ชีวิตการทำงานก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ต้องมีจุด CLIMAX ให้เราต้องคลี่คลาย
คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล
“ชีวิตก็เหมือนกับภาพยนตร์…มีจุดเริ่มต้น ปมปัญหา ถูกคลี่คลาย และก็จบ”
นี่คือประโยคที่ผมชอบบอกกับตัวเองทุกครั้ง ในยามที่กำลังเผชิญต่อสถานการณ์บางอย่างที่ไม่ค่อยดีนัก
ผมเคยวาดฝันไว้ว่าก่อนอายุ 30 ปี ชีวิตคงอยู่ในการทำงานที่ปลอดภัยพร้อมกับหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นความฝันที่มีความหวานอันน่าชวนยิ้มรับความสำเร็จไหมละครับ และในที่สุดความฝันของผมก็เป็นจริง
“ถ้ามีที่ที่ดีกว่า…ก็ไปได้นะอย่ายึดติดกับที่นี่นัก”
หัวหน้าพูดกับผมอย่างเปิดใจขณะที่เรานั่งกินอาหารกัน นี่คือความจริงที่ทำให้ผมตื่นจากความฝัน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน และประเภทธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่นั้นเริ่มมีอาการอ่อนแอลงเรื่อยๆ พนักงานหลายคนรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ช้าก็เร็วพวกเขาอาจต้องมองหาเรือลำใหม่ เพื่อออกเดินทางต่อไป แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหาเรือลำใหม่ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะคนทำงานที่อายุเริ่มเยอะก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจแทนไม่แพ้กัน
สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนี้ทำให้ผมนึกถึงกระทู้หนึ่งที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง ‘วิกฤตวัยกลางคน’ (Mid Life Crisis) ได้อย่างน่าสนใจ วิกฤตวัยกลางคน คือ บุคคลที่มีช่วงอายุระหว่าง 35-50 ปี เกิดคิดทบทวน และประเมินชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน ชีวิตคู่ และความสุขในชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งการคิดทบทวนนี้มักถูกกระตุ้นมาจากการตระหนักว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่มาก เราควรจะประสบความสำเร็จ หรือมีความสุขได้แล้วหรือยัง
จากแหล่งข้อมูลได้อธิบายว่า วิกฤตวัยกลางคนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สุขภาพที่ถดถอย ฮอร์โมนเปลี่ยน คนสำคัญในชีวิตล้มหายตายจาก และการต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นต้น
ตอนอ่านกระทู้นี้จบลงพร้อมกับสภาวะที่เป็นอยู่ ในเชิงคำนิยามของวิกฤตวัยกลางคนที่ระบุช่วงอายุตั้งแต่ 35 – 50 ปี ผมพบว่ามันสามารถถูกย่อลงมาอยู่ในวัย 20 ปลายได้เหมือนกัน เพราะว่าการต้องการความสำเร็จในยุคนี้มีความผกผันมากกว่ายุคก่อน
ดังนั้น การให้คำนิยามเพื่อกำหนดความหมายของวิกฤตวัยกลางคนตามกระทู้ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น ถามว่าทำไมนะหรือ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเข้าพื้นที่แห่งความวิกฤตเข้าแล้ว ความรู้สึกต่อชีวิตที่ไม่เป็นอย่างที่หวัง ความสำเร็จที่ยังไม่เข้าเป้า หน้าที่การงานที่ยังไม่นิ่งพอให้เรารู้สึกสบายใจ จนต้องเริ่มมองหาเรือลำใหม่เพื่อเอาชีวิตรอด
การหาเรือลำใหม่ ย่อมต้องเลือกที่จะทิ้งภาระบางสิ่งบางอย่างออกไป เพื่อให้ความคิด และจิตใจเบาขึ้น ที่สำคัญการขึ้นเรือลำใหม่ อาจไม่สามารถนำวิธีการเดินเรือลำเก่ามาใช้ได้ เรียกได้ว่าเราอาจต้องทิ้งสิ่งเคยผ่านมา และเริ่มเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในวันข้างหน้า นั่นทำให้ผมนึกถึงวิธีคิดของ โยชิโนริ ชิมัทสึ ครับ
โยชิโนริ ชิมัทสึ ประธานสมาคมศาสตร์แห่งผู้นำญี่ปุ่น ได้ตั้งคำถามไว้ว่า เคยคิดไหมว่าจะทำงานอย่างไรตอนอายุ 40 ซึ่งหากมองย้อนกลับไปดูช่วงอายุของวิกฤตวัยกลางคนก็เข้าข่ายเกี่ยวข้องกันพอดิบพอดี โดยคำสำคัญของโยชิโนริที่แนะนำไว้คือคำว่า ‘ทิ้ง’
