LOADING

Type to search

นักวิจัยเผย ปริมาณพลาสติกทั่วโลกเทียบเท่าช้าง 1 พันล้านตัว สำรวจ ‘Nestle’ แบรนด์ที่ทำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

นักวิจัยเผย ปริมาณพลาสติกทั่วโลกเทียบเท่าช้าง 1 พันล้านตัว สำรวจ ‘Nestle’ แบรนด์ที่ทำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
Share

ทุกวันนี้ ทุกคนรู้สึกเหมือนกันไหมว่า สภาพอากาศมีความแปรปรวนมากขึ้นทุกวัน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวพายุเข้า แปรปรวนจนปรับตัวกันไม่ทันเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ยังออกประกาศเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมาหลายหนหลายครั้ง อย่างเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมอุตุฯ ได้เตือนให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่ดูยังไงก็ผิดวิสัยจากความเป็นเดือนเมษายนที่ร้อนมากถึงมากที่สุดเอามากๆ

และภาวะที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เรียกว่า ‘Climate Change’ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเพื่อการประกอบธุรกิจ หรือการสร้างความสุขส่วนตนก็ตาม โดยหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหา Climate Change ก็คือ ‘การสร้างขยะที่ย่อยสลายยาก’ นั่นเอง

ในปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (California University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยผลการศึกษาว่า ปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลก ในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา มีน้ำหนักรวมกันมากถึง 8.3 พันล้านตัน เทียบเท่ากับช้างที่มีน้ำหนัก 7.5 ตัน ถึง 1 พันล้านตัว

และเมื่อเข้าสู่ยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างก็ใช้พลาสติกกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจจัดส่งอาหารกับกลุ่มธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยว่า ปริมาณการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นจาก 8.3 พันล้านตัน มากขนาดไหน แล้วพลาสติกเหล่านั้น จะกลายเป็นขยะที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกเท่าไร ก็ไม่มีใครรู้ได้เลย

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ขยะพลาสติก 1 ชิ้น ใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี นั่นเท่ากับว่า ความเร็วในการสร้างขยะกับเวลาในการย่อยสลายไม่ได้สัมพันธ์กันเลยแม้แต่น้อย และความไม่สัมพันธ์กันนี้เอง ที่เป็นสาเหตุให้ขยะพลาสติกจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

เมื่อเรารู้แล้วว่า ขยะพลาสติก คือหนึ่งในตัวการร้ายที่ทำให้สภาพอากาศเกิดความแปรปรวนขนาดนี้ เราในฐานะผู้บริโภคกับกลุ่มคนในภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างไรได้บ้าง?

ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถปรับตัวได้ง่ายมากๆ โดยเริ่มจากวิธีเบสิก อย่างเช่น การพกขวดน้ำส่วนตัว แทนการซื้อน้ำจากร้านสะดวกซื้อ การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง เป็นต้น หรืออีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ ก็คือการเลือกซื้อสินค้า และสนับสนุนแบรนด์ที่มีแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีนี้ เป็นการใช้พลังของผู้บริโภคในการสร้างความตื่นตัวให้กับภาคธุรกิจ เพราะเมื่อมีแบรนด์ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ แบรนด์อื่นๆ ก็จะเห็นโอกาส และเริ่มทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ทีนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็มีหลายๆ บริษัทที่เริ่มปรับตัว และมีแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจมากๆ ถึงขนาดที่ว่า เป้าหมายในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของบริษัทไปแล้ว และในวันนี้ เราก็ได้หยิบเคสของหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว และมีราคาถูกจากต้นทุนที่ต่ำ มาเล่าให้ทุกคนฟัง ซึ่งบริษัทนั้น ก็คือ ‘เนสท์เล่ (Nestle)’ ผู้ผลิตอาหารเช้าซีเรียล ‘โกโก้ครั้นช์’ ที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน

จริงๆ แล้ว สินค้าในกลุ่ม FMCG เป็นสินค้าที่ถูกครหาว่า ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากๆ เพราะเป็นสินค้าที่ใช้แล้ว หมดไปอย่างรวดเร็ว โดยที่บรรจุภัณฑ์ของสินค้าเหล่านั้น จะยังคงหลงเหลือเป็นขยะในสิ่งแวดล้อมต่อไป ดังนั้น หากจะกล่าวว่า การปรับตัวของเนสท์เล่ในครั้งนี้ คือการปรับตัวเพื่อลบคำครหาเหล่านั้น ก็คงจะไม่ผิดนัก

หรือต่อให้จะเป็นการปรับตัวเพื่อลบคำครหาอย่างไร แต่ถ้าการปรับตัวในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างแน่นอน

ถ้าอย่างนั้น เรามาดูกลยุทธ์ที่เนสท์เล่ใช้ในการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า ‘five-pillar packaging strategy’ กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง?

1. ลดการใช้วัตถุดิบจากพลาสติก
เนสท์เล่ได้พยายามวิจัยการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ลดการใช้พลาสติกในส่วนที่ไม่จำเป็น และสามารถทำได้สำเร็จกับการจำหน่ายน้ำดื่มที่มีฝาขวดแบบใหม่ในอียิปต์ ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 240 ตันต่อปี

2. พัฒนาระบบการเติมสินค้าในบรรจุภัณฑ์เดิม (reusable and refillable systems)
เนสท์เล่มีเป้าหมายในการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงพัฒนาระบบการเติมสินค้าขึ้นมา เพื่อลดการทิ้งบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งในตอนนี้ สามารถทำได้สำเร็จกับการจำหน่ายอาหารสุนัขตราเพียวริน่า (Purina) ในชิลี ไอศกรีมตราฮาเก้น-ดาส (Haagen-Dazs) ในแคนาดา และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย

3. ใช้วัสดุทางเลือกที่ง่ายต่อการรีไซเคิล
ทีมนักวิจัยของเนสท์เล่ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ โดยใช้วัสดุทางเลือก เช่น เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษที่มีความทนทาน แต่ง่ายต่อการรีไซเคิล แทนการใช้หลอดพลาสติก หรืออย่างในฝรั่งเศสก็มีการจำหน่ายซุปก้อนกึ่งสำเร็จรูปตราแม็กกี้ (Maggi) ที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษที่สามารถรีไซเคิลได้

4. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ง่ายต่อการรีไซเคิล
ด้วยความที่เนสท์เล่เป็นบริษัทที่มีการจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก แบรนด์จึงมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของตัวเองที่จำหน่ายในแต่ละประเทศให้ได้เท่ากับที่ผลิตออกไป ตามแนวคิด ‘one tonne in, one tonne out’

5. ปลูกฝังแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภค
เนสท์เล่มองว่า ความสำเร็จในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเกิดจากความร่วมมือของแบรนด์และผู้บริโภค ดังนั้น เนสท์เล่จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้กับนักเรียนในอาร์เจนตินา เพื่อปลูกฝังให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เนิ่นๆ

โดย 5 กลยุทธ์ที่เนสท์เล่ใช้อยู่นั้น มีความสอดคล้องกับแนวคิด ESG ด้านสิ่งแวดล้อมมากๆ ทำให้เราเห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการสร้างสิ่งแวดล้อมให้สวยงามผ่านการสร้างมายด์เซ็ตให้ผู้บริโภคตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

Sources: https://bit.ly/389On6g

https://bit.ly/3MmJ9mw

https://bbc.in/3JWNcVf

https://bit.ly/3Ex9dZC

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like