ส่องเทรนด์แห่งอนาคตที่น่าจับตามองในปี 2023 จากงาน Future Trends Awards 2022
หากใครติดตามความเคลื่อนไหว น่าจะเห็นว่า ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ การ Disrupt เกิดขึ้นกับโลกของเราอยู่ตลอด ซึ่งก็ไม่ใช่แค่แวดวงการทำงาน และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่นี่ยังรวมไปถึงเทรนด์ต่างๆ ด้วย
หัวข้อ ‘Future You, Future World, Future Business’ จากงาน Future Trends Awards 2022 โดย Future Trends ได้ ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้านเอไอเอส สตาร์ตอัป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) มาร่วมเปิดมุมมองเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวต่อไปในอนาคตในแบบต่างๆ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกัน
Future คืออะไร?
ดร.ศรีหทัย อธิบายว่า ก่อนจะถามสิ่งนี้ในระดับมหภาค เราควรย้อนกลับมานิยามกับตัวเองก่อนว่า Future ของแต่ละคนแปลว่าอะไร หันไปในทิศทางไหน? จริงๆ แล้ว Future มักมาพร้อมกับกรอบเวลาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ นาทีนี้ หรือแม้กระทั่งอีก 5-10 ปีข้างหน้า
ในขณะเดียวกัน Future ก็มีปัจจัยมากมายที่ควรคำนึงด้วย และหนึ่งในนั้นมันคือ ‘เรื่องประสิทธิภาพ (Efficiency)’ โดยการทำวันนี้ให้ถูกต้อง เพื่อผลอนาคตที่ถูกใจ อย่างเช่น ถ้าอยากจะปลูกต้นไม้สักต้น เราต้องมานั่งดูว่า ต้นไม้ต้นนั้นมีลักษณะอย่างไร ต้องการการเลี้ยงดูแบบไหน และความชำนาญของเราสอดคล้องกับมันรึเปล่า?
Future World โลกแห่งอนาคตนับจากนี้
โลกแห่งอนาคตหรือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘Future World’ คือการที่อนาคตหลายๆ อันมาหลอมรวมกันจนเกิดเป็น ‘Interconnected Futures’ ซึ่งมี 3 มิติที่ถูกนำเสนอใน Triple bottom line โดย John Elkington ดังนี้
- มิติทางเศรษฐกิจ (Economy Dimension) – ธุรกิจล้วนขับเคลื่อนด้วยรายได้ และการเติบโตของผลกำไร
- มิติสิ่งแวดล้อม (Environment Dimension) – สิ่งแวดล้อมถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโต
- มิติของคน (Social Dimension) – ต่อจากนี้ เรื่องของคนจะไม่ใช่แค่พนักงานกับลูกค้าอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ Partner ของธุรกิจด้วย
ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ‘สติ’ คือสิ่งที่ควรมี เราต้องเข้าใจปัจจุบัน และอนาคต มากไปกว่านั้นคือ เข้าใจ ‘Trend ahead the Trend’ หรือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเทรนด์หนึ่งเกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เราต้องเข้าใจว่า อะไรจะเป็นอนาคตไกลที่เกิดจากผลลัพธ์ของอนาคตอันใกล้?’ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับมันถึงสองชั้น
ดร.ศรีหทัย เล่าว่า จากรายงานเรื่อง Growth Projection by Region ในเดือนตุลาคมของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum) ชี้ให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกค่อยๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด (Near-trend Slowdown) ประกอบกับค่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งเรื่องสุขภาพกายกับใจ และคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ซึ่งการจะยืนอยู่ต่อ หลักๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องทำ ได้แก่
– การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน (Productivity Improvement)
– การ Disrupt ห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Disruption)
– การรักษาเสถียรภาพของโครงสร้างราคา (Stabilized Pricing Structure)
– ระดับของหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ (Level of Debts)
– การป้องกันกลุ่มผู้เปราะบาง (Vulnerable Group Protection)
– เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว (The Road to Green Energy)
Future Business กุญแจสำคัญของธุรกิจแห่งอนาคต
ในแง่มุมของการทำธุรกิจ ตามปกติแล้ว เรามักจะมองว่า จะขายอะไร สร้างอะไร? แต่ Future Business จะเปลี่ยนเป็นการมองแบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการภายใน (Internal Operation), ที่มาของเงินทุน (Investment) และการทำธุรกิจให้คู่ขนานไปกับ Partner และลูกค้า (Alignment)
1. การดำเนินการภายใน (Internal Operation)
