Type to search

เจาะลึก 5 วิธีรักษาพนักงานเก่ง ปั้นองค์กรให้แกร่ง สไตล์ Starbucks ผ่านแนวคิดจับมือไว้แล้ว ‘โตไปด้วยกัน’

April 27, 2022 By Chompoonut Suwannochin

“ทำงานได้ไม่กี่เดือน บางคนยังไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ก็แห่กันลาออกหมด”

หนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิกของเหล่าบรรดา HR และหัวหน้าทั้งหลาย คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘การลาออก’ ที่เป็นของคู่กันกับมนุษย์เงินเดือนอย่างแน่นอน ลูกน้องที่เราสอนงานด้วยความตั้งใจ แต่จู่ๆ วันดีคืนดีก็มาขอลาออก เหมือน ‘หลอกให้รักแล้วจากไป’ หรือทำให้องค์กรเป็นโรงเรียนอนุบาลอะไรทำนองนั้น

จริงๆ แล้ว การที่มนุษย์เงินเดือนทำงานองค์กรสักแห่ง ก็เหมือนการคบแฟนเลยค่ะ ที่บางคู่อาจจะคบกันยืด ในทางกลับกัน บางคู่ก็อาจจะไม่ยืด ถึงแม้ที่ผ่านมา แฟนจะดูแลเราเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีคนที่ดีกว่า หลายคนก็อาจจะเลือกเดินจากไป เช่นเดียวกัน หากองค์กรดูแลเราดี แต่เมื่อมีอนาคตที่สดใสกว่า สิ่งที่ดีกว่ารออยู่ ใครบ้างล่ะที่จะไม่อยากไป ฮั่นแน่! คุณเองก็เป็นหนึ่งในนี้ด้วยรึเปล่าคะ?

แล้วถ้าองค์กรไม่อยากเป็นโรงเรียนอนุบาลที่พอทำงานได้แป๊บๆ ก็ย้ายหนีกันหมด จะต้องตั้งรับยังไงบ้าง? วันนี้ Future Trends จะมาเล่า 5 วิธีการรักษาพนักงานเก่งๆ เสริมแกร่ง ผ่านกรณีศึกษาสตาร์บัคส์​ (Starbucks) หนึ่งในองค์กรระดับโลกที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ความสุขในการทำงาน’ ให้ฟังกัน

1. ต้องสร้าง ‘งานที่มีความหมาย’

หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง เราทำงานไปแล้ว 8 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมดในแต่ละวัน

งานจึงไม่ใช่แค่การทำให้เสร็จ แลกค่าจ้างไปวันๆ แต่ถ้าองค์กรสามารถสร้างงานที่มีความหมาย มอบโอกาสให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือการกระทำ รวมไปถึงประเด็นของผลกระทบทางบวก เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากงานที่ทำ ก็ล้วนแล้วแต่ช่วย ‘เติมเต็ม’ คุณค่า ความสุขให้ทวีคูณยิ่งขึ้น และทำให้พนักงานเก่งๆ อยู่กับองค์กรได้นาน อารมณ์เดียวกับการตระหนักรู้ในตัวเอง มีตัวตนในองค์กร ที่รู้ว่าฉันมาทำอะไร มีบทบาทสำคัญอย่างไร? และชีวิตที่กำลังใช้ต่อจากนี้ ‘มีความหมาย’ จึงต้องตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด

แน่นอนว่า สตาร์บัคส์ก็สร้างงานลักษณะนี้ด้วย โดยผ่านวัฒนธรรมการเป็นเจ้าของ (Culture of belonging) ไม่ได้มองพนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งของธุรกิจ แต่เป็น ‘คู่คิด’ แทน ซึ่งก็เปลี่ยนเป็นการเรียกพนักงานทุกคน ทุกระดับ ทั้งประจำ และพาร์ตไทม์ด้วยคำว่า ‘Partner’ เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาตัวเอง ทำตามสิ่งที่ใฝ่ฝัน และใช้ศักยภาพที่มีอยู่

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของยง-นพรัตน์ อาภรณ์สุวรรณ อดีตบาริสต้าชาวไทยที่ใช้เวลาทุ่มเทหลงใหลไปกับการชงกาแฟ ส่งมอบความสุขให้ลูกค้า พัฒนาตัวเองเป็นเวลากว่า 14 ปี จนท้ายที่สุด ก็ประสบความสำเร็จ ชนะเลิศการแข่งขัน The 2016 China and Asia Pacific Regional Barista Championship และได้เยี่ยมชม Starbucks Reserve® Roastery สาขาที่พื้นที่บางส่วนใช้จัดการเรียนการสอนกาแฟการชงกาแฟ กลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ฝันที่เคยวาดไว้เป็นจริง ต่อยอดความรู้สึกเติมเต็มที่ไม่รู้ลืมนั่นเอง

