LOADING

Type to search

เจาะลึกสายงาน Software Engineer กับ CTO จาก RentSpree Career Path ที่มากกว่าการเขียนโปรแกรม

เจาะลึกสายงาน Software Engineer กับ CTO จาก RentSpree Career Path ที่มากกว่าการเขียนโปรแกรม
Share

Software Engineer หนึ่งในอาชีพมาแรงที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลแบบนี้ ซึ่งแม้ดูเหมือนเราจะรู้จักอาชีพนี้กันดี แต่เส้นทางการเติบโตของสายอาชีพนี้ อาจมีอะไรมากกว่าการรู้เรื่องเทคโนโลยี และความชำนาญในการเขียนโค้ด

วันนี้ เราเลยอยากชวนมาเจาะลึกสายอาชีพนี้ผ่านเนื้อหาสรุปจากงาน Live Talk ในหัวข้อ Software Engineer Career Path: Leadership Beyond Management Track โดย สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ที่มาพร้อมกับแขกรับเชิญ คุณพศวีร์ เวชพาณิชย์ CTO (Chief Technology Officer) จาก RentSpree บริษัทสตาร์ทอัพพัฒนาแอปพลิเคชันเช่าอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดสหรัฐอเมริกา

“เซ็ตของภาษาหรือโค้ดต่างๆ ที่นิยม ในเมื่อ 5-7 ปี ที่แล้ว กับปัจจุบันนี้มันต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ในฐานะ Software Engineer เราจึงต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาและอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ อยู่เสมอ”

อย่างที่รู้กัน Software Engineer ต้องมีความสามารถในการเขียนโปรแกรม หรือ Coding โดยพื้นฐาน ซึ่งหากยิ่งมีทักษะสูงก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเติบโต แต่อย่างที่คุณพศวีร์ได้กล่าวไว้ข้างต้น เทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สำหรับ Software Engineer เอง จึงจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์กับพื้นฐานที่มี

ด้วยความที่ RentSpree เป็นพร็อพเทคสตาร์ทอัพที่ไปเติบโตในอเมริกา หลายคำถามใน Live จึงเป็นเรื่องทักษะภาษาว่า มันจำเป็นแค่ไหนในสายงานนี้ คุณพศวีร์ ได้บอกว่า โดยพื้นฐานการเข้าใจหลักการของการโค้ดดิ้ง (Coding) และอัลกอริทึม (Algorithm) คือหัวใจสำคัญของ Software Engineer แต่หากมีทักษะภาษาต่างชาติอย่างภาษาอังกฤษ ก็จะสร้างความได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ฐานข้อมูลเดิมก็มักเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงหากเราสามารถสื่อสารกับทีมหรือบริษัทที่ใหญ่และเป็นสากล การมีทักษะด้านนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

คุณพศวีร์ได้พูดถึง Career Ladder หรือลำดับขั้นในการเติบโตของสายอาชีพนี้ ซึ่ง ‘Base Track’ เป็น Career Path ขั้นพื้นฐานที่ใช้กันแทบทุกองค์กร โดยเริ่มต้นจาก เด็กจบใหม่พึ่งเริ่มต้นทำงาน หรือ Junior ถือเป็น Early-Career จากนั้นพัฒนาไปเป็น Mid-Level ระดับกลางที่เรียกว่าเป็น Software Engineer มืออาชีพเต็มตัว และขั้นสุดท้ายคือ Senior นักพัฒนาระดับอาวุโส ที่ต้องวางแผนและดูแลในการทำโปรเจคที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น

Base Track ถือเป็นเส้นทางพื้นฐานที่ทุกคนต้องผ่านทาง แต่ Software Engineer หลายคน เมื่อพัฒนามาเป็น Senior แล้ว ก็อาจไม่รู้ว่าจะต้องโตไปทางไหนได้ เพราะการพัฒนาไปสู่อีกขั้นก็จำเป็นต้องมีคุณสมบัติมากกว่า งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์และการเขียนโค้ด

“ปกติทุกคน น่าจะเห็นภาพการเติบโตจากจุดเริ่มต้น ที่ยกระดับไปยังขั้น Senior Level กันอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือหลังจากภาพนี้ มันจะนำไปสู่ภาพที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร ซึ่งถ้าหากเรารู้ว่า สามารถเติบโตไปได้ในทิศทางไหน เราก็จะมีจุดมุ่งหมายที่จะไปต่อในสายงานนี้”

หนึ่งเส้นทางที่เติบโตต่อจาก Base Track คือ ‘Management Track’ หน้าที่ในการเป็น Manager ที่ไม่ใช่แค่การนำทีมให้โปรเจคสำเร็จลุล่วง แต่เป็นการจัดการทีมยังไงให้ทีมเติบโต นั่นทำให้หากทีมประสานงานและสามารถสร้างผลงานได้ดี ก็จะถือเป็นตัววัดผลความสำเร็จของ Manager

จะสังเกตได้ว่า การเติบโตใน Track นี้จำเป็น ต้องมีทักษะมากกว่ากรอบงาน Software Engineer เพราะต้องพึ่งทักษะการเป็นผู้นำและการบริหาร เพื่อสามารถโค้ช พัฒนา สร้างความสามัคคี และจัดสรรทรัพยากรให้แก่คนในทีม นอกจากนี้ การคัดสรรหาคนมาเข้าทีมเองก็สำคัญ ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนในทีมที่ Manager ต้องบริหาร ก็จะเป็นคนที่อยู่ใน Base Track นั่นเอง

ในอีกเส้นทางการเติบโตคือ ‘Technical Leadership’ สายที่เรียกว่าเป็น Individual Contributor ที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับการบริหารคน โดยเน้นความเป็น Specialist เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่คุณพศวีร์ ยกตำแหน่งงานในสายนี้มาพูดได้แก่

Set Technical Direction งานที่คอยวางทิศทางเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่จำเป็น และเหมาะสม โดยที่ต้องซัพพอร์ตองค์กรให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด นั่นทำให้สายนี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความรอบรู้อย่างมาก

Mentorship & Sponsorship หน้าที่คือคอยเป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุน คนในทีมให้มีความพร้อมรับการเติบโต โดยที่ยังทำงานควบคู่กันไปด้วย จะเห็นได้ว่าประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการแนะนำจึงสำคัญมากในตำแหน่งนี้

น่าเสียดายที่ในตลาดไทยมักไม่ค่อยมี Track นี้ ให้เลือกเดินสักเท่าไร แต่การมองให้เห็นภาพของเส้นทางการเติบโต ก็น่าจะทำให้หลายๆ คน สามารถเตรียมตัวและพัฒนาทักษะ เพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยคุณพศวีร์ ก็ได้ทิ้งทวนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“การเติบโตในสายอาชีพนี้ ไม่มีเส้นทางไหนที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับว่า เราชอบงานลักษณะไหน และการที่เราจะรู้ได้ เราก็ต้องลองดู ลองทำเอง”

เรื่อง Career Path การเติบโตในสายอาชีพ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยน่าดึงดูด ให้คนอยากเข้ามาทำงานในองค์กรนั้นๆ ซึ่งทาง RentSpree เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยสำหรับใครที่มีใจรักในสายอาชีพนี้ RentSpree ก็มีตำแหน่งมากมาย ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมจอยกัน

สามารถเข้ามาดูรายละเอียดตำแหน่งงานและสมัครได้ที่ https://www.rentspree.com/careers-th หรือ ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/RentSpreeThailand 

Tags::