ความหมายของคำว่า ‘ทิ้ง’ ไม่ใช่ การหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วก็ไม่ใช่การเหลือแต่สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากทำ แต่หมายถึง การลดสิ่งที่ไม่ได้นำพาเราไปสู่เป้าหมายในชีวิตหรือผลสำเร็จของงานต่างหาก
โยชิโนริแจกแจงสิ่งที่เราได้รับมาจากช่วงวัย 20 – 30 ปี ไม่ว่าจะเป็น ผลสำเร็จของงานที่สั่งสมมา ทักษะการทำงาน ตำแหน่งหน้าที่การงาน นิสัย ความภูมิใจ ลูกน้อง และคอนเนกชั่น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจคิดว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จทั้งนั้นเลยนี่ แต่โยชิโนริกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้คือตะกอนที่ทับถมชีวิตเรามาเรื่อยๆ หากเราไม่หัดช้อนตะกอนเหล่านี้ออกไปจากชีวิตเสียบ้าง เมื่อถึงวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตะกอนที่เราภาคภูมิใจอาจนำความลำบากมาสู่ชีวิตได้ เพราะเกมการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยผนวกกับอายุที่เพิ่มขึ้น
โยชิโนริอธิบายเพิ่มว่า พออายุ 40 ปี เราควรเปลี่ยนวิธีการเล่นของตัวเอง ด้วยการทบทวนวิธีการที่เคยปราบคู่แข่งจากการใช้พละกำลังมาเป็นเชิงเทคนิคด้วยวิธีคิดที่แยบยลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มทักษะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากไม่เปลี่ยนเลยก็อาจจะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้เสมือน
“งูที่ลอกคราบไม่ได้จะสูญพันธ์”
โยชิโนริยกคำของฟรีดริช นีทเชอ นักปรัชญาชาวเยอรมันมาอธิบายไว้ว่า คนทำงานก็คล้ายงู ถ้าไม่ยอมปล่อยวางตัวตนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็ไม่สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ ถ้ายังไม่ทิ้งคราบเก่าที่หมายถึง วิธีคิด นิสัย และความสำเร็จเดิมๆ ย่อมยากที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งความคิดของโยชิโนริยังสอดคล้องต่อแนวคิดของ เจมส์ อัลเลน นักเขียนชาวอังกฤษที่ได้เขียนหนังสือ ‘กฏแห่งเหตุและผล’ ซึ่งอธิบายต่อผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ว่า ‘ความคิดของพวกเราในอดีตจนถึงตอนนี้ คือ สาเหตุ ที่นำพาพวกเรามาสู่สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน’
หากเปรียบชีวิตเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ชีวิตของผมกับใครอีกหลายคนที่ประสบสภาวะเดียวกัน คงเริ่มเข้าสู่จุดสำคัญของเรื่องเข้าแล้ว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ภาพยนตร์มีอารมณ์แห่งความสนุก น่าติดตาม และร่วมลุ้นไปกับตัวละครว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่
เอาเข้าจริงผมเชื่อว่าเกือบทุกคนย่อมต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปตามสถานการณ์ อาจรวมถึงการต้องละทิ้งบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเปิดโอกาสต่อการริเริ่มสิ่งใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเปลี่ยนไม่ได้คืออายุที่เพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่ายกาย และเวลาที่ค่อยๆ หายไปในแต่ละวัน รวมทั้งบุคคลสำคัญในชีวิตของเรา
เหตุนี้ผมจึงไม่ปฏิเสธว่า วิกฤตวัยกลางคนจะไม่เกิดขึ้นในชีวิตเลย หากแต่บางครั้งมันอาจมาเร็วกว่าคำนิยามจากในตำรา ถ้าเรามองโลกในแง่ดี วิกฤตเหล่านี้ได้สอนให้เราหัดลอกคราบ และหัดตักตะกอนทิ้งออกไปเสียบ้าง ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อจังหวะชีวิตที่ต้องออกเดินทางต่อไปกับเรือลำใหม่ที่เราหลายคนคาดหวังว่าจะนำพาเราไปสู่แผ่นดินในอุดมคติที่เราใฝ่ฝัน ซึ่งผืนแผ่นดินเหล่านั้นอาจเป็นฉากจบที่ไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยด้วยดีหรือร้ายก็ตาม