อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบาง ส่งผลต่อภาคประชาชน ธุรกิจ และรัฐ หลายภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัว และเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น แล้วภาวะเงินเฟ้อจะจบลงอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้หรือไม่ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
[ การจ้างงานน้อยลง ]
ข้อมูลการจ้างงานระหว่างปี 2559 – 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่า ตลาดต้องการแรงงานน้อยลง ทั้งด้านเกษตรกรรม การเงิน การสื่อสารและโทรคมนาคม ทำให้หลังโควิด-19 ตลาดแรงงานต้องการแรงงานมีทักษะที่ทำให้ก้าวกระโดดได้เร็ว
เนื่องจากช่วงเกิดโรคระบาด ระหว่างปี 2563 – 2564 เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงธุรกิจอาหาร การผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา การบริการด้านความงาม และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ด้วย
ข้อมูลจาก U.S. Chamber of Commerce ศึกษาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พบว่า จะมีบางธุรกิจที่ฟื้นตัวกลับมารุ่ง เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี บริการซอร์ฟแวร์ และธุรกิจค้าปลีก ส่วนธุรกิจที่ร่วง เช่น การท่องเที่ยว สถานบันเทิง โรงพยาบาล และร้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาซ้ำ กลับพบว่า จะมีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวกลับมารุ่งและธุรกิจที่ร่วงในทุกๆ อุตสาหกรรม เนื่องจากบางธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้เร็วพอ
[ภาคธุรกิจมีทั้งรุ่งและร่วง ]
ข้อมูลดังกล่าวมีกราฟเป็นลักษณะตัว K เรียกว่า ‘K-Shape Recovery’ ซึ่งจะมีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัว (K ขีดบน) และธุรกิจที่ร่วง (K ขีดล่าง) ซึ่งความห่างของ K-Shape จะส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ตามมา เรียกว่า ‘4K แห่งความเหลื่อมล้ำ’ เป็นความเหลื่อมล้ำทั้งด้านธุรกิจ ตลาดแรงงาน รายได้ และการศึกษา
ธุรกิจ SMEs ไทยก็เป็นลักษณะดังกล่าวด้วย ตัวอย่างเช่น มียอดจองรถจากงานมอเตอร์โชว์จำนวนมาก หรือมีคนจองโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ออกใหม่จำนวนมาก ขณะที่บางคนตกงานขาดรายได้ ซึ่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง อยู่ที่ว่าแต่ละคนอยู่จุดไหนของ K-Shape
[ เทคโนโลยีทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น ]
หากสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ยุคก่อน Disruption ประมาณปี ค.ศ. 1400 – 2000 ระยะเวลากว่า 600 ปีนี้ จะเห็นว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะพลังของเทคโนโลยี เช่น การเกิดของแท่นพิมพ์ทำให้การส่งต่อความรู้ สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นต้น สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีมีเส้นทางเติบโตที่เหนือประวัติศาสตร์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
ขณะที่โลกหลังปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา เป็นยุค Disruption ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่ายุคก่อนถึง 20 เท่า และมีการคาดการณ์ว่า หลังจากผ่านโควิด-19 โลกจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นไปอีก นั่นหมายถึงชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
เรากำลังอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เช่น เราเชื่อกันมานานว่า เงินเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แต่ปัจจุบันมีเงินที่เป็นดิจิทัล ซึ่งเป็นวิวัฒนาการเทคโนโลยีที่ท้าทายมนุษย์ ตั้งแต่เราใช้เบี้ยหอยจนกลายเป็นรหัสดิจิทัล เป็นต้น
ฉะนั้น การจะทำความเข้าใจเศรษฐกิจจึงไม่ใช่แค่การดูตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจพลังต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังด้วย ซึ่งในที่นี้เทคโนโลยีเป็นพลังที่สำคัญอย่างยิ่ง
ไม่เพียงแค่นั้น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่ง ให้โลกและไทยเข้าสู่ digital transformation เร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาระบาด 2 ปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างทำได้ดี แต่ในทางกลับกันกลับตอกย้ำว่า โลกได้เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่คิด ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดและรวดเร็วขึ้นอย่างมาก
[ เงินเฟ้อ ความทุกข์ที่ยังไม่จบ ]
เมื่อกล่าวถึงเงินเฟ้อ ไม่ใช่เพียงเงินเฟ้อแบบในตำราเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม แต่จะมีเงินเฟ้ออีกแบบที่เกิดจากยุคดิจิทัล คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากคุณค่าที่สูงขึ้น เงินเฟ้อจะถูกดันด้วยค่าครองชีพและเทคโนโลยีที่เป็นตัวลากมันขึ้นไป
