‘ไม่ใช่แค่ ทำดีมาก’ กลยุทธ์การชมในที่ทำงาน พูดอย่างไรให้มีคุณค่าและไม่น่าเบื่อ!
การชมในที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้า ควรทำเพื่อสร้างกำลังใจและเป็นการส่งเสริมคุณค่าเพื่อการพัฒนาการทำงานของคนในองค์กรหรือในทีม แต่คำชมเดิม “ทำดีมาก” “สุดยอด” หรือ “เยี่ยมมากเลย” อาจไม่ได้ส่งผลอะไรแล้ว คุณต้องหาวิธีการเพื่อทำให้คำชมนั้นมีคุณค่าและส่งผลในแง่บวกได้ จะทำอย่างไร?
ซึซุกิ โยะชิยุกิ (Suzuki Yoshiyuki) ประธานกรรมการบริหารบริษัท COACH A ผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมโค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แนะนำ 3 วิธี เพื่อให้การชมของคุณสามารถส่งเสริมคุณค่า และสามารถส่งเสริมการพัฒนาตนเองของผู้คนได้ ดังต่อไปนี้
ชมด้วยมุมมองของ ‘ฉัน’
การโค้ชจะเรียกการชมหรือการยอมรับว่า ‘Acknowledgement’ แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความตั้งใจว่าจะถ่ายทอดมุมมองใด คือ
- การยอมรับอีกฝ่ายด้วยมุมมองแบบ ‘คุณ’ เช่น “คุณทำได้ดีมาก” “คุณตั้งใจได้ดี” หรือ “คุณยอดเยี่ยมมาก” เป็นต้น การยอมรับดังกล่าวนี้ ผู้ที่ได้รับคงรู้สึกดี แต่ในทางกลับกันอาจทำให้เข้าใจว่า คำชมนั้นคือการประเมินคุณค่าที่ดีหรือรู้สึกว่ากำลังถูกประเมินอยู่ บางครั้งเมื่อได้รับคำชม อาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจ คิดในใจว่า “ไม่ใช่แบบนั้นหรอก”
- การยอมรับอีกฝ่ายด้วยมุมมองแบบ ‘ฉัน’ ด้วยการบอกว่าการกระทำของเขาส่งผลต่อเราอย่างไร เช่น “เห็นคุณขยันแบบนี้ ผมรู้สึกกระตือรือร้นขึ้นมาด้วยเลย” “คุณปิดการขายได้ ผมต้องทำให้ได้แบบคุณบ้างแล้ว” หรือ “งานที่ทำสวยมาก ฉันต้องทำให้ปราณีตมากกว่าเดิมแล้ว” เป็นต้น
การยอมรับแบบนี้ จะซึมซับเข้าไปภายในจิตใจของพวกเขา เนื่องจากสิ่งที่พูดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเขาเรา และทำให้เห็นว่า สิ่งดีๆ ที่เขาทำได้ส่งผลดีต่อคนอื่นด้วย
“กล่าวชมด้วยมุมมองของคุณ”
สังเกตและยอมรับอย่างสม่ำเสมอ
การดุหรือตำหนิ เดิมเป็นการทำเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับว่าตัวเองทำผิดโดยไม่ให้แก้ตัว แต่ให้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดและก้าวต่อไป แต่โดยส่วนใหญ่คือปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ของผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือหัวหน้ามากกว่า เพราะไม่พอใจที่อีกฝ่ายไม่ได้ทำงานตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งทำให้ถูกลูกทีมมองในแง่ลบได้
ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้เมื่อลูกทีมทำพลาดคือ การหันเหความสนใจไปยังการกระทำอื่นแทนที่จะใช้การตอบสนองทางอารมณ์ ซึ่งการกระทำนั้นคือ ‘การยอมรับอย่างสม่ำเสมอ’
คุณต้องสังเกตการกระทำของลูกทีม เมื่อเจอสิ่งดีๆ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ให้กล่าวยอมรับสิ่งนั้นกับเขา ไม่จำเป็นต้องชมมากเกิน “สุดยอดมาก” แต่ให้แสดงว่าคุณสังเกต สนใจ และยอมรับในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่
