Type to search

บิดเบือนนิดเดียว ก็ปกปิดความจริงได้มิด รู้จัก ‘Mandela Effect’ กับดักแห่งความหลงเชื่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

April 23, 2023 By Future Trends
mandela-effect

เคยสงสัยไหมว่า ข้อมูลหลากหลายที่เราได้ยินจากผู้คนหรือส่งต่อกันมาตามโลกออนไลน์ มันน่าเชื่อถือมากแค่ไหน?

ทุกวันนี้ การรับรู้ข้อมูลต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา เพียงแค่คุณเปิดสมาร์ตโฟน และใช้แรงจากนิ้วในการตวัด เลื่อนขึ้น เลื่อนลง และกดลงไปที่หน้าจอก็สามารถรับข้อมูลได้หลากหลายแล้ว

บางคนอาจไม่ทันแยกแยะว่า ข้อมูลมากมายตามโลกออนไลน์ที่บังคับผ่านปลายนิ้ว มันเกิดขึ้นจริง มีข้อเท็จจริง แหล่งอ้างอิง และน่าเชื่อถือแค่ไหน หากพวกเขาเชื่อข้อมูลเหล่านี้สุดใจ ก็อาจจะทำในสิ่งที่เกินขอบเขตได้

ความเชื่อและความเข้าใจผิด จะสร้างความทรงจำที่เปลี่ยนข้อมูลผิดๆ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง จนนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น แม้ฟังดูจะเกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคสมัย แต่หลายคนน่าจะยังไม่รู้ว่า ในปัจจุบัน มีคำนิยามเกี่ยวกับผลกระทบนี้ด้วย ชื่อว่า ‘Mandela Effect’

แล้ว Mandela Effect คืออะไร?’ บทความนี้ Future Trends จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Mandela Effect กับดับแห่งความเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อข้อมูลด้านเดียวให้มากขึ้นกัน

Fake News
Image by Freepik

ต้นกำเนิดของ ‘Mandela Effect’

ในยุคอินเทอร์เน็ตปี 2009 ฟิโอน่า บรูม (Fiona Broome) นักวิจัยเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ ได้สร้างเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา แล้วเผยแพร่ข้อมูลของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้และนักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวอย่าง ‘เนลสัน แมนเดลา’ (Nelson Mandela) เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตในเรือนจำปี 1980 ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาเสียชีวิตในปี 2013

แม้บรูมจะรู้ว่า เธอได้นำเสนอข้อมูลผิด แต่เรื่องราวนี้ กลับทำให้ผู้คนเชื่อข้อมูลของเธอ โดยพวกเขาอ้างถึงข่าวการเสียชีวิตและคำปราศรัยจากภรรยาของเนลสัน นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเขียนหนังสือและนิยามผลกระทบนี้ว่า ‘Mandela Effect’

โดยปกติแล้ว การสังเกตและประสบการณ์ จะถูกประมวลผลในสมองให้กลายเป็นความทรงจำ ซึ่งความทรงจำสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลเนื้อหาได้ตลอดเวลา เมื่อรับข้อมูลใหม่ๆ มาเรื่อยๆ ก็ทำให้ความทรงจำคลาดเคลื่อนได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ความทรงจำจะมีการเพิ่มจินตนาการและรับความคิดเห็นจากแหล่งอื่นๆ หากมีคนบอกว่า เขาจำเหตุการณ์นี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้มันจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่สมองของเราก็สามารถโน้มน้าวให้คุณเชื่อในความทรงจำเดียวกับเขาได้

Fake News
Image by Freepik

ชนวนในการเกิด ‘Mandela Effect’

1. ความทรงจำเท็จ (False Memories)

ความทรงจำเท็จ คือความทรงจำที่มีความบิดเบือนข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีส่วนประกอบของข้อเท็จจริงก็ตาม

ยกตัวอย่าง อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกเข้าใจผิดว่า เขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า เป็นผู้ก่อตั้งประเทศมาเสริมให้กลายเป็นค่านิยม ‘ผู้ก่อตั้งต้องเป็นผู้นำประเทศ’ ทำให้ผู้คนบางส่วนเชื่อค่านิยมนี้มากกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

2. การพบปะสังสรรค์ (Confabulations)

การพบปะสังสรรค์ ทำให้เกิดการสื่อสารในวงกว้าง โดยข้อมูลหรือเรื่องเล่าที่พูดคุยกันไม่ได้อ้างหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องมายืนยัน อธิบายง่ายๆ คือฟังมาจากคนรอบข้างที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเติมเต็มบางส่วนที่ขาดหายไป และสร้างความทรงจำใหม่ในเรื่องราวต่างๆ

3. ข้อมูลบิดเบือนหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Misleading Post-Event Information)

หากนึกถึงข้อมูลหลังเกิดเหตุการณ์จากปากพยานหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น ข้อมูลละเอียดอ่อน ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ สามารถถูกบิดเบือนและเปลี่ยนการรับรู้ต่อผู้คนได้ เพราะบางคนจะบอกเฉพาะสิ่งที่พวกเขาเห็นหรือรับรู้มาเท่านั้น

4. การรับรู้โดยทันที (Priming)

เมื่อกล่าวถึงของชิ้นหนึ่ง เราจะนึกถึงชื่อๆ หนึ่งขึ้นมาทันที เพราะเป็นการคาดคะเนและบอกเป็นนัย เนื่องจากความทรงจำเป็นข้อมูลส่วนน้อยที่เปราะบาง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาที่ผ่านไป แม้จะเป็นความทรงจำที่เก็บรายละเอียดได้ดีก็ตาม

5. การเปลี่ยนแทนความเป็นจริง (Alternate realities)

แนวคิดนี้ มีต้นกำเนิดจากกฎฟิสิกส์ควอนตัม หรือทฤษฎีสตริงที่ข้อมูลต่างๆ อาจเกิดขึ้นมาแล้วหรือถูกปะปนในความทรงจำที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงเวลา

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาแต่ละยุค ทำให้ผู้คนจะมีความเชื่อในข้อมูลที่ไม่เหมือนกับผู้คนยุคก่อนๆ ซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะขึ้นอยู่กับเสียงส่วนมาก และข้อมูลเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทกับความทรงจำคุณเรื่อยๆ จนทำให้คุณเชื่อข้อมูลเหล่านั้นไปโดยปริยาย

สื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน จะเน้นความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อดึงยอดคนดูให้มาสนใจพวกเขามากขึ้น ในทางกลับกัน ต้องแลกกับเวลาตรวจสอบข้อมูลที่น้อยลงและไม่ได้พิถีพิถัน เปรียบเสมือน ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่ส่งผลต่อการรับรู้และการกระทำของผู้คน

ดังนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า แหล่งที่มาไปจนถึงเนื้อหาข่าว มีอะไรรับรองความน่าเชื่อถือบ้าง เช่น แหล่งข้อมูล ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ตำแหน่ง องค์กร เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เผยแพร่ออกไป

และไม่จำเป็นต้องรีบตามทุกอย่างให้ทันหรอก เพราะความจริงไม่ได้หนีไปไหนอยู่แล้ว

Sources: https://bit.ly/3MVtVZf

https://bit.ly/41HoCky

https://bit.ly/43J4mAy