แท้จริงแล้ว แรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกิดจากการถูกคุกคามของกิจกรรมหลัก (Core Activity) และสินทรัพย์หลัก (Core Asset) ซึ่งส่งผลกระทบกับกำไร และประสิทธิภาพการทำงาน
โดยพื้นฐานแล้ว เราจะโฟกัสผลประโยชน์ที่ได้รับ (Benefit Gain) จากธุรกิจแค่ประสิทธิภาพ แต่ต่อไป มันจะมีเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากร (Resource Optimization) และการลดข้อผิดพลาด (Error Reduction) เข้ามาเป็นหนึ่งในสมการนี้ด้วย ทั้งเรื่องเทคโนโลยี (Technology), ความสามารถ (Competency) และระบบอัตโนมัติ (Automation)
2. ที่มาของเงินทุน (Investment)
จากผลสำรวจของสมาคมไทยสตาร์ตอัประบุว่า ส่วนใหญ่เงินทุนเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจระยะเริ่มต้น (Early Stage) นักลงทุนเริ่มระมัดระวังการใช้มากขึ้น ประกอบกับมาตรฐานในการลงทุนที่สูงขึ้น และการเน้นมองไปยังธุรกิจที่สามารถเติบโตได้จริง
แต่สำหรับบริษัทที่อยู่ใน Early Growth Stage จะมี Live Exchange ที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งมีเปิดตัวไป เพื่อเป็นตัวช่วยให้บริษัทสามารถเข้าไประดมทุนในระดับมหาชนด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ยาก, นักลงทุนที่เป็นสถาบันต่างๆ และการตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลระหว่างนักลงทุนกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับบริษัทที่เติบโตเร็ว
และในอนาคต เทรนด์ ESG จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากจำนวนของหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment) ในตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตขึ้นทุกปี นักลงทุนจะเริ่มหันมาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจ
3. การทำธุรกิจให้คู่ขนานไปกับ Partner และลูกค้า (Alignment)
ยุคถัดไป เศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจดั้งเดิมแบบเส้นตรง (Traditional Linear Economy) ไปสู่ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียนแบบทันสมัย (Modernized Circular Economy)’ เปลี่ยนจากการ ‘สร้าง ใช้ ทิ้ง’ กลายเป็นการเน้น ‘การนำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตใหม่ การบริโภคใหม่’ เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อโลกด้วย
แต่ในภาวการณ์ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 เทรนด์ของ Future Business จะหันไปให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่ (Default Alive) แทน ซึ่งประกอบไปด้วยการทำให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดที่บวก, การมีกระแสเงินสดสำรองอย่างน้อย 32 เดือน, การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน, การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก, การพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ และการโฟกัสสิ่งที่วัดผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment หรือ ROI) ที่ชัดเจน
Future You อนาคตที่เราวาดเอง
อย่างที่เห็นว่า ช่วงไตรมาส 4 บริษัททั่วโลกมีนโยบายการปลดพนักงานจำนวนมากอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจ และเราจึงจำเป็นต้องปรับตัวตาม โดยควรให้ความสำคัญกับคุณลักษณะ (Attribute) อย่างภาวะผู้นำจากธรรมชาติของตัวตน สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม (Charismatic Leadership) ควบคู่ไปกับความรู้ (Knowledge) และทักษะ (Skills)
ดร.ศรีหทัย ทิ้งท้ายเอาไว้อย่างคมคายว่า “ตราบใดก็ตามที่เราในบทบาทของผู้นำ ไม่สามารถทำให้ผู้ตามนำหน้าเราในเรื่องที่เขาถนัดได้ เราเองก็จะช้าอยู่อย่างงั้น No real future. It’s all about preparation now!! เตรียมมันวันนี้สำหรับอนาคต อย่ารอให้อนาคตมาแล้วเราค่อยรู้ว่าเราต้องทำ Time is money. Idle time is wasted time. อย่าปล่อยมันทิ้งไปสำหรับอนาคต”
แม้ในโลกของธุรกิจไม่มีสูตรความสำเร็จที่ตายตัว แต่หากเราเตรียมพร้อม ทำวันนี้ให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ต่อให้อนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปมากสักเท่าไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะผ่านมันไปด้วยดีเหมือนกับที่เคยผ่านมาในทุกๆ ครั้งได้อย่างแน่นอน!
สามารถรับชมงาน Future Trends Awards 2022 ย้อนหลังได้ที่นี่ : https://bit.ly/3BNVKfK