Type to search

ที่มีอยู่ก็ยังไม่ดี ที่มาใหม่ก็ไม่เข้าตา จาก ‘Facebook’ สู่ ‘Meta’ ที่เริ่มคลายมนต์เสน่ห์ และไม่น่าสนใจอย่างที่คิด

June 13, 2022 By Witchayaporn Wongsa

‘ถ้าธุรกิจที่ปลุกปั้นมากับมือ ไม่ดีเท่าเดิม เราจะทำอย่างไร?’

เชื่อว่า คำถามนี้ คงเป็นคำถามที่ไม่มีเจ้าของธุรกิจคนไหนอยากได้ยิน เพราะเวลาที่ลงแรงก่อร่างสร้างธุรกิจอันเป็นที่รักขึ้นมา ใครๆ ก็อยากให้ธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เส้นทางการทำธุรกิจไม่ได้ราบเรียบ หรือโรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่แล้ว ไม่ว่า เจ้าของจะพาธุรกิจก้าวต่อไปทางไหน ย่อมต้องเจออุปสรรคเสมอ

เช่นเดียวกับ ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) ที่ในตอนนี้ รีแบรนด์เป็น ‘เมตา’ (Meta) มาตั้งแต่ปี 2021 และผู้กุมบังเหียนของธุรกิจยังคงเป็น ‘มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) คนดีคนเดิมที่เมื่อพูดถึงเฟซบุ๊ก ทุกคนต้องนึกถึงชื่อเขาเป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน

ในอดีต เฟซบุ๊กเป็นบริษัทเทคฯ ศักยภาพสูงที่ใครๆ ต่างก็จับตามอง พิสูจน์ได้จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันรวดเร็ว ย้อนกลับไปประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ใครๆ ก็ต้องไถอ่านฟีดข่าวบนเฟซบุ๊ก จนทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารหลักของคนไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยศักยภาพและการเติบโตที่โดดเด่น ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทในฝันที่คนรุ่นใหม่ อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรมากที่สุด และยังเป็นบริษัทเนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากจะเข้ามาลงทุนด้วย ในปี 2007 มี 3 บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ไมโครซอฟต์ (Microsoft) กูเกิล (Google) และยาฮู (Yahoo) แข่งกันเสนอดีลเพื่อเข้าถือหุ้นในเฟซบุ๊ก โดยที่ไมโครซอฟต์ คือบริษัทที่ชนะการเสนอดีลในครั้งนั้น ด้วยเงินจำนวน 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการถือหุ้นเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์

แต่แล้วความหอมหวานในการทำธุรกิจของเฟซบุ๊กก็เริ่มหมดไป เมื่อในปี 2018 เกิดเหตุการณ์ที่เฟซบุ๊กทำข้อมูลผู้ใช้งานหลุดหลายสิบล้านบัญชี จนเกิดแฮชแท็ก #DeleteFacebook บนโลกออนไลน์ รวมถึงยังมีการออกมาแฉของอดีตพนักงานว่า ภายใต้ภาพลักษณ์อันสวยหรูของบริษัท เต็มไปด้วยปัญหาท็อกซิกที่ยากต่อการแก้ไข และแน่นอนว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของเฟซบุ๊กอยู่ไม่น้อย

ถึงแม้ว่า ในปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กจะเจอกับมรสุมมากมาย แต่ก็หาได้แคร์ไม่ เพราะในปี 2021 มาร์กได้ประกาศรีแบรนด์บริษัทจาก ‘เฟซบุ๊ก’ สู่ ‘เมตา’ เพื่อมุ่งสู่การขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจโลกเสมือนแห่งอนาคตหรือเมตาเวิร์ส (Metaverse) นั่นเอง ซึ่งการประกาศรีแบรนด์ในครั้งนี้ ก็ยังมีพนักงานในบริษัทที่ไม่เห็นด้วยอยู่เป็นจำนวนมาก และดูเหมือนว่า ภายหลังการรีแบรนด์ ผลลัพธ์จะไม่ได้ดีอย่างที่มาร์กคาดการณ์ไว้ด้วย

สัญญาณความเปลี่ยนแปลงเชิงลบ หลังจากการรีแบรนด์ ‘เฟซบุ๊ก’ สู่ ‘เมตา’

1. หุ้นตก รายได้หด ชะลอการจ้างงาน

หากจะกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดจากการรีแบรนด์เป็นเมตาเพียงอย่างเดียว ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะในปีนี้ มีวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลกเกิดขึ้นมากมาย อย่างภาวะเงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่คอยดิสรัปต์ (disrupt) การดำเนินงานของบริษัทเทคฯ อยู่ตลอด

แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาร์กตัดสินใจรีแบรนด์บริษัทในจังหวะที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เพราะเมื่อบริษัทตัดสินใจที่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเมตาเวิร์ส เท่ากับว่า บริษัทต้องลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่างมหาศาล และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้รายได้สุทธิลดลง จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะเกิดความเคลือบแคลงใจ และตัดสินใจเทขายหุ้นในที่สุด

