การตัดสินใจที่ดีคือการไม่ตัดสินใจอะไรเลย ทำไม ‘การไม่ตัดสินใจ’ ถึงทำให้เราฉลาดขึ้นได้?
‘ทักษะการตัดสินใจ’ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนพยายามพัฒนาทักษะของตัวเองให้เฉียบคมอยู่เสมอ เพราะเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงาน รวมถึงบทความเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองจากสื่อหลายๆ สำนักจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘การตัดสินใจ’ มาให้เห็นอยู่เสมอ เช่น
– เลิกเป็นคนขี้ลังเล แล้วตัดสินใจให้เด็ดขาดซะที!
– 3 เทคนิคปั้นทักษะการตัดสินใจให้เฉียบคม
– หัดปฏิเสธให้เป็น แล้วตัดสินใจตามความคิดของตัวเอง
หรือในมุมของหัวหน้าก็จะได้รับการกล่อมเกลามาโดยตลอดว่า ทักษะการตัดสินใจมีผลกับการทำงานในหลากหลายมิติ เช่น การมอบหมายงานแต่ละส่วนให้ทีมดูแล การบริหารจัดการงานภายในทีม การควบคุมโฟลว์การทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นต้น
ดังนั้น ในแต่ละวันหัวหน้าจะต้องอยู่กับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน และเป็นโจทย์ที่แสนท้าทายสำหรับหัวหน้าหลายๆ คน เมื่อการตัดสินใจแต่ละครั้ง คือสิ่งชี้เป็นชี้ตายการทำงานของทีมในอนาคต
แต่เชื่อหรือไม่ว่า บางครั้ง ‘การไม่ตัดสินใจ’ อะไรเลยก็เป็นการตัดสินใจที่ดีเช่นกัน
งานวิจัยของ ‘จานา-มาเรีย ฮอนส์เบน’ (Jana-Maria Hohnsbehn) นักศึกษาระดับปริญญาเอกและ ‘ไอริส ชไนเดอร์’ (Iris Schneider) อาจารย์ด้านจิตวิทยาทางสังคมจาก TU Dresden (Technische Universität Dresden) ศึกษาเกี่ยวกับ ‘ลักษณะของความไม่แน่ใจ’ แทนการใช้มาตรวัดของฟรอสต์ (Frost Indecisiveness Scale) ในอดีต
ฮอนส์เบนและชไนเดอร์มองว่า การศึกษาจาก ‘ลักษณะของความไม่แน่ใจ’ สามารถแสดงสาเหตุเกี่ยวกับการตัดสินใจได้ชัดเจนกว่าการทำแบบสอบถามตามมาตรวัด และพยายามศึกษาตัวตนของคนที่ไม่ชอบตัดสินใจให้เด็ดขาด เพื่อหาแคแรกเตอร์หรือความพิเศษบางอย่างของคนกลุ่มนี้
ซึ่งการสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ฮอนส์เบนและชไนเดอร์พบกับปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่เด็ดขาด ซึ่งก็คือ ‘อคติ’ จากการรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวนั่นเอง
ดังนั้น การตัดสินใจไม่เด็ดขาด คือการพยายามตัดสินใจโดยไม่มี ‘อคติ’ และคิดอย่างรอบคอบที่สุด ทำให้การตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้
แล้วข้อดีอื่นๆ ของการไม่ตัดสินใจยังมีอะไรอีกบ้าง?
1. คนที่ตัดสินใจ ‘ไม่เด็ดขาด’ ทำให้ทีมมองเห็นอีกด้านที่พลาดไป
ถึงแม้คนที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด จะทำให้โฟลว์การทำงานของทีมสะดุด แต่ในอีกมุมหนึ่ง สาเหตุที่คนเหล่านี้ประวิงเวลาในการตัดสินใจ อาจจะมาจากการที่พวกเขามองเห็นความเสี่ยงบางอย่าง หรือสิ่งที่ทีมทำพลาดไปได้เช่นกัน
ดังนั้น หากหัวหน้าลองปรับมุมมองและเปิดใจให้กับคนที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด อาจจะได้มุมมองหรือรูปแบบการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง และมีประโยชน์ต่อทีมในอนาคต
2. คนที่ตัดสินใจ ‘ไม่เด็ดขาด’ คือตัวกลางในการขจัดปัญหาความขัดแย้ง
คนที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด คือคนที่เข้าใจความเห็นของทีมที่ต่างกันอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาจะพยายามทำความเข้าใจความเสี่ยงจากความเห็นในแต่ละรูปแบบ หากหัวหน้าพยายามวางบทบาทให้คนที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาดเป็นตัวกลางในการสื่อสาร อาจจะทำให้ทีมได้ข้อสรุปในทิศทางที่รัดกุมมากกว่าเดิม
ถึงแม้การไม่ตัดสินใจอะไรเลยจะเป็นการตัดสินใจที่ดี (ในบางครั้ง) แต่การประวิงเวลาแล้วตัดสินใจไม่ชัดเจน มีแต่จะทำให้การทำงานของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในภาวะสุญญากาศ และไม่สามารถทำงานต่อได้เลย
Sources: https://bit.ly/3iufYnS