งการยอมสละประโยชน์ในปัจจุยันเพื่ออนาคตเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล บางวิชาเรียนหรือบางงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถเลือกเฉพาะสิ่งที่ชอบอย่างเดียว การอดทนทำงาน อ่านหนังสือ ประหยัดเก็บออม กระทั่งฝึกทักษะที่จำเป็น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องพบในชีวิต แม้ว่าจะไม่ชอบที่จะทำก็ตาม
สิ่งสำคัญที่ควรจำคือ แม้จะเสียสละประโยชน์ในปัจจุบันบางอย่างเพื่อประโยชน์ในอนาคตที่ใหญ่กว่า แต่วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้เวลาให้มากที่สุดเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ส่งท้าย
ไม่ลืมว่า คนทั้ง 4 รูปแบบ ไม่ใช่ตัวตนที่แยกออกเป็น 4 คน แต่ละรูปแบบผสมรวมอยู่ในตัวเราด้วยอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป บางครั้งเราต้องอดทนในสิ่งที่ไม่พึงใจเพื่ออนาคต ก็ต้องทำ บางครั้งการมีความสุขเล็กๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรก็เป็นสีสันต่อชีวิตที่มีความหมายเช่นกัน แต่ต้องระวังเรื่องผลเสียระยะยาวด้วย
บางครั้งเราอาจรู้สึกสิ้นไร้หนทาง หมดความรู้สึกดีทั้งวันนี้และไม่คาดหวังกับวันข้างหน้า ขอให้ทบทวบชีวิตของตนให้ดีและหาเส้นทางของความสุขให้เจอโดยเร็ว ลุกขั้นมามีความสุขอีกครั้ง
เช่นเดียวกัน มีหลายอย่างที่ให้ทั้งความสุขทั้งวันนี้และประโยชน์ในวันข้างหน้า อาจมองข้ามมันไป ลองนึกดีๆ อีกครั้ง อาจจดไว้ในสมุดส่วนตัว เพื่อเตือนใจว่า นี่คือสิ่งที่เป็นความสุขของฉัน
เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ ‘วิชาความสุข ที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด’ (Happier) เขียนโดย Tal Ben-Shahar แปลโดย พรเลิศ อิฐฐ์ สำนักพิมพ์ We Learn