Type to search

ส่องแนวคิด ‘People Centric’ จากกลุ่มธุรกิจ TCP องค์กรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน พนักงานต้องมีความสุข และสนุกไปกับงาน

December 15, 2022 By Future Trends

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่าเทรนด์การทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมมาก อย่างชัดเจน เช่น เรื่อง Hybrid Workplace ที่ทุกวันนี้ หลายคนก็ทำงานทั้งจากที่บ้าน และที่ออฟฟิศกันเป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมคนทำงานที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

จากการสำรวจ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดย Gullup ได้ทำการสอบถามพนักงานในสหรัฐฯ จำนวน 13,085 คน ถึงสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าทำงาน พบว่า อันดับที่มีผู้ตอบให้ความสำคัญมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รายได้ ชีวิตที่สมดุล และการได้ทำงานที่ถนัด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างเรื่องความมั่นคงในอาชีพ และการเปิดรับความหลากหลายขององค์กรที่ได้รับความสนใจมากขึ้นจากเมื่อก่อน

จะเห็นได้ว่า ความต้องการของคนทำงานในแต่ช่วงเวลานั้น จะมีเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องรายได้ หรือความมั่นคง ขณะเดียวกันก็จะมีเทรนด์บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อย้อนกลับมาดูที่โจทย์สำคัญของ HR ในการทำให้องค์กรได้คนที่ต้องการแบบตรงใจ รวมถึงการต้องรักษาคนเก่งเอาไว้

จากโจทย์นี้ ไม่ว่าเทรนด์การทำงานหรือพฤติกรรมคนทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร หนึ่งหลักการ ที่ทรงประสิทธิภาพและหยิบมาใช้ได้ตลอดคือ ‘People Centric’ หรือการยึด ‘คนเป็นศูนย์กลาง’ 

‘People Centric’ คือการให้คุณค่าและความสำคัญกับ ‘พนักงาน’ โดยมุ่งสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดี ซึ่งเมื่อพนักงานสัมผัสได้ถึงคุณค่าที่องค์กรให้มา พวกเขาก็จะส่งมอบ ‘ประสบการณ์ที่ดี’ ไปถึงลูกค้าด้วยเช่นกัน

น่าสนใจว่าแนวคิดเบสิกอย่าง People Centric เมื่อนำมาปรับใช้กับความต้องการของคนทำงานที่เปลี่ยนไปในวันนี้จะเป็นอย่างไร Future Trends เลยอยากชวนทุกคนไปดูตัวอย่างองค์กรไทยที่โตไกลระดับโลกอย่าง ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ หนึ่งในผู้ที่ยึดมั่นให้พนักงานเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ จนกระทั่งเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง วันนี้ เขาได้ออกแบบการทำงานให้กับพนักงานอย่างไรบ้าง

เพราะ ‘พนักงาน’ สำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กร ‘People Centric’ จึงสำคัญกับองค์กรยุคใหม่

ก่อนที่จะไปดูตัวอย่างของกลุ่มธุรกิจ TCP เราอยากชวนทุกคนดูกันก่อนว่า ‘People Centric’ นั้นจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับองค์กรได้อย่างไร

3 เหตุผล ทำไม People Centric จึงสำคัญกับองค์กร

ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน

หากองค์กรเริ่มใส่ใจพนักงาน เมื่อพนักงานรับรู้ถึงสิ่งนี้ มันจะตัวจุดประกายความรู้สึกรักและผูกพันต่อองค์กร จนเกิดเป็นแรงจูงใจในการทำงาน และส่งผลต่อเนื่องทำให้พนักงานมีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น

ช่วยลดอัตราการลาออก

สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงานที่ดีช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน และจะทำให้พนักงานมีแนวโน้มอยู่กับองค์กรนานขึ้น สิ่งนี้ช่วยเน้นย้ำความสำคัญที่ว่า การออกแบบสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ทีเดียว

ช่วยเพิ่มการเติบโตขององค์กร

มีงานวิจัยที่ศึกษาองค์กรในที่มีการเติบโตดี พบว่าองค์กรเหล่านั้นต่างให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยองค์ประกอบหลายๆ อย่างภายในไม่ว่าจะเป็นพันธกิจ หรือตัวผู้บริหารต่างมีผลต่อความรู้สึกที่ดีของพนักงานทั้งสิ้น

จากประโยชน์ทั้ง 3 ข้อนี้ ก็น่าจะมากพอที่ทำให้หลายองค์กรหันมาสนใจและอยากนำมาปรับใช้ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์กันแล้ว ต่อไปเราจึงอยากพาไปดูตัวอย่างจาก ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ กันว่าองค์กรระดับโลกเขาสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดี และตอบโจทย์ความต้องการให้กับพนักงงานด้วยการสร้าง 3 ด้าน ซึ่งจะมีด้านไปบ้าง ไปดูกัน

