ทุกวันนี้เราไป ‘ห้างสรรพสินค้า’ เพราะอะไร?
เลือกซื้อสินค้าตามความต้องการ
พักผ่อนหย่อนใจกับอากาศเย็นๆ จากแอร์ฉ่ำๆ
ใช้เวลากับคนพิเศษที่ร้านอาหารสุดโปรด
จะเห็นว่า บทบาทของห้างสรรพสินค้าไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ที่มีการจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภทเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่แห่ง ‘ชีวิต’ ที่มีผู้คนแวะเวียนมาทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นซื้อของ เดินเล่น พักผ่อน หรือทานข้าวก็ตาม
และที่สำคัญ บทบาทของการเป็นสถานที่แห่งชีวิตก็ฉายชัดมาตั้งแต่อดีตแล้ว…
ย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นในไทยมากมาย และเป็นห้างในตำนานที่ได้ยินชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ดิโอลด์ สยาม ไทยไดมารู และ ‘พาต้า’ ตัวเอกของเรื่องราวที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ด้วย
ถึงแม้หลายๆ คนจะรู้สึกว่า ห้างสรรพสินค้ายุคปัจจุบันแข่งขันกันทางกลยุทธ์อย่างดุเดือดแล้ว แต่ห้างสรรพสินค้ายุคเก่าก็มีการแข่งขันที่ดุเดือดไม่แพ้กัน แต่ละห้างจะชูจุดเด่นความเป็น ‘ที่สุด’ ของตัวเอง เช่น บันไดเลื่อนตัวแรกของไทยอยู่ที่ไทยไดมารู หรืออย่างพาต้าก็มีลิฟต์แก้วและสวนสัตว์โชว์ ‘คิงคอง’ อยู่ชั้นบนสุดของห้าง
สำหรับพาต้าการมีสวนสัตว์อยู่บนห้าง ถือเป็นจุดเด่นและภาพจำสำคัญที่ช่วยดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาขอซื้อ ‘บัวน้อย’ คิงคองที่อยู่กับพาต้ามาหลายสิบปี เพื่อส่งกลับบ้านเกิดที่ประเทศเยอรมนี เพราะกระแสสังคมต้องการให้บัวน้อยกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น
หลังจากที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมาสักพัก พาต้าก็ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า ไม่มีการเจรจาซื้อขายบัวน้อยแต่อย่างใด พร้อมทั้งจะดูแลบัวน้อยที่เป็นคิงคองตัวสุดท้ายในไทยอย่างดีที่สุด ถือเป็นการปิดฉากประเด็นดราม่าอย่างชาญฉลาดเลยทีเดียว
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พาต้าต้องฝ่าดราม่า แต่ทุกช่วงเวลาของการทำธุรกิจกว่า 40 ปี พาต้าต้องฝ่าฟันมรสุมที่พัดผ่านเข้ามาตลอด จนกลายเป็น ‘แมว 9 ชีวิต’ ที่ใครก็ฆ่าไม่ตาย และยืนหยัดในโลกธุรกิจมาถึงทุกวันนี้
เรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังห้างเก่าแก่ย่านฝั่งธนฯ แห่งนี้คืออะไร? Future Trends จะพาทุกคนไปสำรวจพร้อมๆ กัน
พาต้า เป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ‘ตระกูลเสริมศิริมงคล’ มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งห้างจนถึงปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลนี้คือร้านขายของ 7 คูหาย่านอินทรา ถนนราชปรารภที่กลายเป็นพาต้าสาขาแรกในเวลาต่อมา
เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ‘วินัย เสริมศิริมงคล’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพาต้าเริ่มมองหาลู่ทางในการขยายกิจการ ทำให้ในปี พ.ศ. 2525 พาต้าสาขาที่ 2 อย่าง ‘พาต้า ปิ่นเกล้า’ ที่เคยเป็นไอคอนิกของ ‘ห้างครบวงจร’ ย่านฝั่งธนฯ ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นพาต้าเพียงสาขาเดียวที่ยังคงเปิดให้บริการในปัจจุบัน
ด้วยการวางจุดยืนเป็นห้างครบวงจรที่มีโรงภาพยนตร์ หอคอยชมวิว สวนสัตว์ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้พาต้ากลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของวัยรุ่นยุค 80 แต่ความหอมหวานในโลกธุรกิจไม่อาจอยู่ได้ตลอดกาล เมื่อมรสุมลูกใหญ่ค่อยๆ พัดผ่านเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า ไม่ว่าจะเป็นพิษเศรษฐกิจที่เวียนกลับมาเป็นวัฏจักรอยู่เรื่อยๆ ลักษณะการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนที่เปลี่ยนไป และความแข็งแกร่งของคู่แข่งรายอื่นๆ
ซึ่งพาต้าสามารถฝ่าฟันมรสุมทั้งหมดมาได้ และลบคำครหาที่ใกล้ลาโลกธุรกิจไปเต็มที แต่สถานการณ์ในปัจจุบันของพาต้าไม่ได้เอื้อพอที่จะบอกว่า สามารถฝ่าฟันมรสุมมาได้อย่างปลอดภัย เพราะพาต้ากำลังขาดทุนสะสมเป็นมูลค่ามากกว่าหลักล้าน ทำให้หลายๆ คนเริ่มตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของห้างแห่งนี้
ปัจจุบัน พาต้าอยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นสองจากตระกูลเสริมศิริมงคลที่เพิ่งรับตำแหน่งมาได้ไม่นาน ทำให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงยังคงมีความไม่แน่นอน แต่จากสถานการณ์ของพาต้าในตอนนี้ เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใน 2 ทิศทาง ได้แก่ การเปิดหน้าชนกับคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และการพาตัวเองไปอยู่ในน่านน้ำใหม่ที่มีคู่แข่งน้อยมากๆ
หากเลือกทางแรก พาต้าก็ต้องเตรียมรับมือกับแรงปะทะจากคู่แข่งรายใหญ่อย่างเครือเซ็นทรัลและเดอะมอลล์กรุ๊ปที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าสูงสุดสองอันดับแรก รวมถึงต้องต่อสู้กับคู่แข่งน้องใหม่ไฟแรงที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าด้วย
ดังนั้น การพาตัวเองไปอยู่ในน่านน้ำใหม่ อาจจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจกว่า เพราะห้างสามารถดึงจุดแข็งที่มีอยู่แล้วอย่างสวนสัตว์พาต้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพลิกทำกำไร เพื่อฝ่าฟันมรสุมและยืนหยัดในโลกธุรกิจได้ต่อไปภายใต้ชื่อ ‘พาต้า’ เช่นเดิม
ระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ความเป็น ‘แมว 9 ชีวิต’ ของพาต้าที่มีทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และหลังจากนี้ เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงของพาต้าจะเป็นไปในทิศทางใด
Sources: https://bit.ly/3f7rXqh