“ไม่อยากเลื่อนขั้นเลย จริงๆ ตอนนี้มันก็ดีอยู่แล้วนะ” รู้จัก Status-Quo Trap เมื่อการปรับตำแหน่งไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน
“ชีวิตก็ไม่ได้แย่ ไม่เห็นต้องเติบโต ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงเลย จริงๆ ตำแหน่งตอนนี้ก็ดีนะ”
“ไม่อยากขึ้นตำแหน่งใหม่ ไม่อยากได้ความรับผิดชอบเพิ่ม แต่อยากอัปเงินเดือนไปเรื่อยๆ อยู่ตรงนี้ตลอดไปได้ไหม?”
ปกติ เรามักจะคุ้นเคยกับมายาคติที่ว่า “ใครๆ ก็อยากจะก้าวหน้า ใครๆ ก็อยากจะเติบโต ใครๆ ก็อยากจะได้โปรโมตเลื่อนขั้นในหน้าที่การงาน” มายาคติที่หยั่งรากลึกในสังคมจนถึงขั้นที่ถ้าเข้ากูเกิล (Google) ก็จะมีฮาวทูตามเว็บไซต์ต่างๆ อีกเพียบอธิบาย แนะนำเคล็ดลับให้ทำตาม
ในทางกลับกัน แท้จริงแล้วก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ได้อยากได้ ไม่ได้อยากมี และไม่ได้อยากเป็นแบบที่สังคมส่วนใหญ่ stereotype เหมารวมชุดความคิดเสมอ พวกเขากลับขอเลือกที่จะอยู่กับวิถีชีวิตเดิมๆ อะไรเดิมๆ ไม่เปลี่ยน หรือติดอยู่ในกับดักความคิดที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Status-Quo Trap’
วิลเลียม ซามูลเอลสัน (William Samuelson) และริชาร์ด ซักเฮาเซอร์ (Richard Zeckhauser) สองนักวิจัยเป็นผู้บัญญัติคำนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1988 โดยในการทดลองผ่านกลุ่มตัวอย่างด้วยการให้ตอบคำถามชุดการตัดสินใจที่หลากหลาย ผลปรากฏว่า เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ส่วนใหญ่แล้ว คนเรามักเลือกตัวเลือกที่เป็นสิ่งเดิมเพื่อ ‘คงไว้ซึ่งสถานะปัจจุบัน’
อีกทั้ง คนทำงานอายุน้อยมีแนวโน้มจะสมัครประกันสุขภาพที่มีเบี้ย และค่าลดหย่อนที่ดีกว่าด้วย ตรงกันข้ามกับคนทำงานอายุมากที่มีแนวโน้มจะยึดติดกับประกันสุขภาพแผนเก่าที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์สักเท่าไร เนื่องจาก กังวลกับความสูญเสียแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า การเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับประโยชน์ใหม่ๆ ก็ตาม
แดเนียล คานีแมน (Daniel Kahneman) และเอโมส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) สองนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายประเด็นนี้ในทฤษฎีคาดหวัง (Prospect Theory) ไว้ว่า ‘การสูญเสียนั้นให้ผลลัพธ์มากกว่าสิ่งที่ได้รับ’ กล่าวคือ ศักยภาพของการสูญเสียนั้นทรงพลัง โดดเด่นในจิตใจคนเรา มากกว่าศักยภาพของสิ่งที่ได้รับ หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง คือมีอคติการหลีกหนีการสูญเสียหรือ Loss Aversion Bias เข้ามาเกี่ยวด้วย
เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องเลือกอะไรสักอย่าง หลายๆ คนเลยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องเสียไปมากกว่าสิ่งที่จะได้รับกลับมา ตกหลุมพรางลำเอียงไปกับ Status-Quo Trap นั่นเอง
จอห์น เอส แฮมมอนด์ (John S. Hammond), ราล์ฟ แอล คีนีย์ (Ralph L. Keeney) และฮาววาร์ด เรฟฟา (Howard Raiffa) ได้พูดถึง Status-Quo Trap บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้อย่างน่าสนใจว่า เราทุกคนชอบเชื่อว่า ตัดสินใจได้เป็นกลาง สมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริง ล้วนมีหลุมพรางความลำเอียง และอคติซ่อนอยู่ในสิ่งที่เลือก เพราะบางครั้งสถานะปัจจุบันนั้นสบาย รวมไปถึงยังเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้หงุดหงิดด้วย
