กลัวความผิดพลาด จนไม่กล้าลงมือทำ ‘Loss Aversion’ อาการหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ทำพังไปทั้งองค์กร
ในโลกของการทำงานมีความท้าทายรออยู่ตรงหน้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจในแต่ละวัน ปัญหาที่ต้องเผชิญ หรือแม้แต่การกำหนดทิศทางการทำงานของตัวเองในอนาคต
หลายๆ คนคงใฝ่ฝันถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง และหนทางที่จะพาไปให้ถึงจุดนั้นได้ คือการพาตัวเองไปพบเจอสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ รวมถึงพยายามพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อมสู่การไปถึงจุดที่วาดฝันไว้
ถึงแม้การลงมือทำสิ่งใหม่ๆ จะเป็นความท้าทายที่ทำให้ใจเต้นแรง แต่การรวบรวมความกล้าออกไปทำสิ่งเหล่านั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะคำว่า ‘ผิดพลาด’ และ ‘สูญเสีย’ ทำให้หลายคนรู้สึกกลัว
บางคนต้องการเปลี่ยนงานเพื่อค้นหาชีวิตบทใหม่ของตัวเอง แต่ก็ไม่กล้าลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพราะกลัวว่างานใหม่จะไม่เป็นอย่างที่คิด หรือในมุมของหัวหน้าที่ต้องการพัฒนาทักษะการทำงานของทีม กลับไม่กล้าสร้างความท้าทายใหม่ๆ เพราะกลัวทีมไม่พอใจที่อยู่ดีๆ มาเพิ่มงานให้
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่มีผลต่อชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง จะเกิดความกลัวขึ้นมาทุกที หลายๆ คนต้องการที่จะหลุดพ้นจากห้วงความรู้สึกเช่นนี้ และพยายามค้นหาสาเหตุว่า ทำไมความรู้สึกเช่นนี้ถึงเกิดขึ้นกับตัวเอง?
จริงๆ แล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นกลไกทางอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใด และมีคำที่นิยามความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ว่า ‘Loss Aversion’ หรือ ‘อาการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย’ นั่นเอง
Loss Aversion คืออะไร?
“คนเราเสียใจกับการสูญเสีย มากกว่าดีใจกับการได้รับ”
“losses loom larger than gains”
นี่คือความหมายที่สื่อถึงคำว่า ‘Loss Aversion’ ได้ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นคำพูดที่มาจาก ‘แดเนียล คาฮ์นะมัน’ (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้ให้กำเนิดคำนี้
ความสูญเสียส่งผลกระทบกับจิตใจมากกว่าการได้รับถึง 2 เท่า บางคนเวลาที่ได้รับคำชม จะรู้สึกอิ่มเอมใจแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เวลาที่ได้รับการติ ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในใจนานกว่า หรือบางคนตัดสินใจทำอะไรสักอย่างไปแล้ว แต่ให้ผลลัพธ์ในทางตรงข้ามจากที่คิดไว้ จะรู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจของตัวเอง และคิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา
ซึ่งนักจิตวิทยาได้อธิบายถึงสาเหตุของอาการลักษณะนี้ไว้ว่า เป็นกลไกของการเอาชีวิตรอด ป้องกันไม่ให้มนุษย์ใจกล้าบ้าบิ่นทำในสิ่งที่อันตรายหรือเสี่ยงกับชีวิตมากเกินไป ทำให้เวลาที่ต้องตัดสินเรื่องที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างหนัก จะเกิดความกลัวกับอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ขึ้นมา
ถึงแม้ว่า Loss Aversion จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากกลไกตามธรรมชาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตการทำงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมุมของผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้น แต่ไม่กล้าลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพราะกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่ดีอย่างที่คิด หรือมุมของหัวหน้าที่ต้องการปั้นคนให้เก่งขึ้น แต่ไม่กล้าพูดข้อเสียกับลูกทีมตรงๆ เพราะกลัวว่าความสัมพันธ์จะแย่ลง และกระทบกับการทำงาน
แล้วผู้บริหารหรือหัวหน้าจะรับมือกับอาการ Loss Aversion เพื่อให้องค์กรก้าวต่อไปได้อย่างไรบ้าง?
เราจึงนำคำแนะนำในการรับมือกับ ‘Loss Aversion’ จาก ‘ลินด์ซีย์ แกลโลเวย์’ (Lindsey Galloway) นักเขียนและคอลัมนิสต์ที่มีผลงานเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวระดับโลก มาฝากกันทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1. ละทิ้งความเป็น ‘เพอร์เฟกชันนิสต์’ (Perfectionist)
บางทีความรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว เกิดจากการตั้งความหวังว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ก็เกิดความผิดหวัง จนกลายเป็นปมฝังใจที่ทำให้ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ อีกต่อไป แต่หากลดความคาดหวังลงมาได้ ความรู้สึกเสียดายน่าจะลดลงมาด้วย
2. หลีกเลี่ยงที่จะถามคนอื่น
ลำพังการตัดสินใจของตัวเองก็มีความซับซ้อนอยู่แล้ว ยิ่งมีการขอความเห็นจากคนอื่น ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิมหลายเท่า และอาจจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ต่างไปจากเดิม ถ้าปรึกษาแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าปรึกษาแล้วได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงก็จะรู้สึกเสียดายที่ไม่เชื่อตัวเองตั้งแต่แรก
3. หยุดคิดถึงความสำเร็จในอดีต
การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันตัวเองไปข้างหน้า แต่การยึดติดมากเกินไป ย่อมส่งผลถึงการตัดสินใจในปัจจุบัน เพราะความสำเร็จในอดีตจะกลายเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้หลายคนเกิดความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่ดีเท่าเดิม จนไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เสียที และถ้าตัดความสำเร็จในอดีตออกไปได้ โอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ จะมีมากขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเกิดความกลัวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงมากแค่ไหน แต่ถ้าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมีมากพอ เราเชื่อว่า ทุกคนจะสามารถก้าวผ่านความกลัว และกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่เก่งขึ้นได้อย่างแน่นอน
Sources: https://bit.ly/3RSPBEm