Type to search

‘Prime Video’ มีดีอย่างไร ทำไมถึงโตแซง ‘Netflix’ ไปแล้ว?

February 13, 2023 By Witchayaporn Wongsa
amazon-prime-video

หากจะกล่าวว่า ปี 2022 เป็นปีแห่งความวุ่นวายของตลาดสตรีมมิงก็คงไม่ผิดเท่าไรนัก เพราะนอกจากผู้เล่นแต่ละรายจะต้องงัดกลยุทธ์มาสู้กันในสนามการแข่งขันอันร้อนแรงแล้ว เหล่าผู้เล่นต่างก็รับเคราะห์กันไปคนละเรื่องสองเรื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของบริษัท

แต่บริษัทที่ดูจะรับเคราะห์มากกว่าใครเพื่อน คงหนีไม่พ้น ‘Netflix’ ที่เคยยืนหนึ่งในน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) เพราะบุกตลาดสตรีมมิงก่อนใคร กลับต้องมาต่อสู้ในน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในตลาดเดียวกัน และหนึ่งในผู้เล่นที่มีผลงานน่าจับตาคือ ‘Prime Video’ ของ ‘Amazon’ นั่นเอง

การเติบโตของ Prime Video ในสหรัฐฯ คงทำให้ Netflix รู้สึกหนาวๆ อยู่ไม่น้อย เพราะข้อมูลจาก JustWatch ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบริการสตรีมมิง ระบุว่า ภาพรวมของตลาดสตรีมมิงในไตรมาส 4/2022 Prime Video เฉือนเอาชนะ Netflix ไป 1 เปอร์เซ็นต์ โดย Prime Video ขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาดในสหรัฐฯ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 21 เปอร์เซ็นต์ และตามมาด้วย Netflix ที่ 20 เปอร์เซ็นต์

ถึงแม้จะเป็นการเฉือนเอาชนะด้วยสัดส่วนเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่า นี่คือสัญญาณของการแข่งขันในตลาดสตรีมมิงที่จะร้อนแรงขึ้นหรือเปล่า?

Future Trends จะชวนทุกคนมาวิเคราะห์ผ่าน 2 ปัจจัยว่า ทำไม ‘Prime Video’ ถึงเฉือนเอาชนะ ‘Netflix’ ในตลาดสตรีมมิงของสหรัฐฯ ได้?

Netflix & Prime Video

‘User-Friendly’ หัวใจในการเดินเกมของ ‘Prime Video’

หลายคนมองว่า จุดแข็งที่ทำให้ Prime Video ได้รับความนิยมมากขึ้น คือการปั้นคอนเทนต์แม่เหล็กอย่าง The Boys และ The Lord of the Rings เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ชม จนทำให้เกิดการสร้างฐานผู้ใช้งานเจ้าประจำที่มีความสำคัญต่อแบรนด์

แต่การปั้นคอนเทนต์ออริจินัลให้แข็งแกร่ง ก็เป็นกลยุทธ์ที่ผู้เล่นแต่ละรายให้ความสำคัญไม่ต่างกัน ดังนั้น ในยุคที่บริการสตรีมมิงแข่งกันด้วยคอนเทนต์คุณภาพสูง การปั้นคอนเทนต์แม่เหล็กหรือคอนเทนต์ที่เป็นกระแสเพียงอย่างเดียวจึงไม่พออีกต่อไป

สิ่งที่ Prime Video ให้ความสำคัญไม่แพ้การปั้นคอนเทนต์คุณภาพสูง คือความ ‘เฟรนด์ลี่’ ต่อผู้ใช้งาน ถือเป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมที่ผู้เล่นรายอื่นอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะ ‘X-Ray’ ฟีเจอร์แสดงข้อมูลของนักแสดงและฉากในแต่ละตอน เปรียบเสมือนสารานุกรมขนาดย่อมของคอนเทนต์เรื่องนั้น

จริงๆ แล้ว ฟีเจอร์ X-Ray ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับ Amazon แต่เป็นฟีเจอร์เด่นของ ‘Kindle’ เครื่องอ่าน E-Book ที่ Amazon เปิดตัวเมื่อปี 2007 ดังนั้น ฟีเจอร์ X-Ray ใน Prime Video คือการต่อยอดทางธุรกิจอันชาญฉลาดของ Amazon เลยทีเดียว

นอกจากนี้ Prime Video ยังมีฟีเจอร์ ‘Watch Party’ หรือการ ‘เปิดตี้’ รับชมคอนเทนต์พร้อมกันผ่านการสร้างระบบแชตแบบเรียลไทม์ นับเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมคอนเทนต์ และยังเป็นฟีเจอร์ที่ผู้เล่นบางรายไม่สามารถให้บริการได้อีกด้วย

ความเพลี่ยงพล้ำของ ‘Netflix’

หลังจาก Netflix ประสบปัญหาสูญเสียผู้ใช้งานราว 200,000 บัญชี ในรอบ 10 ปี รายได้ของบริษัทก็ลดลงเป็นมูลค่ามหาศาล จน Netflix ต้องออกมาตรการยาแรงอย่าง ‘เพิ่มบ้าน เพิ่มเงิน’ เพื่อปราบสายแชร์จอที่เป็นช่องโหว่ของการสร้างรายได้มานาน

การที่ Netflix พยายามใช้ยาแรงที่ดูจะ ‘โนสน โนแคร์’ ผู้ใช้งานของตัวเองไปสักหน่อย ย่อมทำให้ ‘Brand Loyalty’ หรือความภักดีที่ผู้ใช้งานมีต่อแบรนด์เริ่มสั่นคลอน จนเกิดการมองหาตัวเลือกใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งผู้ใช้งานบางส่วนแสดงความเห็นว่า สิ่งที่สามารถยึดโยงตัวเองกับ Netflix มีเพียงคอนเทนต์ที่ต้องการรับชมเท่านั้น

ถ้า Netflix ตัดสินใจเดิมเกมด้วยกลยุทธ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานน้อยกว่านี้ แบรนด์อาจจะรักษาฐานผู้ใช้งานของตัวเองไว้ได้ตามเดิม

ทั้งนี้ ทิศทางการเติบโตของตลาดสตรีมมิงที่เราหยิบยกมาพูดถึง จะเน้นที่บริบททางสังคมในสหรัฐฯ ซึ่งการแข่งขันในไทยอาจต่างไปจากนี้ เพราะ Prime Video เพิ่งเข้ามาทำการตลาดได้ไม่นาน ทำให้ Netflix อาจถือไพ่เหนือกว่าในบางประเด็น

แต่ไม่ว่า ทิศทางการเติบโตของตลาดสตรีมมิงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าจับตามากกว่าคือ สตรีมมิงกลายเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างร้อนแรง และถ้าผู้เล่นรายใดเดินเกมพลาดแม้แต่นิดเดียว ผลประโยชน์อาจตกไปที่คู่แข่งเต็มๆ ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดกับธุรกิจของตัวเอง

Sources: http://bit.ly/3HdiaKB

https://bit.ly/3WjJP0A

http://bit.ly/3Xkzrai

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)