‘มหาพีระมิดกีซา’ อาจมีความลับที่ยังรอการค้นพบ? ห้องลับอายุ 4,500 ปี และเรื่องราวระหว่างบรรทัดของพีระมิดในตำนาน
จริงๆ แล้ว อียิปต์ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประเทศแห่งพีระมิด’ เพราะมีพีระมิดกระจายอยู่ทั่วประเทศนับ 100 แห่ง ซึ่งพีระมิดเหล่านั้นถูกสร้างเป็นสถานที่สำหรับฝังพระศพของกษัตริย์อียิปต์โบราณ หรือ ‘ฟาโรห์’ ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวอียิปต์โบราณที่รอการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของฟาโรห์แต่ละพระองค์
หนึ่งในพีระมิดที่มีความโดดเด่น และเป็นภาพจำต่อสายตาชาวโลกมากที่สุด นั่นก็คือ ‘มหาพีระมิดกีซา (The Great Pyramid of Giza)’ ที่เป็นที่ฝังพระศพของฟาโรห์คูฟู (Khufu) ที่ครองราชย์ในช่วงปี 2552-2528 ก่อนคริสต์ราช นอกจากนี้ มหาพีระมิดกีซายังถูกจัดเป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณ (Seven Wonders of the Ancient World) ที่ใครๆ ต่างก็ต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วย
แล้วทำไมมหาพีระมิดกีซาถึงโด่งดัง และเป็นที่สนใจต่อสายตาชาวโลกมากขนาดนี้?
นั่นคงเป็นเพราะว่า มหาพีระมิดแห่งนี้ มีโครงสร้างที่น่าทึ่งมากๆ เพราะแม้แต่หินตรงส่วนฐานของพีระมิดก็สามารถจัดวางได้เสมอกัน มีความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร และแต่ละด้านของฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกันไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิทยาการด้านการก่อสร้างและเทคโนโลยีในสมัยนั้น
ไม่เพียงแต่ภายนอกของพีระมิดเท่านั้น ที่สามารถสร้างความสงสัยได้ไม่น้อยเลยว่า มีวิธีการสร้างอย่างไร ทำไมทุกอย่างถึงได้เป๊ะไปหมดขนาดนี้ แต่ในส่วนของภายในพีระมิดเองก็ยังคงเป็นปริศนาเช่นกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ต่างสงสัยว่า ภายในพีระมิดจะมีอะไรอยู่บ้าง และโครงสร้างภายในจะเป็นอย่างไร ด้วยความสงสัยเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเช่น การทดลองด้วยรังสีคอสมิก (Cosmic Rays) ที่เราจะนำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้
แต่ก่อนอื่น เราต้องมาทำความรู้จักเกี่ยวกับรังสีคอสมิก (Cosmic Rays) ก่อนว่า จริงๆ แล้ว มันคืออะไรกันแน่?
รังสีคอสมิก คืออนุภาคพลังงานสูงที่มาจากนอกโลก เคลื่อนที่ผ่านอวกาศด้วยความเร็วเทียบเท่าความเร็วแสง และพุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศของโลกในทุกทิศทุกทางอย่างสม่ำเสมอ
โดยรังสีคอสมิกถูกค้นพบครั้งแรกโดย วิกเตอร์ ฟรานซิส เฮสส์ (Victor Francis Hess) นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน จากการส่งบอลลูนบรรทุกเครื่องอิเล็กโตรสโคป (Electroscope) ขึ้นสู่ท้องฟ้าถึงระดับความสูงประมาณ 13 กิโลเมตร แต่ในตอนนั้น เขาพบแค่เพียงว่า มีรังสีชนิดหนึ่งที่พุ่งเข้ามาจากนอกโลก และยังไม่รู้ว่า มันคือรังสีอะไร
จนกระทั่งในปี 1925 โรเบิร์ต เอ. มิลลิแคน (Robert A. Millikan) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่สามารถคำนวณหาขนาดของประจุอิเล็กตรอนได้สำเร็จ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่ตั้งชื่อให้กับรังสีชนิดนี้ว่า ‘รังสีคอสมิก’ นั่นเอง
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2015-2017 มีทีมนักวิจัยนานาชาติ ที่นำทีมโดยคุนิฮิโระ โมริชิมะ (Kunihiro Morishima) จากมหาวิทยาลัยนาโงยะ (Nagoya University) ได้ทำการทดลองภายใต้โครงการที่ชื่อว่า ’Scan Pyramids’ ซึ่งการทดลองในครั้งนั้น ทีมนักวิจัยใช้วิธีการสแกนโครงสร้างภายในของพีระมิดแบบ ‘มิวโอกราฟี’ (Muography) หรือการสร้างภาพด้วยอนุภาคมิวออน (Muons)
โดยอนุภาคมิวออน คืออนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากการที่รังสีคอสมิกปะทะเข้ากับชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งอนุภาคมิวออนมีความสามารถในการทะลุผ่านก้อนหินหนาๆ ได้ ทำให้ทีมนักวิจัยหยิบคุณสมบัติในส่วนนี้มาใช้ในการทดลอง และวัดผลจากปริมาณของมิวออนที่ทะลุผ่านก้อนหินออกมาในแต่ละจุด แล้วนำข้อมูลมาสร้างเป็นภาพโครงสร้างในส่วนต่างๆ ของพีระมิด
จากผลการทดลองที่ได้มานั้น ทำให้ทีมนักวิจัยค้นพบว่า มีช่องว่างปริศนาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่เหนือบริเวณห้องโถงภายในพีระมิดที่เรียกว่า ‘แกรนด์ แกลเลอรี (grand gallery)’ แต่ทั้งนี้ นักวิจัยก็ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้อย่างชัดเจนว่า จะเป็นห้องลับที่มีอายุกว่า 4,500 ปี อย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่
ดังนั้น ในปี 2022 จึงมีทีมนักวิจัยทีมใหม่ที่นำทีมโดย อลัน บรอส (Alan Bross) จาก Fermi National Accelerator Laboratory (Fermilab) วางแผนที่จะใช้เครื่องตรวจจับอนุภาคมิวออนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และยังสามารถตรวจจับการทะลุผ่านของอนุภาคมิวออนได้มากขึ้นถึง 100 เท่า มาใช้ในการทดลองครั้งนี้ แทนการใช้เครื่องตรวจจับอนุภาคแบบเดิม ซึ่งทางทีมวิจัยก็คาดหวังว่า หลังจากที่ใช้เครื่องตรวจจับอนุภาคแบบใหม่แล้ว พวกเขาจะค้นพบรายละเอียดของช่องว่างที่เคยถูกค้นพบไปแล้วมากขึ้น และสามารถสรุปได้ว่า ช่องว่างนั้น คือห้องลับที่เป็นปริศนาหรือไม่
ถึงแม้ว่า ในตอนนี้ ทีมวิจัยของอลันจะมีแผนการวิจัยที่ชัดเจน และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์ (Egyptian Ministry of Tourism and Antiquities) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขายังขาดเงินทุนสนับสนุนการวิจัยนี้อยู่มาก ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า อนาคตของงานวิจัยนี้จะเป็นอย่างไร และทีมวิจัยนี้ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการไขความลับที่มีอายุมากกว่า 4,500 ปี ของมหาพีระมิดกีซาได้หรือไม่
Sources: https://bit.ly/3xGYOJm