Type to search

ซ่อนความต้องการที่แท้จริงไว้หลังประตู ‘Door in the face’ เทคนิคเพิ่มตัวเลือกให้อีกฝ่ายเดินตามเกมที่ต้องการ

December 04, 2022 By Chompoonut Suwannochin
door-in-the-face-technique

“เกี่ยงงาน หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ พอ Assign อะไรไป ก็ปฏิเสธหรือบ่นตลอด”

หากคุณกำลังเจอกับปัญหานี้ในทีมอยู่ ที่ต่อให้งานนั้นจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน แต่สุดท้ายแล้ว ก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกที ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Door in the face’ เทคนิคเพิ่มตัวเลือก เพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายเดินตามเกมที่เราต้องการกัน

เทคนิค Door in the face คืออะไร

door-in-the-face-technique 1

เทคนิค Door in the face คือเทคนิคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจิตวิทยาของการ ‘ขอมาก’ ก่อน จากนั้น จึงค่อย ‘ขอน้อย’ ทีหลัง เพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายเลือกตกลงตามคำขอมากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคดังกล่าวก็มีต้นกำเนิดจากการทดลองกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครจำนวน 2 กลุ่ม ของโรเบิร์ต ชาลดินี (Robert Cialdini) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยในแอริโซนา (Arizona State University) เมื่อปี 1975

กลุ่มแรก เขาได้ขอให้อาสาสมัครไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมประมาณ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 ปี  ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยระยะเวลานานเท่านี้ ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธคำขอทันที ต่อมา เขาเลยลองเปลี่ยนขนาดของคำขอให้เล็กลงโดยการขอให้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่สวนสัตว์เพียง 1 วัน แทน ผลปรากฏว่า มีมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอบตกลง

ส่วนกลุ่มที่สอง เขาขอให้อาสาสมัครไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่สวนสัตว์ 1 วัน เพียงคำขอเดียวเท่านั้น ผลปรากฏว่า มีแค่ 17 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอบตกลง ซึ่งก็เป็นจำนวนที่น้อยกว่าผลลัพธ์ของกลุ่มตัวอย่างแรกอย่างสิ้นเชิง

โอคีฟ (O’Keefe) และฟิเก้ (Figé) ตั้งข้อสังเกตว่า การยอมรับคำขอที่สองเป็นการช่วยลดความรู้สึกผิด จูงใจให้อีกฝ่ายยอมตกลงหรือเลือกปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ รวมไปถึงโรเบิร์ต เจ้าของการทดลองก็ยังบอกอีกเช่นกันว่า สมองของคนเรามักตีความขนาดของความต้องการที่ลดลงระหว่างคำขอแรก และสองว่า ‘เป็นการประนีประนอม’ ด้วย

เราจะเอาเทคนิค Door in the face ไปใช้กับโลกการทำงานได้อย่างไร?

door-in-the-face-technique 2
Image by master1305 on Freepik

จริงๆ แล้ว เราสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้กับหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงานลูกน้อง การประชุม หรือแม้กระทั่งการต่อรองเงินเดือนก็ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาสั่งงานหรือเรียกประชุม อาจจะลองใช้คำขอยากๆ ที่กินเวลานานหรือด่วนที่สุดอย่างวันนี้ดูก่อน หลังจากนั้น จึงเสนอคำขอที่ง่ายกว่าตามมา ซึ่งก็อาจจะเป็นระยะเวลาการประชุมที่สั้นลง หรือ Timing ในการทำงานที่ด่วนน้อยกว่าอย่างการส่งพรุ่งนี้หรือวันอื่นแทน เป็นต้น

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเทคนิคนี้ เคยใช้ไหม เวิร์กกว่าเทคนิค Foot in the door ขอน้อยก่อนแล้วค่อยขอมากทีหลังรึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3UHxcN4

https://bit.ly/3g7oJDH

https://bit.ly/3TEfE2P

https://bit.ly/3gaoHuP

https://bit.ly/3GihPpG

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง