Type to search

“ไม่เป็นไรหรอก ถ้าจะมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นบ้าง” เข้าใจ ‘Tragic Optimism’ การคิดบวกตามความเป็นจริง

January 02, 2023 By Chompoonut Suwannochin
tragic-optimism

ในแต่ละวันมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย บางเรื่องก็ดี ในขณะที่บางเรื่องก็แย่ เพราะปัญหายากๆ เรื่องราวหนักๆ นั้นพร้อมเข้ามาทดสอบเราทุกวัน โดยที่บางทีก็อาจจะไม่มีเวลาให้ได้ตั้งตัวก่อนด้วยซ้ำ

หลายคนพอเจอเรื่องแย่ๆ แบบนี้เข้า ก็เลยเลือกจะ Shape ตัวเองด้วยการมองโลกในแง่บวกหรือการบอกว่า “ฮึบเข้าไว้ เดี๋ยวก็หาย” ทว่า แท้จริงแล้ว วิธีนี้ก็ไม่เวิร์กสักเท่าไร เพราะการคิดบวกมากจนเกินไปก็อาจกัดกร่อนจิตใจของเราให้พังได้ไม่แพ้การคิดลบมากเกินไปเช่นกัน หรือที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Toxic Positivity’

ครั้งหนึ่ง โรเบิร์ต เอมมอนส์ (Robert Emmons) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอรืเนีย เดวิส (University of California Davis) ได้กล่าวว่า “การปฏิเสธว่าชีวิตมีชิ้นส่วนของเรื่องที่ผิดหวัง ความสูญเสีย ความเจ็บปวด ความพ่ายแพ้ และความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่ไม่สมจริง ชีวิตคือความทุกข์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่มีแบบฝึกหัดการคิดบวกไหนที่จะเปลี่ยนความจริงข้อนี้ได้”

tragic-optimism 1

ในปี 1985 วิกเตอร์ แฟรงค์ (Viktor Frankl) นักจิตวิทยาสายอัตถิภาวนิยมชาวออสเตรียได้นำเสนอแนวคิด ‘Tragic Optimism’ ที่เป็นเหมือนยาถอนพิษชั้นดีของ Toxic Positivity ว่า เป็นการมองโลกไปตามสภาพความเป็นจริงหรือการคิดบวกอย่างน่าเศร้า มีความหวัง แต่ก็รับรู้ถึงความเจ็บปวด Balance ตาชั่งสองฝั่งไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้หลอกตัวเอง ฝังหัวว่าจะต้องมองทุกอย่างแง่งามหรือปลีกตัวออกห่างจากความเป็นจริงไปเสียทั้งหมด

โรเบิร์ตเสริมว่า ความซาบซึ้งไม่ใช่แค่สวิตซ์ที่เปิดเมื่อทุกอย่างกลับมาราบรื่น แต่ยังเปรียบเสมือนแสงไฟที่ส่องสว่างในความมืดมิดด้วย นอกจากนี้ นักวิจัยที่ศึกษาเรื่อง ‘การเติบโตหลังผ่านเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ (Post-traumatic Growth)’ ก็ยังพบด้วยว่า คนเราสามารถเติบโตในช่วงเวลายากๆ ได้หลายวิธี รวมไปถึงความซาบซึ้ง เห็นคุณค่าของชีวิต และความสัมพันธ์ของตนเองมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น การใช้จุดแข็งในการพัฒนาจิตวิญญาณ และความคิดสร้างสรรค์ด้วย

กุญแจสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์สะเทือนใจที่นำไปสู่การเติบโตโดยตรง เหมือนกับที่ไม่มีใครรู้สึกขอบคุณโควิด-19 แต่เกิดขึ้นจากวิธีการประมวลผลเหตุการณ์นั้นของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนไป และการค้นหาความหมายในระหว่างนั้นกับต่อจากนั้น

การแสดงความซาบซึ้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้ผู้คนเติบโตขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย การฝึกแสดงความซาบซึ้งเป็นประจำนั้นส่งผลดีในด้านสุขภาพจิต ช่วยลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความผิดปกติของการใช้สารเสพติดลง

tragic-optimism 2

พอล วอง (Paul Wong) นักจิตวิทยาคลินิก และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเทรนต์ (Trent University) แนะนำว่า มันไม่เป็นอะไรที่จะรู้สึกแย่ มันไม่เป็นอะไรที่จะรู้สึกกังวล ยินดีต้อนรับสู่คลับโลกมนุษย์ ไม่ต้องถึงขั้นปล่อยให้ความรู้สึกลบครอบงำ หรือปล่อยให้ความรู้สึกบวกกัดกร่อนเราจนเป็นพิษก็ได้ แม้การยิ้มสู้อาจน่าเย้ายวนใจ แต่การมองโลกไปตามสภาพความเป็นจริงแบบ Tragic Optimism เนี่ยแหละที่จะช่วยให้เราเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และได้พักหายใจระหว่างรอไปถึงมัน

จริงๆ แล้ว การคิดบวกไม่ใช่สิ่งที่แย่ มากไปกว่านั้นมันยังเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตที่ใช้ได้จริงกับชีวิตเราอยู่ แต่บางครั้งอะไรที่มากหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดี ไม่จำเป็นต้อง Don’t Worry, Be Happy ตลอดเวลาก็ได้

เหมือนกับใจความหนึ่งในหนังสือ ‘คิดถึงตอนนั้นเหมือนกันนะ’ ที่ได้บอกเล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราไปซะทุกอย่างหรอก ท้อก็พัก เหนื่อยก็นอน อย่าไปรู้สึกกับทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิตเลย ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จงเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้เป็น” นั่นเอง…

Sources: หนังสือคิดถึงตอนนั้นเหมือนกันนะ เขียนโดย ง่วง

https://bbc.in/3F5LMbM

https://bit.ly/3OLnAOX

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง