คนรุ่นใหม่เปรียบแบรนด์เหมือน ‘เพื่อนสนิท’ ต้องสะท้อนคุณค่าชีวิตที่คู่ควร
สรุปเทรนด์โลกจากรายงาน Meta Foresight 2023 ตอนที่ 4: คุณค่าชีวิตของคนรุ่นใหม่
Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram ออกรายงานประจำปีภายใต้ชื่อ ‘เมตา ฟอร์ไซต์’ (Meta Foresight) เพื่อแนะนำนักการตลาด และนักวางกลยุทธ์สร้างแบรนด์สินค้าทั่วโลก ให้ทราบเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ข้อมูลนี้มาจากการวิเคราะห์บทสนทนาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Meta ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 3,700 ล้านคน รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 21,000 คน ใน 7 ประเทศทั่วโลก
บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูข้อมูลในหมวดที่ 4 ซึ่งเป็นหมวดสุดท้ายว่าด้วยเรื่องคุณค่าของชีวิต (Lived values)
ผลสำรวจพบว่า แนวโน้มคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น หลายคนสนใจในประเด็นการเมืองและสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับความยุติธรรมและความถูกต้องในสังคม
พวกเขาไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมการประท้วงในหัวข้อที่ตัวเองให้ความสำคัญ โดยประเด็นที่มีการพูดคุยกันบนโลกโซเชียลเพิ่มขึ้นมากที่สุดทั่วโลกในปี 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีดังนี้
– การบูรณาการทางสังคม (Social integration) +817%
– ขบวนการแรงงานไร้ที่ทำกิน (Landless Workers’ Movement) +454%
– การสนับสนุนทางสังคม (Social support) +410%
– ความเปราะบางทางสังคม (Social vulnerability) +398%
– เมืองที่ปกป้องผู้อพยพ (Sanctuary city) +371%
นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากให้ความสำคัญ โดยผู้บริโภค 73% ทั่วโลกรายงานว่า ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญต่อพวกเขาโดยตรง
ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่คนพูดถึงเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่
– ชุมชนคนรักษ์โลก (Ecovillage) +1,132%
– การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agritourism) +627%
– มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart meter) +517%
– ศักย์ไฟฟ้า (Electric potential) +407%
– ขยะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable waste) +290%
แม้คนรุ่นใหม่จะใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจัง แต่พวกเขาก็ยังไม่ลืมที่จะหาเวลาผ่อนคลายและทำกิจกรรมยามว่างที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยมีแฟชั่นย้อนยุคเป็นแรงบันดาลใจ
ผลสำรวจระบุว่า 2 ใน 5 ของคน Gen Z ทั่วโลกคลั่งไคล้ดนตรีและความบันเทิงจากยุค ‘90 และมี 42% ที่ชื่นชอบเพลงและหนังในยุค Y2K
นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของ Gen Z ทั่วโลกยังบอกว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวจากยุค ‘90 และคนจำนวนมากเลือกระลึกความหลังด้วยการสะสมตลับวิดีโอเกม
หัวข้อเกี่ยวกับวัฒนธรรมย้อนยุคที่มีการพูดถึงเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่
– กระดาษคาร์บอน (Carbon paper) +911%
– ซิปไดรฟ์ (Zip drive) +447%
– ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก (Electroacoustic music) +431%
– อิเล็กโทรป็อป (Electropop) +303%
– การสะสมวิดีโอเกม (Video game collecting) +247%
เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการจับจ่ายใช้สอย พวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกใช้แบรนด์เหมือนการเลือก ‘เพื่อนสนิท’ มากขึ้น นั่นคือแบรนด์ที่ใช้ต้องเข้าใจค่านิยมที่พวกเขาให้ความสำคัญ และแสดงสิ่งนั้นออกมาให้เห็นผ่านการยอมรับในสังคม หรือมีการสื่อสารออกมาในทิศทางเดียวกันผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
หากแบ่งความรู้สึกที่คนรุ่นใหม่มีต่อแบรนด์เหมือนเป็น ‘เพื่อนสนิท’ ตามหัวข้อสนทนาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด สามารถแบ่งได้เป็น 4 หมวด ได้แก่
– ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว เช่น เป็นคอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างเอง (User-generated content) +326% และแชตบอต (Chatbot) +188%
– ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น จำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital distribution) +681% และระบบชำระค่าสินค้าด้วยตัวเอง (Self-checkout) +122%
– ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย เช่น การตลาดเพื่อให้มาซื้อซ้ำ (Loyalty marketing) +190% และร้านแจกฟรี (Give-away shop) +191%
– มีจริยธรรม เช่น ความจริงใจ (sincerity) +192% และการเป็นตัวแทน (Representation) +122%
ปิดท้ายเซคชันนี้ รายงานแนะนำให้แบรนด์ต่างๆ ปรับตัวตามเทรนด์ใหม่ด้วยการกล้าแสดงจุดยืนและค่านิยมที่แบรนด์ยึดถือให้สังคมรับรู้ เนื่องจากผู้คนมีความคาดหวังมากขึ้นว่า แบรนด์จะแสดงจุดยืนออกมา และยึดมั่นในค่านิยมนั้น ตั้งแต่เรื่องกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนไปจนถึงการตลาดที่ไม่แบ่งแยก
นอกจากนี้ ผู้คนยังเปิดใจเพิ่มขึ้นเพื่อให้แบรนด์ เข้ามาช่วยลดช่องว่างในการใช้ชีวิตแต่ละวันตามค่านิยมที่พวกเขายึดถือ และที่สำคัญถ้าทำได้ กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาก็จะไม่มีความหมาย เพราะแบรนด์นั้นได้กลายเป็น ‘เพื่อนสนิท’ ที่ลูกค้าตัดไม่ได้ไปแล้ว
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: https://bit.ly/3yQndvn