ทำงานดีจนใครๆ ก็นึกถึงเป็นคนแรกตลอด คำสาปของ ‘คนทำงานเก่ง’ ที่ต้องแบกงานจนใจพังเสียเอง
ว่ากันว่า ในโลกแห่งการทำงานนั้นมีคนอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกคือ ‘คนเก่ง ทำงานดี’ ที่เข้าตาหรืออยู่ในสายตาของหัวหน้า มีงานอะไรก็จะถูกใช้อยู่ตลอด ส่วนคนประเภทที่สองคือ คนทั่วไปที่ทำงานกลางๆ ไปจนถึงต่ำ ที่ตามปกติแล้ว มักจะอยู่นอกสายตา หัวหน้าไม่ค่อยเรียกใช้สักเท่าไร
ไม่ต้องเล่าอะไรมาก ก็น่าจะพอรู้เป็นอย่างดีว่า เวลามีงานสำคัญ งานด่วน งานเร่ง คนประเภทแรกที่เป็น High Performer ก็มักจะโดนก่อนเสมอ เพราะการเป็นคนเก่ง เบอร์หนึ่งนั้น ทำให้หัวหน้ารู้สึกไว้ใจในการมอบงานที่ ‘เยอะกว่า หนักกว่า’ และเต็มไปด้วย ‘ความกดดันที่มากกว่า’ ให้
อย่างไรก็ตาม สมัยที่จบใหม่ไฟแรงทำงานใหม่ๆ บางคนอาจจะเชื่อคำสอนที่ว่า ‘ยังเด็กอยู่ มีอะไรก็ขวนขวาย เขาใช้ก็ทำไปเถอะ เพราะเราจะได้เรียนรู้ ฝึกฝีมือให้เก่งขึ้นด้วย’ ทว่า พอถึงจุดหนึ่ง การโดนใช้เยอะๆ ความเหนื่อยล้าที่สะสมนานวันเข้าก็เลยรู้สึก Suffer เป็นธรรมดา
“อะไรๆ ก็ฉัน ต้องเป็นฉันอีกแล้วเหรอ? ตกลงเป็นคนสำคัญ
คนที่หัวหน้าไว้ใจ หรือจริงๆ แล้ว เป็นแค่คนเหนื่อยกันแน่?”
ประโยคด้านบนนี้น่าจะเป็นความอัดอั้นที่อยู่ในใจของคนเก่งหลายๆ คนที่รู้สึก Suffer กับการโดนหวยออกทุกที วันแล้ววันเล่าที่รางวัลตอบแทนของการทำงานดี มีความรับผิดชอบ แก้ปัญหาเก่งนั้นทำให้ตัวเองต้องเจ็บปวด กลายเป็น ‘เดอะแบก’ ของทีมโดยปริยาย
เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว เคยมีเจ้าของกระทู้รายหนึ่งในเว็บไซต์พันทิป (Pantip) ระบายความอัดอั้นที่มีหลักใหญ่ใจความคล้ายกันไว้ว่า “หัวหน้า เจ้านายใครเป็นเหมือนกันบ้าง จ้องใช้งานแต่คนเดิมๆ อยากรู้ว่ามีใครโดนแบบเราบ้าง ไม่ว่าจะเลื่อนเป็นหัวหน้างานหรือเมื่อก่อนเป็นลูกน้อง ไม่ได้สบายขึ้นเลย ทำสากกะเบือยันเรือรบ (เปรียบเปรย) ผอ.ที่นี่จ้องใช้แต่คนหน้าเดิมๆ ที่ตัวเองไว้ใจ ที่คิดว่าใช้ไปแล้วถูกใจ ทำงานได้เป็นที่น่าพอใจ ไม่คิดกระจายงาน ไม่ให้คนใหม่ๆมาเรียนรู้งาน”
ทั้งนี้ ก็ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย บ้างก็บอกว่า กำลังโดนอะไรแบบนี้เหมือนกัน บ้างก็ให้กำลังใจว่า การที่งานทั้งหมดมากองอยู่ที่เราเป็นเพราะเราสำคัญ ทำงานดี หัวหน้าเห็นศักยภาพในตัว รวมไปถึงท้ายที่สุด ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง เกินความสามารถก็ให้ทำไปเลย สิ่งนี้จะส่งผลดี แถมเวลามีโปรโมตเลื่อนขั้น หัวหน้าก็จะได้นึกถึงเป็นคนแรกๆ ด้วย
การถูกให้ค่า รับบทเป็นคนทำงานหนักที่สุด ตาม Common Sense แล้ว ถ้าคนเก่งได้เงินเดือนมากกว่าคนทั่วไปพอสมควร หากจะต้องทำงานหนักกว่า ก็น่าจะไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไร ในทางกลับกัน หากเงินเดือนเท่ากัน หรือที่แย่สุดก็คือ เงินเดือนน้อยกว่าคนทั่วไปหลายเท่า สิ่งนี้ก็อดชวนให้ตั้งคำถามถึง ‘ความแฟร์’ ไม่ได้
มาร์ก เมอร์ฟี (Mark Murphy) นักเขียนหนังสือขายดีของเดอะนิวยอร์กไทม์ (The New York Times) เคยเผยผลงานวิจัยของตนจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพนักงานใน 207 องค์กรไว้ว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่เก่ง ขึ้นชื่อว่าเป็น High Performer นั้นรู้สึกผูกพัน มี Engage กับองค์กรน้อยกว่าคนทำงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งก็ได้นิยาม Engage ไว้ว่า หมายถึง ‘ความรู้สึกพอใจ มีแรงบันดาลใจกับองค์กร’
เพราะฉะนั้น จึงสรุปคร่าวๆ ได้ว่า การเป็นคนเก่ง คนทำงานดีไม่ได้แปลว่า ทุกคนจะรู้สึกดีที่หัวหน้าเห็นคุณค่า แต่บางครั้ง แสงไฟที่สาดส่องเหล่านี้ก็สร้างความเจ็บปวดไม่แพ้กัน ส่วนคนทำงานที่มีประสิทธิภาพต่ำจะรู้สึกแฮปปี้กว่า โดยก็ตั้งอยู่บนจิตวิทยาที่ว่า พวกเขาสบายใจกับการทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ถูกกดดันนั่นเอง
มาร์กได้อธิบายถึงสาเหตุของความเจ็บปวดนี้ไว้ 3 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ ‘คนทำงานเก่งมักทำงานแย่ที่สุด’ เพราะเวลามีงานด่วน โปรเจกต์บิ๊กเบิ้ม ดีลหมื่นล้าน หากหัวหน้าต้องเลือกระหว่างผู้เล่นเกรด A ที่ทำงานดีเยี่ยม เสร็จไว, ผู้เล่นเกรด B ที่ทำงานได้กลางๆ และผู้เล่นเกรด C กับเกรด D ที่เปรียบเสมือนเด็กหลังห้อง ทำงานเสร็จช้า
แน่นอนว่า ตามตรรกะ ส่วนใหญ่หัวหน้าก็น่าจะยึดผลประโยชน์ก่อน เลือกให้ผู้เล่นเกรด A ทำเสมอ เพราะก็วางใจได้ประมาณหนึ่งว่า จะไม่ผิดหวัง หรือต่อให้ผิดหวัง ก็คงจะสร้างความเสียหายน้อยกว่า อีกทั้ง การทำงานได้เกินค่ามาตรฐานของพวกเขายังมีแนวโน้มที่จะนำชัยชนะมาให้องค์กรมากกว่าด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง งาน Overload ขึ้นมา ตัวละครหลักของทีมที่มีค่าความเก่งสูงก็อาจทำงานผิดพลาดได้ง่าย เพราะนอกจากปริมาณจะล้นมือแล้ว ก็ไม่มีเวลาพักเช่นกัน จากเดิมที่ทำงานได้ตามบาร์มาตรฐานตลอด กลายเป็นงานที่หัวหน้าต้องคอยคอมเมนต์ คอยแก้เรื่องเดิมซ้ำๆ
ส่วนสาเหตุข้อที่สอง มาร์กเสริมว่า ปกติแล้ว ‘ความคิดเห็นของคนเก่งมักจะถูกมองข้าม’ อย่างที่เข้าใจกันดีว่า พวกเขามักต้องทำงานหนักกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น สิ่งนี้จึงทำให้คนเก่งมองเห็นปัญหาหลายๆ อย่างมากกว่า
ในทางตรงกันข้าม เวลาที่พวกเขาเสนอความคิดเห็น ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกเมิน โดนมองว่า เป็นปัญหาส่วนตัว เนื่องจาก เจออยู่คนเดียว สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง The Risks of Ignoring Employee Feedback ของเขาที่ชี้ให้เห็นว่า มีแค่ 24 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่บอกว่า หัวหน้าของตนรับฟังความคิดเห็นแล้วนำไปปรับปรุงเสมอ นอกจากนี้ การเรียกร้องความแฟร์เรื่องปริมาณงานก็ทำให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นขั้วตรงข้ามอีกกลุ่มไม่เห็นด้วย
สาเหตุสุดท้าย มาร์กอธิบายว่า ‘ต่อให้ทำงานเก่ง ความรู้สึกที่ได้ก็เท่ากันอยู่ดี’ จากการศึกษาในงานวิจัยอีกชิ้น โดยให้พนักงานมากกว่า 30,000 คน ให้คะแนนระดับความสามารถการทำงานของตัวเอง ผลปรากฏว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานไม่รู้ว่า ตนทำงานดีหรือไม่ดี อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นรึเปล่า?
กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็น High Performer หรือคนทำงานกลางๆ ไปจนถึงต่ำ ก็มีความรู้สึกต่อการทำงานตัวเองพอๆ กัน ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวก็ถือว่า มากกว่าพนักงานที่รับรู้ระดับความสามารถการทำงานของตัวเองที่มีแค่ 29 เปอร์เซ็นต์เสียอีก
สรุปแล้ว ปริมาณงานที่สาหัสเช่นนี้จึงเป็นเหมือน ‘คำสาปของคนทำงานเก่ง’ บางคน ถึงแรกๆ จะเป็น ‘คนเก่ง’ แต่พอทำไปสักพักก็กลายเป็น ‘คนเหนื่อย คนท้อ’ ที่ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นอาการ ‘Burnout’
ถึงที่สุดแล้ว ถ้าคุณเป็นคนที่มองโลกแบบเดียวกับเจ้าของคอมเมนต์ท่านหนึ่งในกระทู้พันทิปที่บอกว่า หัวหน้าเห็นว่าเป็นคนสำคัญ มีศักยภาพ และตัวคุณเองเป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยเหลืออยู่แล้ว ก็แนะนำว่า แทนที่จะ Suffer ปล่อยให้เป็น ‘อากาศ’ ที่สูญเปล่า อาจจะปรับมุมมองใหม่ว่า นี่เป็น ‘โอกาส’ ที่จะพัฒนาฝีมือ
อย่าคิดว่า ‘เขากำลังใช้’ ให้มองว่า ‘เขากำลังไว้ใจ กำลังให้โอกาส’
ที่จะทำให้เราเก่งขึ้นจากทุกปัญหาที่ดาหน้าเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ถ้ารับมือกับความ Suffer ไม่ไหวจริงๆ รู้สึกว่า สิ่งที่แลกไปไม่คุ้มเงินเดือน ตั้งคำถามกับปริมาณงาน เพื่อนร่วมงานบ่อยๆ Handle ไม่ได้ และไม่แฮปปี้ ก็อาจจะลองเข้าไปคุยกับหัวหน้าตรงๆ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็อาจจะขอ Resource ให้รับคนเพิ่ม แบ่งให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น จัดซื้อเครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรง หรือเจรจาต่อรองเรื่องการปรับฐานเงินเดือนแทน
ที่สำคัญ มองย้อนกลับมาทบทวนตัวเองด้วยว่า ทุกวันนี้ที่เป็น One-Man Show เรารู้สึกดีกับการเป็นคนสำคัญเลยไม่กล้าปฏิเสธไหม และเป็นคนหัวอ่อน ใช้ง่าย ไม่ค่อยมีปากมีเสียงเลยเป็นเหมือนของตายของหัวหน้ารึเปล่า?
การมีอยู่ของเรานั้นทำให้องค์กรดีขึ้น ใครๆ นึกถึงเป็นเรื่องที่ดี นั่นแปลว่า ‘เรายังสำคัญกับพวกเขาอยู่’ ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤตต้อง Layoff พนักงาน แน่นอนว่า เราน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่พวกเขาเลือกเก็บไว้ข้างกาย อีกทั้งยังมีอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วย
ส่วนฟากฝั่งหัวหน้าที่กำลังอ่านบทความนี้ ก็อย่าลืมย้อนกลับมาทบทวนเช่นกันว่า กำลังเป็นหัวหน้าในลักษณะนี้หรือไม่ ให้บทลูกน้องบางคนหนักเกินไปไหม? เราเก่ง เราทำได้ ไม่ได้แปลว่าเราไม่เหนื่อย ลูกน้องก็เช่นกัน
ถามตัวเองว่า “ผิดเหรอที่คนทำงานดี ทำงานเก่งต้องเหนื่อยกว่า?” ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็กระจายงาน ให้โอกาสลูกน้องคนอื่น มี Empathy กับพวกเขาบ้าง ก่อนจะมอบหมายให้ใครทำ ก็อาจจะลองใช้เทคนิค Start with Why ของไซมอน ซิเน็ก (Simon Sinek) ดู
เพราะระบบที่ดีไม่ใช่ระบบที่คนเก่งต้องทำงานหนักอยู่กลุ่มเดียว แต่ควรเป็นระบบที่ทุกคนสามารถแสดงฝีมือ เป็น ‘The best version of yourself’ ได้อย่างเต็มที่ต่างหาก
Sources: https://bit.ly/3zkTU5p