2. ต้องลงทุนกับ ‘การพัฒนาความสัมพันธ์’

เพราะ ‘คน’ คืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการลาออก และเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนอยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกวัน ฉะนั้น การมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และองค์กร นั่นแปลว่า คนเก่งๆ เหล่านี้มีแนวโน้มจะอยู่ยืด

โดยจาก Partner ของสตาร์บัคส์ ที่ส่วนใหญ่ดูมีทัศนคติแบบ Pro-Active ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า มีปัจจัยอย่างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างเข้ามาเกี่ยว ประกอบกับแนวคิดการจัดลำดับให้พนักงานสำคัญเป็นอันดับ 1 ส่วนองค์กรวางตัวเองเป็นผู้นำแบบรับใช้ (Servant Leadership) ที่กำลังมาแรงแซงโค้งในอนาคต ให้ความเคารพ และยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ก็ย่อมส่งผลให้คนเก่งๆ รู้สึกดี ไม่อยากจากไปไหน

3. ต้องผลักดัน ‘การพัฒนา’ ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร

หนึ่งในหมุดหมายของมนุษย์เงินเดือนหลายคนคือ ‘การได้พัฒนาตัวเอง ทำงานที่ทำให้ตัวเองเก่งขึ้นทุกวัน’ การที่องค์กรพร้อมสนับสนุน เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และเติบโตไปอีกขั้น ก็จะส่งผลให้สามารถรักษาพนักงานระดับหัวกะทิเหล่านี้ได้สำเร็จ

อย่างที่เล่าไปในข้อแรกว่า มีสาขา Starbucks Reserve® Roastery ที่บางส่วนเป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้การชงกาแฟ กลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ แต่ก็ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านโปรแกรมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) ซึ่งในสหรัฐก็มีการมอบทุนการศึกษาให้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาทำงานใช้ทุนคืน แถมยังมีคอร์สต่างๆ อีกเพียบบนเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ทั้ง Partner และคนทั่วไปได้เข้าถึงด้วย

4. ต้องเอื้อให้เกิด ‘การทำงานที่ดีต่อสุขภาพ’

งานสำคัญ แต่สุขภาพสำคัญยิ่งกว่า แม้บางองค์กรอาจจะให้เงินเดือนที่เยอะ แต่หากต้องแลกกับการโหมงานหนักจนสุขภาพย่ำแย่ สิ่งที่ได้กลับมาก็อาจไม่คุ้ม อย่างที่รู้กันว่า ต้องใช้กายหยาบนี้เป็นต้นทุนของการทำงานไปตลอดชีวิต ดังนั้น การทำงานโดยเอื้อให้เกิดการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของสตาร์บัคส์อย่างชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ความต้องการ Partner จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่รั้งพนักงานเก่งๆ ไว้ได้ดีทีเดียว

5. ต้องสร้างแรงจูงใจ ‘ทั้งตัวเงิน และที่ไม่ใช่เงิน’

ทุกวันนี้ปัจจัยเรื่องค่าตอบแทน ตัวเงินที่สูงลิ่บลิ่วอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป แต่จะมีเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เข้ามาพ่วงด้วย ซึ่งสตาร์บัคส์ก็ได้มอบให้ทั้งค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อตามเรตค่าจ้างทั่วไปในตลาด สวัสดิการแบบจัดหนัก

ไม่ว่าจะเป็นสปอติฟาย (Spotify) พรีเมียม สมาชิกฟิตเนส (แต่ต้องวงเล็บไว้ก่อนว่า จากการสืบค้นข้อมูล มีแค่ในต่างประเทศเท่านั้น) คูปองส่วนลด โปรแกรมวางแผนการเงินระยะยาวจนเกษียณอายุ ประกันสุขภาพครอบคลุมทุกเพศ รวมไปถึงหุ้น Starbucks Bean เพื่อการแบ่งปันความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ขององค์กรก็ด้วย

โดยจากบรรดาภาพใน #ToBeAPartner และบัญชี Starbucks Partners ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เหล่าคนเก่งๆ ทั่วโลก ทั้งตำแหน่งน้อยหรือใหญ่ต่างก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสตาร์บัคส์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ตามแนวคิด ESG โดยคำนึงถึงบรรษัทภิบาล กำกับดูแลกิจการแบบองค์กรที่ดี ที่เติบโตไปพร้อมกับ ‘คน’

เพราะถ้าพวกเขาเติบโต องค์กรเองก็ได้ประโยชน์เช่นกัน…

Sources: https://mck.co/3v1BBjh

https://bit.ly/3k1Yr49

https://bit.ly/3jWweM7

https://bit.ly/3K3lard

https://bit.ly/3jW90FN

https://sbux.co/3EAafUP

https://bit.ly/36BfMhg

https://bit.ly/3L2fLSd

https://bit.ly/3v1CCI7

https://bit.ly/3L386U1

https://bit.ly/3uYeIxg

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง