“จะรู้สึกแย่แค่ไหนก็ต้องทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่ดี” เมื่อรสชาติของการเป็นผู้ใหญ่ เสียใจแค่ไหนก็ต้องไปทำงานให้ได้
อกหัก รักคุด แฟนทิ้ง แม่ป่วย หมาตาย
ตอนเด็กๆ สมัยเรียน เวลาที่เรารู้สึกแย่กับปัญหาส่วนตัว อย่างน้อยที่สุด ก็ยังโดดเรียนมานอนพักใจหรือออกไปท่องโลกได้
แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต่อให้จะเจอเรื่องราวแสนสาหัส ลูกค้าตำหนิ หัวหน้าคนโปรดลาออก ไม่ว่าข้างในจะรู้สึกแตกสลาย เมื่อคืนหรือชั่วโมงก่อนแอบร้องไห้ตาบวมปูด แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องฮึบเอาไว้ แบกร่างอันอ่อนล้ากับใจพังๆ ไปทำงานให้ได้อยู่ดี รวมไปถึงบางทีก็อาจจะต้องทำตัวกลบเกลื่อนเหมือนกับว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม อย่างที่รู้กันว่า การได้บอกเล่าปัญหา ระบายความอัดอั้นให้ใครสักคนฟังนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการยกภูเขาออกจากอก คลายความทุกข์ใจให้เบาบางลง แต่ว่ากันตามตรง จริงๆ แล้ว เรื่องราวแบบนี้ก็อาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนศรกลับมาทำร้ายเราได้ด้วย
อัล สวิตซ์เลอร์ (Al Switzler) ผู้แต่งหนังสือ Crucial Conversations: Tools for Talking When Stakes Are High อธิบายว่า ตามปกติแล้ว เมื่อเกิดปัญหา คนเรามักรู้สึกว่า จะต้องหาที่ระบายความคับข้องใจ แต่แท้จริง มันไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดที่ออฟฟิศ เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า เป็นการบ่นหรือนินทา
“เรื่องที่ควรเล่าควรเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรเป็นประเด็นที่ทำให้คนอื่นตั้งคำถามว่า เราเองกำลังเรียกร้องสิทธิพิเศษ”
ลิซ โอ ดอนเนล (Liz O’Donnell) ผู้แต่งหนังสือ Mogul, Mom, & Maid: The Balancing Act of the Modern Woman เสริมว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง การลงรายละเอียดที่มากเกินไปก็อาจทำให้เราพลาดตำแหน่ง และความก้าวหน้าดีๆ
นอกจากนี้ คาที เอลสเตอร์ (Kathi Elster) โค้ช และผู้แต่งหนังสือ Mean Girls at Work: How to Stay Professional When Things Get Personal ก็บอกเช่นกันว่า เราไม่ควรเล่าให้เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานฟังเกี่ยวกับปัญหาทางการเงิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์กับแฟน ปัญหารถ ปัญหาเพื่อนบ้าน และปัญหาคดีความ เพราะอาจทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ และทำให้พวกเขามองเราเปลี่ยนไป
ในหลายๆ ครั้ง ความลึกลับก็เป็นเรื่องที่ดี มันทำให้คนคนหนึ่งน่าสนใจ ออฟฟิศก็เช่นกัน หากเล่าทุกอย่างที่คิด ที่เห็น ที่รู้สึกออกไป ถึงจะทำให้ได้รับความสนใจ แต่ลึกๆ แล้ว ก็อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อของการพูดลับหลัง
อีกทั้ง การตั้งของใช้ส่วนตัวที่มากเกินไปไว้บนโต๊ะทำงานก็อาจทำให้เราถูกตัดสินแบบผิดๆ ตั้งแต่แว็บแรกไปโดยปริยาย ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ การแยกข้อมูลส่วนตัวออกจากออฟฟิศ ขีดเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวนับเป็นเรื่องสำคัญเมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ลิซแนะนำว่า ก่อนคิดจะเล่าปัญหาส่วนตัวให้หัวหน้าหรือใครสักคนที่ออฟฟิศฟัง อย่างแรก ให้สังเกตวัฒนธรรมองค์กรก่อนว่า สามารถแบ่งปันได้แค่ไหน? ลองดูว่า หัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงมีความหลากหลายหรือไม่ คุณสมบัติที่องค์กรให้คุณค่าเป็นอย่างไร? และควรดูบรรยากาศ สภาพแวดล้อมรอบๆ ทั้ง Character และนิสัยใจคอของหัวหน้าหรือคนที่จะเล่าปัญหาให้ฟังด้วย
กอร์ดอน เวนยาร์ต (Gordon Veniard) ที่ปรึกษาด้านการจัดการ อธิบายว่า ถ้าหัวหน้าเป็นคนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ จริงจังกับงาน บางครั้งการลงรายละเอียดที่มากเกินไปอาจทำให้พวกเขารู้สึกไม่พึงพอใจนัก แต่ถ้าหัวหน้าเป็นคนที่ชื่นชอบรายละเอียด การกระทำดังกล่าวอาจก็ทำให้พวกเขารู้สึกเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีนั่นเอง
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเฟล เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สุข เศร้า เหงา แฮปปี้ได้
It’s just a bad day. Not a bad life. แม้เราจะมี Bad day, Bad moment หรือ Bad taste ของความเป็นผู้ใหญ่ แต่มันนั่นก็ไม่ได้แปลว่า ชีวิตจะแย่ไปหมดซะทุกเรื่อง
ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังเผชิญกับเรื่องอะไรอยู่ ก็อย่าลืมที่จะ ‘ให้โอกาสตัวเองได้เริ่มต้นใหม่ในทุกๆ วัน’ ด้วยล่ะ 🙂
Source: https://bit.ly/3hjyhvF