อีกทั้งวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลก ยังเป็นเหมือนคมมีดที่ตัดท่อน้ำเลี้ยงการหารายได้ของบริษัทอีกด้วย เพราะทุกบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้บริษัทเหล่านั้น ต้องตัดสินใจลดค่าใช้จ่าย อย่างการหยุดเผยแพร่โฆษณาบนเฟซบุ๊ก ในเมื่อเมตาหารายได้เพิ่มไม่ได้ ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายในบริษัทของตัวเอง และวิธีที่เมตาเลือกใช้ ก็คือการชะลอการจ้างงานนั่นเอ

2. คนที่ติดตามไม่ได้ขึ้นฟีด คนที่ขึ้นฟีดไม่ได้ติดตาม

เชื่อว่า ในช่วงนี้ ใครที่ใช้งานเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม (Instagram) อยู่บ่อยๆ คงเห็นโพสต์แปลกๆ ที่มาจากผู้ใช้งานที่เราไม่ได้ติดตาม พร้อมกับข้อความเล็กๆ ที่ขึ้นมาว่า ‘แนะนำสำหรับคุณ’ ซึ่งฟีเจอร์นี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพราะสิ่งที่สนใจจริงๆ แทบไม่ขึ้นมาบนฟีดเลย

ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาร์กได้โพสต์แถลงการณ์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในบริษัทลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และหนึ่งในใจความสำคัญก็คือ การลดบทบาทของเพจหรือผู้ที่เราติดตามบนหน้าฟีด แต่จะเอาเนื้อหาที่คาดว่า ผู้ใช้งานน่าจะสนใจ ขึ้นมาบนหน้าฟีดแทน โดยใช้การประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ผ่านอัลกอริทึมที่ชื่อว่า ‘Discovery Engine’

โดยการพัฒนาอัลกอริทึมในครั้งนี้ ต้องมีวัตถุประสงค์มากกว่าแค่พัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้นแน่ๆ และเมื่อลองวิเคราะห์ร่วมกับความต้องการในการหารายได้ของเมตาอย่างแรงกล้าด้วยแล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ‘Discovery Engine’ ต้องเป็นอัลกอริทึมสำคัญที่จะใช้ในการแสดงโฆษณาอย่างแน่นอน

3. การลาออกของ ‘เชอริล แซนด์เบิร์ก’ (Sheryl Sandberg) ผู้บริหารคู่ใจที่ทำงานด้วยกันมากว่า 14 ปี

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ของวงการเทคโนโลยี เมื่อเชอริล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง และโบกมือลาเมตา บริษัทที่เธอทำงานมาด้วยกว่า 14 ปี ซึ่งการตัดสินใจของเชอริล ทำให้มาร์กรู้สึกใจหายอยู่ไม่น้อย เพราะสำหรับเขาแล้ว เชอริล คือคนพิเศษที่มีวิธีการบริหารงานไม่เหมือนใคร

ถึงแม้ว่า การจากลาในครั้งนี้ จะเป็นการจากลาที่สวยงาม และไม่ได้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้ง หรือต่อให้เป็นสาเหตุที่เกิดจากวิสัยทัศน์การดำเนินงานแตกต่างกันจริงๆ ก็ไม่มีใครอาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ การจากลาของเชอริล คงทำให้บริษัทสั่นคลอน และลดทอนความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนอยู่ไม่น้อย

บทเรียนจากการรีแบรนด์ ‘เฟซบุ๊ก’ สู่ ‘เมตา’

จากเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊กที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ อาจจะทำให้ทุกคนได้ลองตกตะกอนความคิดบางอย่างเกี่ยวกับการทำธุรกิจ และเกิดการตั้งคำถามว่า ระหว่างบริษัทเดิมที่มั่นคง สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่โตมากไปกว่านี้ กับบริษัทใหม่ไฟแรง มีแนวโน้มเติบโต แต่ไม่การันตีว่า จะขาดทุนหรือได้กำไร เราควรเลือกอะไร?

การเลือกคำตอบของคำถามนี้ คงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน หากเลือกข้อแรก ถึงจะปลอดภัยจริง แต่ก็เหมือนเรากำลังย่ำอยู่กับที่ ไม่ไปไหน หากเลือกข้อสอง บริษัทเรามีสิทธิ์เติบโตขึ้นจริง แต่ระหว่างทางก็ไม่รู้ว่า จะมีอุปสรรคอะไรเข้ามาขวางกั้นความสำเร็จ เหมือนกับที่เมตากำลังเผชิญอยู่หรือเปล่า

หรือจริงๆ แล้ว การเติบโตของบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่า จะรีแบรนด์หรือไม่รีแบรนด์ แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘กลยุทธ์การบริหาร’ กันแน่?

Sources: https://bloom.bg/3xhOxBv

https://nyti.ms/3tojva0

https://bbc.in/3myjwnR

https://bit.ly/3MM27mE

https://bit.ly/3O3erzR

https://bit.ly/3xo0TIB

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)