เช่น “ไอเดียที่เสนอมาน่าสนใจนะ” “เมื่อวานไปงานข้างนอกดึกเลยนะ” “วันนี้ติดต่อลูกค้าเยอะเลย” หรือ “ส่งงานทันเวลาทุกครั้งเลยนะ” เป็นต้น เป็นการแสดงออกเป็นคำพูดว่า คุณได้รับรู้และยอมรับสิ่งที่เขากำลังทำอย่างสม่ำเสมอ เป็นการแสดงความใส่ใจว่าเขาอยู่ในสายตา
“กล่าวยอมรับด้านบวกสม่ำเสมอ”
คำชมที่ต่างออกไปจากเดิม
หน้าที่ของโค้ชคือการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำของอีกฝ่าย คือการถ่ายทอดความคิดหรือความรู้สึกของเราเมื่อได้เห็นหรือได้ฟังอีกฝ่าย เช่น หากการพูดของเขาไม่น่าสนใจ ก็บอกได้ว่า “ไม่ค่อยน่าสนใจนะ”
การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น “น่าเบื่อไปหน่อย” หรือ “ยังไม่รู้สึกตื่นเต้น” จะสั่นคลอนความรู้สึกอีกฝ่ายให้คิดว่า “สิ่งที่เขานำเสนอนั้นธรรมดา” แม้คุณจะกล่าวชม เช่น “อันนี้ดี” หรือ “น่าสนใจ” ก็อาจไม่ได้มีผลต่ออีกฝ่ายเท่าไร อาจเป็นเพราะเขาได้ยินคำเหล่านี้จากคนรอบข้างมามากมาย จนไม่ได้รู้สึกแปลกใหม่
ให้ลองใช้กรอบมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม เพื่อให้เขาพัฒนาได้ขึ้นไปอีก เช่น หากเขาเป็นยอดนักขายอยู่แล้ว จนไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำชมว่าเก่ง ทั่วๆ ไป คุณอาจให้ข้อมูลว่า เขาจะเก่งหรือเติบโตมากกว่าเดิมได้อย่างไร ให้เขาเห็นว่ายังสามารถพัฒนาได้อีก
“กล่าวสิ่งที่ต่างออกไปจากเดิม ให้เห็นว่ายังพัฒนาได้อีก (แม้จะเก่งแล้ว)”
สรุป
ในการกล่าวชมคนในองค์กรหรือในทีมนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านความรู้สึกที่จะส่งผลไปยังการกระทำในเชิงบวกต่อไป สิ่งที่ควรทำคือ กล่าวชมด้วยมุมมองของฉัน เห็นคุณทำ… แล้วทำให้ฉันอยากที่จะ… (ในเชิงบวก) เพื่อให้เขาเห็นว่าคุณคิดกับเขาอย่างไรและสิ่งที่เขาทำได้ส่งผลต่อคนอื่นในเชิงบวกอย่างไร
ไม่ลืมที่จะสังเกตพวกเขาและ กล่าวยอมรับสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม จะทำให้เห็นว่าคุณรับรู้ สนใจ และให้คุณค่ากับสิ่งที่เขาทำ อย่างไรก็ตาม คำชมแบบเดิมๆ หรือคำชมที่มักได้รับบ่อยๆ ก็อาจไม่ได้มีผลอะไรแล้ว คุณต้องมองและใช้คำที่ต่างออกไป โดยเน้นไปที่ความต้องการให้เขาได้เติบโตก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเห็นว่าคุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้า สนใจ รับรู้ และให้คุณค่าต่อสิ่งที่คนในองค์กรหรือในทีมทำ ไม่ได้แค่เห็นแล้วผ่านไป แต่ได้ยินดีและยอมรับสิ่งนั้นด้วย ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า กระทำที่ดีเหล่านั้นได้ส่งผลดีต่อผู้อื่นด้วย เป็นคุณค่าที่นอกจากเนื้องานและตนเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อใครอีกหลายคน ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปอย่างภาคภูมิและมีความหมาย
เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ ‘Super Coaching ช่วยทีมขยายศักยภาพ สร้างสุดยอดผลลัพธ์’ เขียนโดย Suzuki Yoshiyuki แปลโดย วิธารณี จงสถิตวัฒนา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks