โมโหใส่ทีมโดยไม่ตั้งใจ แก้ปัญหาอย่างไรดี? รู้จัก ‘Decoding Emotion’ ศาสตร์แห่งการถอดรหัสทางอารมณ์ให้รู้เท่าทันตัวเอง
หากจะกล่าวว่า “อารมณ์เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะคิดหรือตัดสินใจทำอะไร อารมณ์จะเข้ามาเป็นตัวตั้งก่อนเสมอ ต่อให้มีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าเข้ามาสนับสนุนความคิดอย่างไร ก็ยังไม่ทรงอิทธิพลเท่ากับการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เพียงครั้งเดียวอยู่ดี
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตของมนุษย์ล้วนเกิดจากการใช้อารมณ์ ความเชื่อ และสัญชาตญาณทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักใครสักคน การช็อปปิงอย่างบ้าคลั่ง หรือแม้แต่การทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายก็ตาม บางครั้งการอธิบายสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุผลเป็นประโยคยาวๆ ยากกว่าการหาคำแทนความรู้สึกหนึ่งคำเสียอีก
เมื่ออารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตามมนุษย์ทุกคนไปทุกที่ อารมณ์ของแต่ละคนย่อมมีอิทธิพลส่งถึงกัน โดยเฉพาะสังคมการทำงานที่ชาวออฟฟิศต้องมาพบปะและใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 1 ใน 3 ของวัน เพื่อทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง และผลักดันเป้าหมายของบริษัทให้สำเร็จ
ในแต่ละวัน ชาวออฟฟิศแต่ละคนเดินทางมาทำงานในอารมณ์ที่ต่างกันออกไป บางคนมาทำงานด้วยความรู้สึกเชิงบวก บางคนมาทำงานด้วยความรู้สึกเชิงลบ เมื่อทุกคนเข้ามานั่งทำงานในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ จะมีการส่งผ่านความรู้สึกของกันและกันโดยไม่รู้ตัว
ถ้าเป็นการส่งผ่านความรู้สึกเชิงบวกก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าเป็นการส่งผ่านความรู้สึกเชิงลบคงไม่มีใครต้องการให้เป็นเช่นนั้น แล้วชาวออฟฟิศจะจัดการอารมณ์ของตัวเองไม่ให้เข้ามามีผลกับการทำงานได้อย่างไร?
Future Trends จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Decoding Emotion’ ศาสตร์แห่งการถอดรหัสทางอารมณ์ที่ช่วยให้คนทำงานรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ก่อนพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน และส่งผ่านความรู้สึกไปสู่กันและกัน
Decoding Emotion คือการถอดรหัสทางอารมณ์ หรือการพยายามทำความเข้าใจว่า ตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร ถือเป็นผลจากการที่คนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนเข้าใจความรู้สึกและเข้าถึงความลุ่มลึกทางอารมณ์ของตัวเอง ทำให้อารมณ์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม จนกลายเป็นประเด็นที่ทุกวงการต้องให้ความสนใจมากขึ้นในปี 2023
ถึงแม้ตอนนี้ Decoding Emotion จะเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทในวงการธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเข้าถึงลูกค้าผ่านการสร้างเรื่องราวให้เชื่อมโยงกับความรู้สึกและอารมณ์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโลกการทำงานกลับไม่พบความต่างขนาดนั้น เพราะท้ายที่สุด การดึงคนที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ ต้องอาศัยการส่งผ่านความรู้สึกเชิงบวกต่อกันอยู่ดี
The Center for Growth องค์กรให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ได้แนะนำ 3 ปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนควรสังเกตตัวเอง เพื่อถอดรหัสทางอารมณ์ และพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. เหตุการณ์และความคิด
การแสดงออกทางอารมณ์ทุกรูปแบบล้วนมีสาเหตุและที่มาเป็นของตัวเอง พยายามนึกย้อนกลับไปว่า สิ่งที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในห้วงอารมณ์เช่นนี้คืออะไร รวมถึงสังเกตปัจจัยที่กระตุ้นให้การแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงขึ้นด้วย อาจมีการจดบันทึกไว้เป็นเรื่องราว เพื่อเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ จนนำไปสู่การพัฒนาตัวเองให้มีความฉลาดทางอารมณ์ยิ่งขึ้น
2. ปฏิกิริยาและอารมณ์
หลังจากที่พยายามนึกย้อนไปจนพบสาเหตุที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในห้วงอารมณ์บางอย่าง ให้เจาะลึกไปที่รายละเอียดของการแสดงอารมณ์ เช่น เหตุการณ์ A ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ และ B เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อารมณ์โกรธรุนแรงมากขึ้น หรือเหตุการณ์ C ทำให้อารมณ์สดใสมาก แต่ D เป็นสิ่งที่ยับยั้งความรู้สึกจากเหตุการณ์ C
การพยายามลิสต์ลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์ออกมาเป็นข้อๆ เปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ และแสดงท่าทีที่เหมาะสมเวลาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน เช่น กำลังรู้สึกเครียดจากการประชุมก่อนหน้า อาจจะขอเลื่อนการพูดคุยงานส่วนอื่นกับทีมออกไปก่อน เพื่อจัดการอารมณ์ที่ยังค้างคา และทำให้ประสิทธิภาพการคุยงานดีกว่าเดิม
3. การแสดงออกทางร่างกาย
การแสดงออกทางอารมณ์ไม่ได้มีผลทางจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อการแสดงออกทางร่างกายด้วยอย่างที่หลายคนเคยได้ยินคำว่า ‘โกรธจนตัวสั่น’ หรือ ‘โมโหจนหน้าแดง’ ทำให้การถอดรหัสทางอารมณ์ไม่ได้มีประโยชน์แค่การรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงการทำงานของร่างกายที่มีประโยชน์ต่อการสำรวจปัจจัยด้านสุขภาพของตัวเอง
ถึงแม้ความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นปัจจัยการทำงานที่หลายคนมองข้าม และโฟกัสที่การบริหารงานกับดูแลทีมมากกว่า แต่การเป็นพนักงานที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะช่วยให้ทีมเติบโตไปพร้อมๆ กัน และร่วมมือร่วมใจทำงานให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี ทำให้คนทำงานต้องใส่ใจในการพัฒนาทักษะการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น
Sources: http://bit.ly/3EalYJE
อีบุ๊ก (E-Book) เจาะเทรนด์โลก 2023 โดย TCDC