หนทางสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เราจะหวังใช้ ‘Mac Studio’ เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่?
แอปเปิล (Apple) กลับมาสร้างปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกครั้งกับงาน ‘Apple Event’ แรกของปี 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 01.00 น. ที่ผ่านมา (ตามเวลาไทย) โดยในงานครั้งนี้ แอปเปิลใช้ชื่องานว่า ‘Peek performance’ ซึ่งก็ต้องบอกว่ามัน Peek performance สมชื่อจริงๆ
เพราะแอปเปิลได้เปิดตัวสินค้าใหม่มากมายที่สร้างความฮือฮาให้กับสาวกแอปเปิลที่รอคอยได้เป็นอย่างดี และยังทำให้เกิดการพูดถึงกันเป็นวงกว้างจนแฮชแท็ก (hashtag) #AppleEvent ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์กันเลยทีเดียว
โดยหนึ่งในสินค้าที่เป็นไฮไลต์เด็ดก็คือ ‘Mac Studio’ เดสก์ท็อป Mac รุ่นล่าสุดที่เปิดตัวมาพร้อมกับชิป ‘M1 Ultra’ ชิปที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ขั้นสุด’ ของชิปในตระกูล M1 ที่แอปเปิลสุดแสนจะภาคภูมิใจ และนี่จึงทำให้ประสิทธิภาพความเร็วและความแรงของ Mac Studio เป็นที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก
หลังจากที่แอปเปิลเปิดตัว Mac Studio มาได้ไม่นาน สาวกแอปเปิลหลายๆ คนก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นบนทวิตเตอร์ว่า Mac Studio ก็คือการอัปเกรด Mac mini ให้โปรขึ้น บ้างก็ว่า Mac Studio มาเพื่อแทนที่ iMac รุ่น 27” ในตำนานที่แอปเปิลคงเทไปแล้ว
นอกจากความคิดเห็นตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ยังมีอีกหลายๆ ความเห็นของคนในวงการครีเอเตอร์ที่บอกว่า เงินในกระเป๋าตังค์มันสั่นอยากจะลองสัมผัสประสบการณ์การใช้ Mac Studio มากๆ เพราะอยากรู้ว่ากับประสิทธิภาพที่แอปเปิลบอกว่า แรงสุดพลัง แรงกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว มันเป็นอย่างไร
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Mac Studio คือการตั้งชื่อสินค้าโดยมีที่มาจากแนวคิดที่ว่า ‘สตูดิโอ (Studio) คือสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก’ ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้เราเข้าใจได้ในทันทีว่าแอปเปิลเองก็มุ่งหวังให้ Mac Studio เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์ นักออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรได้ใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ก้าวหน้าทันตามกาลเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ด้วยคอนเซ็ปต์การเป็นขุมพลังสำหรับการสร้างสรรค์ของ Mac Studio ทำให้ในงานครั้งนี้ แอปเปิลได้มีการนำเสนอการใช้งาน Mac Studio ในวงการต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะดึงประสิทธิภาพความเร็วและความแรงของ Mac Studio มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรบ้าง
เริ่มกันที่วงการเพลงและดนตรี โดย Mac Studio จะทำให้ Digital Audio Workstation (DAW) ซอฟต์แวร์ (software) หลักที่ใช้ในการสร้างสรรค์บทเพลงนั้น มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น นักดนตรีจะสามารถสร้างสรรค์บทเพลงให้มีลูกเล่นและความซับซ้อนได้มากกว่าที่เคย ต่อจากนี้ ในอนาคตเราอาจจะได้ฟังเพลงแนวใหม่ที่มีความแตกต่างจากแนวเพลงในปัจจุบันมากขึ้นก็เป็นได้
มาในส่วนของการออกแบบงานแบบ 3 มิติ (3D) ศิลปินจะสามารถสร้างสรรค์งานได้ลื่นไหลกว่าที่เคย ถึงแม้ว่าภายในชิ้นงานจะมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากก็ตาม นั่นเท่ากับว่า ศิลปินจะมีโอกาสในการทดลองใส่องค์ประกอบใหม่ๆ ที่ไม่เคยใส่ในงานมาก่อนได้มากขึ้น และที่สำคัญ สิ่งนี้จะทำให้วงการเทคโนโลยีในโลกเสมือนจริง (virtual technology) เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเราก็ต้องมาดูกันต่อว่า การเติบโตที่ว่านี้จะเป็นไปในทิศทางใด
มาต่อกันที่ในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ (software development) เหล่าวิศวกรจะสามารถสร้างสรรค์โค้ดชุดใหม่ที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น หมดปัญหาเรื่องการประมวลผลช้า โดยในอนาคตเราอาจจะได้เห็นแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น หรือจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ อย่างดาวเคราะห์นอกระบบก็เป็นไปได้เช่นกัน
และสำหรับการออกแบบสื่อ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ กราฟิกดีไซน์เนอร์ (graphic designer) หรือนักตัดต่อวิดีโอที่ต้องรับมือกับไฟล์ภาพและวิดีโอที่มีความละเอียดสูง ก็จะสามารถทำงานได้อย่างไม่มีสะดุด หมดปัญหาทำงานล้านเลเยอร์แล้วโปรแกรมเด้งออก ทำงานต่อไม่ได้ในทันที
นอกจากที่ในอนาคตเราจะได้เห็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในวงการต่างๆ อีกมากมายแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการแข่งขันอย่างดุเดือดของเหล่าผู้ผลิตในตลาดไอที (IT)
และนี่คงเป็นความสนุกของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ต้องจับตาดูว่า แต่ละบริษัทจะงัดไม้เด็ดปล่อยสินค้า (gadget) อะไรออกมาประชันกัน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและเป็นที่หนึ่งในส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ของการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านไอที
ซึ่งถ้าหากผู้ผลิตรายใดสามารถทำได้ดีกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ ทั้งในด้านของการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของสินค้า และการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็คงชนะใจผู้บริโภคไปได้อย่างง่ายดาย
Sources: https://bit.ly/3MCQfUh