Type to search

ไม่มีใครนิยามว่ายาสีฟันต้องเป็น ‘สีขาว’ เท่านั้น ‘ดอกบัวคู่’ ยาสีฟันสมุนไพรไทยโตไกลหลักพันล้าน

October 02, 2022 By Witchayaporn Wongsa
twin-lotus

ระหว่าง ‘สินค้าที่คนไม่คุ้นเคยแต่เกิดจากความตั้งใจของเจ้าของ’ กับ ‘สินค้าที่ติดตลาดแต่เจ้าของไม่ได้มีใจรัก’

ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบมือใหม่ที่ต้องการผลิตสินค้าสักชิ้น จะเลือกคำตอบในข้อใด?

บางคนคงขอเลือกอย่างหลัง เพราะเป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจคือ ‘สร้างรายได้’ และ ‘ทำกำไร’ เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น การผลิตสินค้าที่ติดตลาดก็สามารถการันตีความสำเร็จไปได้ครึ่งทาง ถ้าผลิตสินค้าออกมามีคุณภาพ ลูกค้าต้องเลือกซื้ออย่างแน่นอน

หรือบางคนก็ขอเลือกอย่างแรก เพราะการทำธุรกิจให้ยั่งยืนต้องอาศัยความตั้งใจของเจ้าของเป็นอย่างมาก ต่อให้จะเป็นสินค้าที่คนไม่คุ้นเคย แต่ถ้าไม่ลองขายก็คงไม่รู้ว่าจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จกันแน่

จริงๆ แล้ว ทั้งสองตัวเลือกไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจน และไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จของการทำธุรกิจแต่อย่างใด เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมอีกมากมายที่จะเข้ามากำหนดชะตาชีวิตของธุรกิจในอนาคต

ถึงแม้ว่า แนวทางของตัวเลือกแรกจะค่อนข้างสุดโต่ง และฉีกกรอบการทำธุรกิจตามตาราพื้นฐานที่ต้องคิดถึงความต้องการของลูกค้าก่อนเสมอ แต่ก็มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากแนวคิดนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ดอกบัวคู่’ ยาสีฟันสมุนไพรที่มีอายุธุรกิจเกือบ 50 ปี

เมื่อพูดถึงดอกบัวคู่ ภาพของเนื้อยาสีฟันสีน้ำตาลที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และความทรงจำในวัยเด็กที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้กันมาอย่างยาวนานจะฉายชัดขึ้นมาทันที นอกจากนี้ ดอกบัวคู่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และมีรายได้ต่อปีเป็นหลักพันล้านเลยทีเดียว

แต่กว่าที่ดอกบัวคู่จะปั้นแบรนด์ให้มาถึงจุดนี้ได้ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเนื้อยาสีฟันสีน้ำตาลที่ขัดกับความเชื่อของคนในสมัยก่อตั้งแบรนด์ว่า “ยาสีฟันต้องเป็นสีขาว เพราะสื่อถึงความสะอาด”

แล้ว ‘ดอกบัวคู่’ ฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นจนมีทุกวันนี้ได้อย่างไร? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

จากร้านขายยาสมุนไพร สู่การเป็นยาสีฟันหลักพันล้าน

Image on dokbuaku.com

ดอกบัวคู่ช่วงก่อร่างสร้างแบรนด์ เป็นเพียงร้านขายยาสมุนไพรเล็กๆ ที่จำหน่ายยาตามตำรับของตระกูลที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น แต่ข้อกฎหมายด้านยาที่เข้ามามีบทบาทในภายหลัง ถือเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ที่ทำให้ดอกบัวคู่ไม่สามารถจำหน่ายยาสมุนไพรได้อีกต่อไป

ไม่ว่าจะด้วยการพยายามมองหาโอกาสในวิกฤต หรือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ ‘บุญกิจ ลีเลิศพันธ์’ ก็ตาม ดอกบัวคู่จึงเปลี่ยนจุดยืนมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ยาสีฟัน’ ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรนานาชนิด เพื่อบุกตลาดยาสีฟันสมุนไพรที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

แต่เส้นทางการบุกตลาดกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อเนื้อยาสีฟันของดอกบัวคู่เป็นสีน้ำตาล ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าซื้อใช้ เพราะยาสีฟันหลายๆ ยี่ห้อพยายามโฆษณาเรื่องความขาวสะอาด ซึ่งความแตกต่างที่ดอกบัวคู่พยายามสื่อสารกับลูกค้ากลับเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เสียเปรียบแทน

หากดำเนินธุรกิจมาถึงจุดนี้ หลายๆ คนก็น่าจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสินค้าของตัวเองให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแล้ว แต่ดอกบัวคู่กลับไม่ทำเช่นนั้น และเลือกที่จะสื่อสารกับลูกค้าถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์มากขึ้น จนลูกค้าเริ่มเปิดใจลองใช้ ทำให้เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปากและมีชื่อเสียงโด่งดังในที่สุด

ปัจจุบัน ดอกบัวคู่ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่สองยังคงไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าหลากหลายประเภท หรือการบุกตลาดต่างประเทศก็ตาม เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ‘ดอกบัวคู่’

เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง : แนวคิดการปั้นแบรนด์แบบ ‘ดอกบัวคู่’

‘จุดอ่อน’ คงเป็นประเด็นแรกๆ ที่คนทำธุรกิจต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด เพราะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนากลยุทธ์ในด้านต่างๆ เมื่อทราบแล้วว่า ธุรกิจของตัวเองมีจุดอ่อนอย่างไร ก็มี 2 ทางเลือกให้เจ้าของธุรกิจตัดสินใจ

“ถ้าไม่หาทางกลบจุดอ่อน ก็ต้องเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็งให้ได้”

ซึ่งดอกบัวคู่เลือกอย่างหลัง และทำให้เนื้อยาสีฟันสีน้ำตาลที่เคยเป็นจุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ได้ ถึงแม้จะต้องใช้เวลา 4-5 ปี ในการสื่อสารและพูดคุยกับลูกค้า แต่ก็เป็นการลงทุนลงแรงที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะโดดเด่นเหนือคู่แข่งแล้ว เจ้าของธุรกิจยังได้ขายสินค้าที่ตัวเองตั้งใจผลิตมาตั้งแต่แรกด้วย

และในช่วงที่ก่อตั้งแบรนด์ ดอกบัวคู่ยังต้องพบกับจุดอ่อนอีกข้อหนึ่ง นั่นก็คือ ‘จะทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ได้อย่างไร’ ด้วยความที่เป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว เงินทุนที่มีก็ไม่ได้มากมาย การจะทำโฆษณาสักชิ้นให้คนรู้จักอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

ในเมื่อสื่อขนาดใหญ่เป็นจุดอ่อน ดอกบัวคู่จึงพลิกโอกาสใช้การสื่อสารทั่วไปอย่างการพูดคุย การฝากขายตามร้านค้า และการบอกต่อแบบปากต่อปาก จนสามารถตีตลาดลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ได้สำเร็จ และทำให้ชื่อของ ‘ดอกบัวคู่’ ติดตลาดมาถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า จุดอ่อนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเสียเปรียบกว่าคนอื่น แต่จุดอ่อนก็ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนไม่ได้ เหมือนกับความสำเร็จของดอกบัวคู่ที่พยายามเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง จนทำให้สินค้าของตัวเองครองใจใครหลายๆ คนมาเป็นเวลานาน

Sources: https://bit.ly/3dNolsK

https://bit.ly/3Ci0kU0

https://bit.ly/3DYlB6A

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)