ยุคนี้แค่ IQ กับ EQ ไม่พออีกต่อไป! รู้จัก ‘AQ’ ทักษะสำคัญที่ทุกคนควรมี
หากเอ่ยถึงทักษะความฉลาดที่สำคัญต่อการทำงาน ภาพแรกๆ ที่หลายคนมักนึกถึงคงหนีไม่พ้นทักษะตระกูล Q อย่างความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient หรือ IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ EQ)
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากสองทักษะนี้ จริงๆ แล้วยังมีอีก Q ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ ‘ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา (Adversity Quotient หรือ AQ)’ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์ออฟฟิศยุคนี้ ทั้งระดับพนักงาน และผู้บริหารควรมีติดตัว
แล้ว AQ คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท และเราจะพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร? บทความนี้ Future Trends จะมาอธิบายให้ฟังกัน
AQ คืออะไร?
AQ หรือ Adversity Quotient คือความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ทั้งสภาพกาย และจิตใจ ถูกบัญญัติขึ้นโดยพอล สโตลทซ์ (Paul Stoltz) เมื่อปี 1997 ว่า เป็นวิธีการประเมินความสามารถของแต่ละคนในการรับมือ และตอบสนองต่อความทุกข์ยาก
โดยสถาบันชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) และคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ต่างก็ใช้ AQ เป็น ‘Golden Standard’ เพื่อประเมินว่า คนนั้นๆ จัดการกับความท้าทายอย่างไรด้วยกันทั้งสิ้น และยังค้นพบอีกด้วยว่า AQ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเป็นผู้นำที่ดี’
AQ แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
พอลและเอลิซาเบธ เลอ ที (Elizabeth Le Thi) ได้ให้คำจำกัดความว่า ถ้านำไปเปรียบเทียบกับคน และภูเขา AQ ก็ไม่ต่างอะไรจากคน 3 ประเภทนี้
1. Quitters มนุษย์ล้มเลิก
คนประเภทนี้จะมี AQ ที่ต่ำ ตามปกติแล้ว พวกเขามักจะถอดใจกับอะไรง่ายๆ เวลาเห็นปัญหาที่ยากหรือยอดเขา พวกเขาก็มักจะยอมแพ้ ไม่พยายามแก้ปัญหา และเลือกจะจมอยู่กับชีวิตที่สิ้นหวังต่อไป โดยคนประเภท Quitters ไม่นับเป็นสินทรัพย์ที่องค์กรควรเก็บรักษาไว้
2. Campers มนุษย์ท่าดีทีเหลว
คนประเภทนี้จะมี AQ ปานกลาง เมื่อเจอกับปัญหา พวกเขาก็ยังคงมีแรงฮึดสู้ต่อ อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดเหนื่อยขึ้นมา พวกเขาก็จะหยุดพักหรือแวะตั้งแคมป์ก่อน ซึ่งส่งผลให้พวกเขาล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด ในทางกลับกัน แม้ Campers จะดีกว่า Quitters แต่ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาก็ไม่อาจทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ เนื่องจาก ติดอยู่กับโซนอุ่นสบายเดิมๆ
3. Climbers มนุษย์นักปีนเขา
คนประเภทนี้จะมี AQ ที่สูง ไม่ว่าปัญหานั้นจะหนักหนาหรือใหญ่โตสักเท่าไร พวกเขาก็พร้อมจะสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปัญหาต่างๆ ยังคงมองโลกในแง่บวก และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้น Climbers จึงเปรียบเสมือน ‘พนักงานในอุดมคติหรือสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร’
เราจะพัฒนา AQ ได้อย่างไร?
เว็บไซต์ Psychologs ได้เสนอแนวทางการพัฒนา AQ ผ่าน L.E.A.D. หรือเทคนิค 4 ขั้นตอน เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
L : Listen to your response to adversity เวลาเจอปัญหา อย่าเพิ่งเป็นกระต่ายตื่นตูมไปไกล ให้ ‘ดึงสติ’ ของตัวเองกลับมาก่อน
E : Establish accountability เวลาเจอปัญหา นอกจากจะต้องดึงสติกลับมาแล้ว ก็ควรแสดงความรับผิดชอบกับมันด้วย ไม่โทษปัจจัยต่างๆ หรือโชคชะตาฟ้าดินเพียงอย่างเดียว ลอง Step back กลับมาดูว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหานั้นหรือไม่? เพราะบางครั้งเราก็อาจจะทำลงไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
A : Analyze the evidence ก่อนจะถอดใจกับปัญหายากๆ ให้ลองวิเคราะห์หลักฐานดูก่อนว่า มันจนมุมแล้ว ไม่มีทางแก้จริงๆ รึเปล่า อะไรที่ควบคุมได้ และอะไรที่ควบคุมไม่ได้?
D : Do something หลักจากดึงสติ แสดงความรับผิดชอบ และวิเคราะห์หลักฐานแล้ว อย่างสุดท้ายที่ควรทำก็คือ ‘การลงมือทำอะไรสักอย่าง’ ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่แบบนี้ตลอดไป
ถึง IQ และ EQ จะสำคัญในแง่ขององค์ความรู้ และการทำงานร่วมกัน แต่ในความเป็นจริง ทักษะสำคัญที่สุดที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ก็คือ AQ ต่างหาก เนื่องจาก มันช่วยให้พนักงานทุกคนยอมก้าวออกจาก Comfort Zone เดิมๆ เปลี่ยน ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’ และเติบโตอย่างสวยงามต่อไป
Sources: https://bit.ly/4085ADr