พวกเขาบอกว่า ต้นกำเนิดของ Status-Quo Trap ฝังลึกในจิตใจทุกคน มันทำหน้าที่ปกป้องอีโก้เราจากความเสียหาย การหลุดพ้นสถานะปัจจุบันให้สำเร็จหมายถึง การต้องลงมือทำ ซึ่งนั่นแปลว่า เราจะมีความรับผิดชอบ ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่หลายๆ คนชอบมองหาเหตุผลของการไม่ทำอะไรเลย ขอยึดติดกับสถานะปัจจุบันตลอดไป
เช่นเดียวกับความรู้สึกของการไม่อยากเลื่อนขั้น ขึ้นตำแหน่งใหม่ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนงานใหม่ ที่ลึกๆ แล้ว ไม่มีใครตอบได้ว่า จะดีกว่าตำแหน่งตอนนี้รึเปล่า? ผนวกกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นในสเกลที่ไม่คุ้นชิน บททดสอบมากมาย แถมยังมีความคาดหวังทั้งจากตัวเอง และคนรอบข้างที่ทวีคูณขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ และก็แน่นอนว่า บางคนเลยขอเลือกอยู่กับตำแหน่งเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก และต้นทุนในชีวิตที่ต้อง ‘แลก’ ไปนั้นอาจไม่คุ้มค่า
ความคิด ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่ากันตามตรงแล้ว ท่ามกลางความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในทุกวันนี้ก็ไม่อาจการันตีได้ว่า ทางเลือกในสถานะปัจจุบันจะไม่เสี่ยงเลย
จอห์น, ราล์ฟ และฮาววาร์ดได้แนะนำเทคนิคดึงตัวเองออกจาก Status-Quo Trap ว่า อย่างแรก ‘ให้เตือนตัวเองเสมอด้วยการนึกถึงเป้าหมาย’ หมั่นเช็กว่า กำลังติดกับดักความคิดนี้อยู่รึเปล่า และอะไรในปัจจุบันขัดขวางเป้าหมายของเราหรือไม่?
ถัดมา ‘อย่าหลงคิดว่า สถานะปัจจุบันเป็นทางเลือกเดียวที่มี’ ลองระบุทางเลือกอื่น และใช้มันเป็นตัวคานทางเลือกปัจจุบัน จากนั้น ประเมินข้อดี-ข้อเสียทั้งหมดอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ พวกเขายังเสริมด้วยว่า ให้เลี่ยงการใช้ความพยายามประเมินผลกระทบของอีกทางเลือกที่ไม่ใช่สถานะปัจจุบันที่โอเว่อร์กว่าความเป็นจริง
จอห์น, ราล์ฟ และฮาววาร์ดบอกว่า ให้จำไว้ว่าความปรารถนาในสถานะปัจจุบันนั้นแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเสมอ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็อาจจะคิดว่า นี่ไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่แล้วก็ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า พอเวลาเปลี่ยน ใจของคนเราก็เปลี่ยนนั่นเอง ฉะนั้น เวลาเลือก ให้ประเมินแง่มุมปัจจุบัน และอนาคตควบคู่กัน ส่วนคำแนะนำสุดท้ายคือ ‘ในเมื่อมีหลายทางเลือกแล้ว ก็ให้เลือกทางเลือกที่ดีกว่าซะ!’ อย่ามัวคิดว่า การมีหลายทางเลือกนั้นต้องใช้ความคิด และเวลาที่มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ชญาน์ทัต วงศ์มณี เจ้าของเพจท้อฟฟี่ แบรดชอว์ กล่าวในงาน Creative Talk Conference 2022 ไว้ว่า ครั้งหนึ่ง นิตยสารไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) เคยตั้งคำถามว่า ถ้าตัวเราตอนอายุ 20 มาเห็นตัวเราในปัจจุบัน คิดว่า คนๆ นั้นจะบอกอะไรเรา?
ในวันนี้ เราอาจจะเจอปัญหามากมาย เจอความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา แต่ท้ายที่สุดแล้ว ให้คิดทบทวนดีๆ จงทำให้ทุกการเลือก ทุกการตัดสินใจเป็นสิ่งที่ตัวเราในอนาคตอยากกลับมาบอกตัวเราในปัจจุบันว่า
“ขอบคุณนะ ขอบคุณที่ดูแลมันอย่างดีที่สุด ขอบคุณที่ทำให้ทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่มีความหมาย”
Sources: https://bit.ly/3P4PJ2l
หนังสือยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว เขียนโดย ว็อนจีซู