ไม่ได้มีแค่สิ่งที่ต้องทำ แต่ยังมี ‘Not To-do list’ ด้วย การทำรายการ ‘สิ่งที่ไม่ต้องทำ’ ที่สำคัญไม่แพ้ To-do list
หลายคนคงจะรู้จักหรือมีสิ่งที่เรียกว่า ‘To-do list’ หรือรายการ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ กันอยู่แล้ว มันคือรายการที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำ หรือจำเป็นต้องทำให้สำเร็จบ้าง ซึ่งก็มีประโยชน์มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การรู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่จำเป็นต้องทำ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเราสามารถทำรายการของสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า Not To-do list หรือรายการ ‘สิ่งที่ไม่ต้องทำ’ ได้ เช่นเดียวกับที่เรามี To-do list นั่นเอง
Not to-do list คืออะไร?
ความหมายของมันนั้นก็ค่อนข้างตรงตัว ก็คือรายการสิ่งที่ไม่ต้องทำนั่นเอง หากการทำ To-do list มีจุดประสงค์เพื่อให้เรารู้ถึงสิ่งที่ควรจะทำหรือจำเป็นต้องทำแล้ว การทำ Not To-do list ก็คือสิ่งที่อยู่ตรงข้าม นั่นก็คือเป็นการทำรายการของสิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งก็มีประโยชน์ไม่แพ้กับ To-do list เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของงาน การแบ่งเวลาในการทำงาน และอื่นๆ อีกมากมาย
ทำไมถึงสำคัญไม่แพ้กับ To-do list?
ในเวลาที่เราทำ To-do list เรามีแนวโน้มที่จะพยายามนึกเรื่องต่างๆ ที่เราต้องทำให้สำเร็จ มาใส่ในรายการของเราให้มากๆ เข้าไว้โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งอาจส่งผลให้มีเรื่องที่ไม่ได้จำเป็น ไม่ได้สำคัญจริงๆ หรือไม่ได้เร่งด่วนอะไรเข้ามาปะปนในรายการได้ และทำให้เราเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ เพื่อที่จะทำตามรายการดังกล่าวให้ครบ รวมถึงการที่มีรายการสิ่งที่ต้องทำมากๆ ก็อาจส่งผลให้บริหารจัดการเวลาและความสำคัญได้ลำบากขึ้นได้
ดังนั้นแล้ว การที่เรารู้ว่ามีสิ่งไหนที่ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่ได้สำคัญจริงๆ หรือไม่ควรทำ จึงสามารถที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสิ่งที่ต้องทำได้ดีและง่ายยิ่งขึ้น เพราะสามารถที่จะตัดรายการที่ไม่สำคัญหรือไม่จำเป็นทิ้งไปก่อนได้นั่นเอง นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ Not To-do list ในการกำจัดพฤติกรรมหรือนิสัยที่ไม่ดีของเราออกไปได้อีกด้วย
อะไรบ้างที่สามารถใส่ลงไปใน Not To-do list ได้?
ถ้าหากว่า อยากจะลองทำ Not To-do list แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำไปเสียหมด เลยหาอะไรมาใส่ในรายการไม่ได้สักที ในบทความนี้ก็มีตัวอย่างที่เป็นแนวทางคร่าวๆ ให้ ว่าอะไรบ้างที่สามารถนำมาใส่ในรายการนี้ได้ ดังนี้
-สิ่งที่ทำให้เสียเวลา: ลองนึกถึงสิ่งที่ตอนแรกคิดว่าน่าจะทำแค่ไม่นาน แต่กลายเป็นว่าเสียเวลาไปมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะมาในรูปแบบของการเสียสมาธิ เช่น การเล่นโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
– สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ: บางครั้ง เราก็แค่รู้สึกว่าต้องใส่รายการสิ่งที่ต้องทำลงไปให้มันเต็มๆ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรทำ แต่ในความเป็นจริง To-do list ไม่จำเป็นต้องมีหลายๆ อย่างก็ได้ ดังนั้น อะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆ ก็สามารถตัดทิ้งและใส่ใน Not To-do list ได้เลย
– นิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่ดี: นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว นิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือที่คิดว่าต้องปรับปรุง ก็สามารถนำมาใส่เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้เผลอทำได้เช่นกัน
– สิ่งที่ควบคุมไม่ได้: หลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่เราก็พยายามที่จะจัดการกับมัน หากมาคิดดูดีๆ การพยายามที่จะจัดการกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในอีกมุมหนึ่ง ก็ดูจะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไร ดังนั้น เรื่องทำนองนี้ก็เอามาใส่ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่แนวทางและตัวอย่างคร่าวๆ เท่านั้น โดยที่แต่ละคนก็สามารถที่จะใส่อะไรเพิ่มลงไปตามแต่วิจารณญาณและเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ และเหนือสิ่งอื่นใด การทำรายการนี้ก็เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น อย่ามัวแต่คิดจนลืมเรื่องที่จำเป็นต้องทำไปด้วย เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเรารู้แค่ว่าไม่ต้องทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าอะไรที่จำเป็นต้องทำจริงๆ
ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างถูกวิธี ก็สำคัญไม่แพ้กับการเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ เช่นกัน