จะทำงานให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องรู้จักเป็น ‘ผู้ฟัง’ ที่ดีด้วย รู้จัก ‘Style of listening’ เรามีพฤติกรรมการฟังแบบไหน นำไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง
การฟังถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของการสื่อสาร ทักษะที่เรียกว่าการฟัง (Listening) คือเครื่องมือสำคัญในการจับข้อมูล หรือสารที่อีกฝ่ายต้องการที่จะสื่อ เพื่อให้การสื่อสารนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ในบริบทของการทำงานก็เช่นกัน ทักษะการฟังก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ เพราะในการทำงานนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสื่อสารกับผู้อื่น อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องสื่อสารกับผู้จ้างงานของเราให้รู้เรื่อง โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานทางไกลเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น การสื่อสารก็ยิ่งต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การฟังนั้นยิ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากขึ้นไปอีก
และจากการค้นคว้าของฝ่ายวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การฟังของ Mandel นั้นพบว่า เราสามารถจำแนกพฤติกรรมการฟัง (ในบริบทการสื่อสาร) ของคนได้ 4 รูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งแต่ละรูปแบบนั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และสามารถนำมาปรับใช้ในที่ทำงานได้อีกด้วย
1.Connective Listening
ผู้ที่มีพฤติกรรมการฟังแบบ Connective Listening จะโฟกัสไปที่การฟังแล้วคิดว่า การมีปฏิสัมพันธ์กันนี้มีความหมายต่อผู้อื่นอย่างไร (ผู้อื่นในที่นี้ อาจหมายถึงผู้พูด ผู้ที่กำลังฟังอยู่ร่วมกัน ผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการมีปฏิสัมพันธ์นี้) รับฟังอย่างเปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับความสนใจของผู้อื่นในเวลาที่กำลังรับฟัง
คนกลุ่มนี้ยังคงสนใจในข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่เป็นในแง่ที่ว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงนั้นมีประโยชน์หรือผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร และเนื่องจากว่าพวกเขาให้ความสนใจกับผลกระทบต่อผู้อื่นเป็นหลักในการรับฟัง ทำให้มีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากผู้พูด เช่น พยายามพยักหน้า สบตา เพื่อให้ผู้พูดรู้สึกพอใจ (ไม่ว่าตนเองจะรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลที่ผู้พูดพูดออกมาก็ตาม) มากกว่าที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
ในที่ทำงาน กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการฟังแบบนี้ สามารถที่จะปรับใช้จุดเด่นของตัวเองได้ในการทำโปรเจกต์ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เป็นจำนวนมาก ได้ เนื่องจาก พวกเขาให้ความสนใจกับผลกระทบของผู้อื่นเป็นหลักในการฟัง ดังนั้นแล้ว พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ให้กับทุกๆ ฝ่ายมากที่สุด เช่น การวิเคราะห์ว่าข้อเสนอต่างๆ ในที่ประชุมจะส่งผลกระทบกับทุกๆ ฝ่ายอย่างไรบ้าง หรือการตั้งคำถามในนามหรือเป็นตัวแทนของผู้อื่น เป็นต้น
2.Reflective Listening
ผู้ที่มีพฤติการณ์การฟังแบบนี้ จะไตร่ตรองข้อมูลหรือสารที่ได้รับฟังมาโดยอาศัยข้อมูลหรือประสบการณ์ความรู้ในอดีตของตน ในการสนทนาหรือสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาจะรับฟังอย่างเงียบๆ เพราะกำลังไตร่ตรองถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังฟังอยู่ แล้วจึงค่อยพูดโต้ตอบกลับมาในตอนท้าย กล่าวคือ ต้องการเวลาในการใช้ความคิดก่อนที่จะพูดหรือเสนออะไรออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังจะพูดนั้นถูกต้องแล้ว เป็นกลุ่มผู้ฟังที่สามารถให้ความเห็นกับผู้พูดได้เสมอในยามที่ต้องการ
กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการฟังแบบนี้ สามารถที่จะปรับใช้จุดเด่นของตัวเองในที่ทำงานได้โดยการคอยให้ความเห็นว่า วิธีไหนหรือข้อเสนอใดจะทำให้ทีมบรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้ด้วยจุดเด่นที่จะไตร่ตรองถึงสิ่งที่รับฟังมาทั้งหมด ก่อนที่จะพูดโต้ตอบหรือเสนอออกไป ทำให้สามารถที่จะช่วยในการตัดสินใจหาข้อยุติในที่ประชุมได้ เช่น การให้ความเห็นว่าวิธีไหนจะได้ผล วิธีไหนจะไม่ได้ผล เพราะการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ผ่านการไตร่ตรองจากข้อมูลที่ได้รับฟังมาทั้งหมดแล้ว
3.Analytical Listening
ผู้ที่มีพฤติกรรมการฟังแบบนี้ จะเน้นความสนใจไปที่ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่สามารถจับต้องหรือประเมินได้เพื่อนำไปใช้กับปัญหา สถานการณ์ หรือบริบทที่อยู่ตรงหน้า และไม่ค่อยให้ความสนใจกับความคิดเห็น ไอเดีย หรือแรงบันดาลใจของผู้พูดเท่าไร ทำให้ไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากผู้พูดด้วย ในตอนที่รับฟัง พวกเขาสนใจว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นคืออะไร มีแหล่งที่มาอย่างไร และวิเคราะห์ว่า ภายในหัวว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ชอบการพูดคุยในประเด็นที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรือออกนอกประเด็นเพราะสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญในการรับฟัง คือข้อมูลที่สามารถจับต้องหรือตรวจสอบจริง-เท็จได้
ในที่ทำงาน กลุ่มคนที่มีพฤติกรรการฟังแบบนี้ สามารถที่จะปรับใช้จุดเด่นของตัวเองได้โดยการรับบทเป็น ‘ผู้ตรวจสอ’ ของทีม เช่น ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จะนำเสนอ ตรวจสอบวิธีการที่เป็นไปได้ และตัดวิธีการที่เป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการนำไปปฏิบัติจริง หรือในที่ประชุมก็สามารถรับบทบาทแบบนี้ได้เช่นกันในการตรวจสอบข้อมูลที่แต่ละคนนำเสนอมาว่า ถูกต้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการหาข้อยุติในที่ปะชุม เพราะธรรมชาติของคนกลุ่มนี้จะตรวจสอบความจริงของข้อมูลที่ได้รับฟังมาอยู่เสมอ
4.Conceptual Listening
ผู้ที่มีพฤติกรรมการฟังแบบนี้จะเน้นไปที่การรวบรวมความคิด และข้อมูลจากที่ได้รับฟังมาจากผู้พูด (ซึ่งอาจมากกว่า 1 คนก็ได้) หรือแหล่งที่มาอื่นๆ และสร้างเป็นไอเดียใหม่ขึ้นมา ชอบคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และคิดไปถึงอนาคตมากกว่าที่จะสนใจข้อมูลหรือเรื่องยิบย่อยในปัจจุบัน กล่าวคือ ในการรับฟังนั้น พวกเขาสนใจว่าสิ่งที่ได้รับฟังมาจะนำไปสู่อะไรที่นอกเหนือจากบริบทหรือสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ได้บ้าง และมักจะเปิดรับ พิจารณามุมมองที่หลากหลาย ชอบที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ มากกว่าที่จะหาข้อสรุปหรือตัดสินถูก-ผิด
ในที่ทำงาน คนกลุ่มนี้สามารถที่จะเป็นคนที่คอยเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปในทีมได้ และยังคอยกระตุ้นให้ผู้อื่นคิดนอกกรอบได้อีกด้วย ในที่ประชุม คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่คอยรวบรวมความคิดเห็นของแต่ละคนมาสร้างเป็นข้อเสนอใหม่ให้กับที่ประชุมได้อยู่ตลอด เหมาะกับงานหรือโปรเจกต์ที่ต้องใช้การระดมความคิด (Brainstorming) มากๆ ในแง่ของการคิดและค้นหาวิธีการใหม่ๆ เมื่อประสบปัญหาวิธีการเดิมนั้นใช้ไม่ได้ผล ด้วยจุดเด่นที่คนกลุ่มนี้นั้นจะคอยรวบรวมหรือรับฟังความคิด และข้อมูลจากหลากหลายแง่มุมและที่มาเพื่อสร้างเป็นไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ
พฤติกรรมการฟังแต่ละแบบนั้นล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งทุกแบบนั้นก็สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือกระทั่งบริบทอื่นๆ ได้ และเหนือสิ่งอื่นใด คนหนึ่งคน ไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมการฟังอยู่แค่รูปแบบเดียว อย่างที่บอกไปว่ามันคือพฤติกรรม ดังนั้นแล้ว เราจึงสามารถที่จะฝึกให้ตัวเองมีพฤติกรรมการฟังแบบอื่นๆ ได้ เพื่อพัฒนาทักษะในการฟังของตัวเอง และทำให้เรานั้นสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้นหรือสังคมได้ดีขึ้น เพราะการสื่อสารที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีผู้ฟังที่ดีเสมอ ไม่ว่าในบริบทใดก็ตาม
Sources: https://bit.ly/3bdTnZ6