ด้านที่ 1 สร้างสมดุลชีวิต เพื่อความมั่นคงในทุกๆ ด้านของพนักงาน

เพราะเรื่องของสมดุลชีวิตเป็นสิ่งสำคัญกับพนักงานทุกคน กลุ่มธุรกิจ TCP จึงมีวิธีสร้างสมดุลชีวิตให้กับพนักงาน ด้วยแนวคิด ‘Work-life integration’ ที่ช่วยให้พนักงานผสมผสานการใช้ชีวิตและการทำงานได้อย่างลงตัว 

ในชีวิตคนทำงานคนหนึ่ง เรื่องกาย ใจ และการเงิน 3 สิ่งนี้ ล้วนหลักสำคัญของชีวิตที่ต้องบริหารจัดการเป็นอย่างดี เรื่องนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP เข้าใจเป็นอย่างดี และได้สนับสนุนทั้ง 3 มิติให้กับพนักงานทุกคน ด้วยวิธีการ คือ

มิติกาย

ตอบโจทย์ความมั่งคง ปลอดภัยด้วยการสร้างโอกาสในการเติบโตให้พนักงาน ไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่ยังมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความแข็งแรงทางทักษะให้กับพนักงานด้วยช่องทาง TCP Learning+ แอปพลิเคชันให้พนักงานสามารถอัปสกิล รีสกิลได้ด้วยตัวเอง จะเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้

มิติใจ

เรื่องสุขภาพของพนักงานถือเป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือใจ ในด้านสุขภาพกายที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความใส่ใจกับความปลอดภัยของพนักงานมาก อย่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ TCP ก็เตรียมมาตรการดูแลพนักงาน พร้อมทั้งรีบจัดหาวัคซีนให้พนักงานอย่างทั่วถึง และมีการอบรมความรู้การช่วยขั้นพื้นฐานให้พนักงาน ในด้านสุขภาพจิตก็มีทีมงานคอยให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาทางจิตใจอีกด้วย

มิติการเงิน

ที่นี่มีสวัสดิการอย่างการให้พนักงานเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งสวัสดิการนี้จะช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กับพนักงาน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจ TCP ยังไม่ลืมที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงิน เพื่อพนักงานจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้านที่ 2 สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการทำงาน

เรื่อง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่เป็นมิตรเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะเอื้อต่อการทำงานของพนักงาน โดยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงาน ผ่านแนวคิด ‘3C’ (3 Changes) คือเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง เพื่อให้ตอบโจทย์คนทำงานได้อย่างแท้จริง

โดยเริ่มต้นจากการ ‘เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่’ ให้เป็น Open Office เปิดโล่ง และมีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้คนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ทั้งยังมีเทคโนโลยี่ทำให้สาขาไทยสามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ต่อมาคือการ ‘เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน’ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้แบบ Work From Anywhere อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ และยังมีการ Cross Functional ให้ทีมต่างสายงาน  ต่างสาขาได้มาทำงานร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะความรู้กันด้วย

ท้ายสุดคือการ ‘เปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่’ ในยุคดิจิทัลแบบนี้กลุ่มธุรกิจ TCP ก็ได้เตรียมเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้พนักงานพร้อมใช้งานได้อย่างสะดวก เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

ด้านที่ 3 สร้างพลังและพื้นที่ให้คนทำงานได้กล้าคิด กล้าลงมือทำ

ในด้านสุดท้าย เป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ที่กลุ่มธุรกิจ TCP มีการการออกแบบวัฒนธรรมได้อย่างสร้างสรรค์ให้ตรงกับบุคลิกของพนักงาน คือ ‘รุก บวก สุดพลัง’ 3  คำนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมสู้ในการทำงานของพนักงาน โดยแต่ละคำจะสื่อถึงลักษณะ ดังนี้

‘รุก’ คือ การปลุกความกล้าคิด กล้าทำ กล้าออกไอเดียใหม่ๆ รวมถึงการตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ข้อมูล

‘บวก’ คือ การคิดในแง่บวก ทำงานอย่างเปิดใจ และคอยรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ 

‘สุดพลัง’ คือ การพร้อมลุยงานอย่างเต็มที่ พร้อมสู้กับทุกปัญหาและความเปลี่ยนแปลง

วัฒนธรรมองค์กรทั้ง 3 ข้อนี้ ล้วนแสดงเห็นภาพของพนักงานที่นี่ ได้อย่างชัดเจนทีเดียว และตัวอย่างทั้งหมดนี้ จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจ TCP ได้ให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยการออกแบบประสบการณ์แต่ละอย่างล้วนมาจากการมองที่ตัวคนทำงานเป็นหลัก ซึ่งการจะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ต้องมาจากการที่เขาเชื่อว่า ‘กุญแจสำคัญที่จะปลุกพลังธุรกิจเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ก็คือ คน’ 

สำหรับใครที่อยากนำแนวคิด People Centric ไปปรับใช้ สามารถเริ่มต้นได้จากการมีมายเช็ต (Mindset) ที่เชื่ออย่างแท้จริงก่อนว่า ‘คนในองค์กร’ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนในธุรกิจของคุณ

Sources: https://bit.ly/3W4ai38

https://bit.ly/3PsiJCA