เมื่อกลับไปดูค่าครองชีพ 25 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่า สามเหลี่ยมเงินเฟ้อที่ผ่านมาในระยะเวลา 1 ปี เทียบเท่ากับสามเหลี่ยมเงินเฟ้อครั้งก่อนหน้าที่ใช้เวลากว่า 10 ปี หมายความว่า อัตราเงินเฟ้อได้รุนแรงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดกับทั้งฝั่งคนที่เป็นแรงงาน และบริษัทห้างร้านที่ต้องปรับโมเดลทางธุรกิจ เมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น การปลดลดคนเป็นอีกหนึ่งวิธีการลดต้นทุน
จากอัตรา 10 ปี ถูกย่อมาให้เหลือแค่ 1 ปี จะมีคนได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักขึ้น เพราะรายได้ไม่สามารถเติบโตทันอัตราเงินเฟ้อ กระทั่งคนที่เป็นแรงงานถูกบีบให้ต้องออกจากงาน เนื่องจากผลของการปรับตัวของธุรกิจ และจะถูกบีบให้หล่นลงไปอยู่ใต้ฐานของ K Shape เป็นกลุ่มที่ร่วงในที่สุด
ฉะนั้น วิกฤตเงินเฟ้ออาจจบในปี 2023 แต่ความทุกข์ทรมานจากเงินเฟ้อจะไม่จบ เพราะเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นช่วงๆ ดีขึ้นสลับแย่ลง แต่ค่าครองชีพจะไม่ถูกลงไปกว่านี้
หากเงินเฟ้ออยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จะไปลดทอนกำลังซื้อของคน 4 กลุ่ม คือ ประชาชน นักธุรกิจ รัฐบาล และชาวต่างชาติ เงินเฟ้อจะไปลดทอนพลังการซื้อของกลุ่มเหล่านี้ และส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจ ทำให้เติบโตยากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กำลังซื้อจะติดเพดาน มีเพียงบางส่วนที่ทะลุเพดานได้ พวกนี้คือ กลุ่มธุรกิจที่ไปจับลูกค้าด้านบน K Shape
[ ไปต่ออย่างไร ]
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว การเอาตัวรอดเพียงอย่างเดียวจะไม่พออีกต่อไป จะต้องมองถึงการทะยานไปข้างหน้า ถึงจะผ่านเศรษฐกิจที่แย่ไปได้ โดยต้องวางฉากทัศน์เพื่อการเติบโต แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. ด้านคน : คนที่จะรอด ไม่ว่าจะทำธุรกิจของตัวเองหรือเป็นแรงงานที่ธุรกิจต้องการ จะต้องมีความเป็น 1) Job Innovators คือ สามารถสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ เช่น ปัจจุบันมีอาชีพเกิดใหม่อย่างรับจ้างอ่านหนังสือเป็นเพื่อน หรือรับจ้างฟังคนบ่น ฉะนั้น การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะมาจากคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 2) Muti-taskers เรียกคนเหล่านี้ว่า ซุปเปอร์เป็ด คือ คนที่มีความรู้รอบด้าน ทักษะหลากหลาย เรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็ว ควบคู่ไปกับภาคธุรกิจที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว 3) Market disengages ถ้าไปไม่รอดก็กลับไปอยู่เซฟโซน เช่น ทำไร่ แล้วมีโอกาสทำธุรกิจอื่นไปด้วย เพื่อให้ตัวเองไม่ได้พึ่งพาตลาดทั้งหมด
2. ด้านธุรกิจ : จะต้อง 1) Agile & Ocean-Shifting ปรับตัวรวดเร็วและกระโดดหาโอกาสสำคัญ 2) Cashflow management บริหารจัดงานสภาพคล่องให้ได้ 3) Process innovation drives product innovation สร้างกระบวนการนวัตกรรมที่สามารถเกิดได้ชั่วข้ามคืน เพื่อขับเคลื่อนโปรดักต์ 4) Data เราต้องเปลี่ยนเดต้าขนาดเล็ก มาเป็นบิ๊กเดต้า ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
3. ภาครัฐ : จะต้องมี 4S 4G Model คือ ต้องเป็นรัฐที่ Smart (ฉลาด), Strong (แข็งแกร่ง), Sensitive (อ่อนไหวต่อประเด็นบางอย่างมากพอ) และ Super Agile (ต้องเร็วกว่าภาคธุรกิจ) รวมถึง Employment-based Growth (เติบโตโดยที่เน้นการจ้างงาน), Equity-based Growth (เน้นการเติบโตอย่างเป็นธรรม), Intrinsic-base Growth (เน้นเข้มแข็งจากภายใน) และ Sustainability-based Growth (เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน)
หากสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร ภาคธุรกิจ รัฐ และประชาชน จะต้องปรับตัวให้ได้ การรับมือจะต้องเปลี่ยนไป ต้องคิดไกล วางแผนไปข้างหน้า เงินเฟ้อจะหมุนเร็วกว่านี้ ธุรกิจที่ไม่เตรียมตัวจะไปไม่รอด
ทั้งหมดนี้ คือ ทิศทางของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทย สรุปจากการบรรยายโดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ในงาน Future Trends Awards 2022
สามารถชม Session: ของแพง เศรษฐกิจทรุด ฉากสุดท้ายเงินเฟ้อไทยจะจบลงที่ตรงไหน? โดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน Future Trends Awards 2022 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3GROlyR
สามารถชมไลฟ์สดบรรยากาศงาน Future Trends Awards 2022 รวมทั้งผลรางวัลและสปีกเกอร์ทุก Session ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3PVrS6Z
ประมวลผลรางวัลและกิจกรรมภายในงาน ‘Future Trends Awards 2022’ สามารถชมได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3VpCNXN