Type to search

“อ่อนแอบ้างก็ได้ ไม่ต้องเก่งทุกเรื่องหรอก” ว่าด้วย ‘Pleasanteeism’ ด้านมืดที่ทำให้เราสบายดีทั้งที่ในใจพังไปหมดแล้ว

December 04, 2022 By Chompoonut Suwannochin
pleasanteeism-okay-but-not-okay

“เหนื่อยแต่ต้องเก็บไว้ อ่อนล้าแต่ไม่กล้าบอกใคร ปากบอกไม่เป็นอะไร สะกดความรู้สึกแย่เอาไว้ในใจอยู่ดี เพราะลึกๆ แล้ว เราเองก็ไม่ได้อยากกลายเป็นก้อนพลังงานลบให้คนอื่น”

ถ้าคุณกำลังเผชิญภาวะแบบนี้ นั่นแสดงว่า คุณอาจจะตกอยู่ในหลุมพรางของภาวะ ‘Pleasanteeism’ อยู่ก็ได้

pleasanteeism-okay-but-not-okay 1

Pleasanteeism คือคำที่ใช้เรียกภาวะของคนที่พยายามแสดงพลังบวก ทำตัวเป็นมิตร ฝืนยิ้มเหมือนกับว่า ฉันสบายดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมรับทุกปัญหาที่ดาหน้าเข้ามา แต่ในใจกลับรู้สึกเหนื่อยล้ากับการต้องแสดงพลังบวก โดยคนที่มีอาการแบบนี้มักจะเลือกซุกปัญหา และกดความกดดัน ความเครียดเอาไว้ใต้พรม

งานวิจัยเรื่อง ‘Keeping Up Appearances: How ‘Pleasanteeism’ is Eroding Resilience’ ของ Lime Insurance ได้พูดถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากบรรทัดฐานสังคม หลายๆ คนมองว่า การประสบกับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ และการเล่าถึงอาการป่วยเป็นความอ่อนแออย่างหนึ่ง มันคือความกดดันที่ต้องแสดงออกว่า ‘โอเค’ อยู่ตลอด

โดยผลการทดลองระบุว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์ออฟฟิศในสหราชอาณาจักรยอมรับว่า ตนรู้สึกถูกกดดันให้ปั้นหน้า แสดงท่าทีว่ามีความสุขกับเพื่อนร่วมงาน, 25 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า เมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง ตนจะเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน 34 เปอร์เซ็นต์บอกว่า กำลังดิ้นรนเอาตัวรอดในพาร์ตชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับงาน และอีก 19 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ อยู่ท่ามกลางสายตาผู้คน ตนรู้สึกกังวล และเครียด

รวมไปถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ยังบอกว่า ความเครียดส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพของการทำงาน, 28 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ตนไม่โปรดักทีฟ, 17 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ไม่ค่อยมีสมาธิ ทำงานพลาดอยู่บ่อยๆ และอีก 17 เปอร์เซ็นต์ ก็บอกเช่นกันว่า มักลืมทำสิ่งสำคัญ

pleasanteeism-okay-but-not-okay 2

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของเลียก์ ไวสส์ (Leah Weiss) ศาสตราจารย์โรงเรียนสอนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และผู้แต่งหนังสือ ‘How We Work: Live Your Purpose, Reclaim Your Sanity, and Embrace the Daily Grind’ กับชาวนา ชาพิโร (Shauna Shapiro) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซานตาคลารา (Santa Clara University) และนักจิตวิทยาคลินิก ก็ยังชี้ให้เห็นว่า บางทีการยอมรับให้ตัวเองอ่อนแอบ้าง หรือการใจดีกับตัวเองก็เป็นการสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิตด้วย

Self-kindness และ Self-compassion เป็นสิ่งสำคัญ ชาวนาแนะนำว่า ให้ใช้ ‘สูตร 15 เปอร์เซ็นต์’ กับตัวเอง ลองเมตตากับตัวเองเพิ่มสัก 5 เปอร์เซ็นต์ เห็นอกเห็นใจ ใจดีกับตัวเองอีกสัก 5 เปอร์เซ็นต์ และเชื่อมั่นในตัวเอง 5 เปอร์เซ็นต์

เพราะคนเราอ่อนแอบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก่งตลอดเวลาหรอก It’s okay to not be okay. ใจดีกับคนอื่นมามากแล้ว รักคนอื่นมาเยอะแล้ว อย่าลืมหันกลับมาแคร์คนสำคัญที่สุดในโลกใบนี้ที่ชื่อว่า ‘เรา’ ด้วยล่ะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3i1l0bg

https://bit.ly/3OxIRvy

https://bit.ly/3Xtt2dk

https://bit.ly/3F1oiob

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง