Type to search

หุ่นยนต์ คำถามปรัชญา และอนาคตข้างหน้า เมื่อเรามอบปัญญามนุษย์ให้กับเทคโนโลยี

November 16, 2021 By Future Trends

ถ้ารถยนต์ไร้คนขับเผชิญกับอุบัติเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ยังสามารถเลือกได้ว่าจะปกป้องใคร
ถ้าหุ่นยนต์กู้ภัยอยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้จะต้องช่วยคนไหนก่อน

AI ควรยึดหลักจริยธรรมแบบไหน?

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาชีพโปรแกรมเมอร์คงเป็นอาชีพที่โดดเด่นที่สุด เพราะคือผู้ทำหน้าที่ในการออกแบบ และสร้างโปรแกรม ระบบ หรือสมองของเทคโนโลยีใหม่ๆ

แต่ในอนาคตต่อไป อาชีพที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเทคโนโลยีอาจไม่ใช่โปรแกรมเมอร์อีกต่อไป งานของโปรแกรมเมอร์คือการออกแบบ และวางระบบการทำงานของโปรแกรมต่างๆ แต่การออกแบบเทคโนโลยีในอนาคตต่อจากนี้ไป อาจต้องอาศัยทักษะอื่น หากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จำเป็นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ

เมื่อการออกแบบนวัตกรรมยุคถัดไปต้องอาศัยหลักปรัชญา

ปรัชญาคือศาสตร์ของการให้เหตุผล และยังเป็นศาสตร์ซึ่งวางพื้นฐานวิธีคิดอีกด้วย

ในอนาคตต่อไปที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ในวันที่เทคโนโลยีจะไม่เพียงทำงานด้วยตนเอง แต่จะคิดด้วยตนเอง เทคโนโลยีเหล่านั้นควรคิดเช่นไร อยู่บนพื้นฐานความคิดแบบไหน และต้องตัดสินใจอย่างไร

โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ต้องการนักปรัชญายิ่งกว่าครั้งไหนๆ

เทคโนโลยีอนาคต จะไม่ได้มีแค่การออกแบบโปรแกรม หรือการทำงาน แต่จะต้องมีกระบวนการของการออกแบบวิธีคิด และวิธีตัดสินใจ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ปรัชญาเข้ามาช่วยแก้

แนวคิดทางปรัชญาเกิดขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ มาอย่างช้านาน และยังตั้งคำถามกับสิ่งที่เราไม่อาจตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์อื่น ๆ นั่นคือจริยธรรม (Morality)

วันนี้เราพยายามพัฒนา และมอบปัญญาแบบมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก็สามารถช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับที่หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ในหลากหลายด้านมากขึ้น

แต่ในการพัฒนาในทิศทางนี้ต่อไป หากเราจะมอบหน้าที่บางอย่างให้กับหุ่นยนต์ เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะให้หุ่นยนต์ตัดสินใจด้วยตัวเองได้

เมื่อหุ่นยนต์กลายเป็นผู้ตัดสินใจ

หากคุณกำลังขับรถไปบนทางตรง และมีเด็กคนหนึ่งวิ่งมากลางถนนโดยไม่สนใจจราจร สิ่งแรกที่เราจะตัดสินใจทำคือหักรถหลบ และนั่นทำให้เราประสบอุบัติเหตุได้

ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เรากระทำไปโดยตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่ต้องการที่จะชนเด็กที่โผล่มากลางถนน หรืออย่างน้อยเราก็ไม่อยากจะเหยียบคันเร่งและวิ่งชนไปทั้งอย่างนั้น

คำถามคือหากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับรถยนต์ไร้คนขับ รถคันนั้นจะตัดสินใจอย่างไร ?

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องบอกก่อนว่าการที่เราหักรถหลบเด็กที่วิ่งมากลางถนนนั้นไม่ใช่การ “ตัดสินใจ” เพียงแต่เป็นการ “ตอบสนอง” นั้นหมายความว่าในเสี้ยววินาทีที่เด็กวิ่งออกมากลางถนน เราไม่ได้เลือกระหว่างที่จะชนเด็ก หรือหักรถหลบ เราเพียงแค่ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยไม่ได้คำนวณถึงความเป็นไปได้ต่างๆ และเราอาจไม่สามารถคิดคำนวณเช่นนั้นได้เลยด้วยซ้ำ

แต่รถยนต์ไร้คนขับทำได้

หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือเด็กคนหนึ่งวิ่งมากลางถนน โดยไม่ได้ดูจราจร รถยนต์ไร้คนขับจะสามารถคำนวณ และ “ตัดสินใจ” เลือกทางที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ เพราะปัญญาประดิษฐ์ที่ขับเคลื่อนรถยนต์นั้นมีความสามารถในการคิดคำนวณในชั่วระยะเวลาอันสั้น และนี่จึงทำให้ทำไมรถยนต์ไร้คนขับอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าคนขับรถเอง

แต่หากเราไม่ให้ทางเลือกกับรถล่ะ

ทำไมหุ่นยนต์ต้องมี “จริยธรรม”

หากรถกำลังวิ่งไปบนถนน ถูกขนาบข้างด้วยจักรยานยนต์ในฝั่งหนึ่ง รถยนต์ในอีกฝั่ง และข้างหน้ามีรถส่งสินค้าขับนำอยู่ ทันใดนั้นสินค้าที่บรรทุกอยู่บนรถส่งสินค้าหลุด และร่วงลงมาบนถนน รถยนต์ไร้คนขับจะต้องตัดสินใจอย่างไร

– เบี่ยงรถออกด้านข้าง เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของผู้โดยสาร
– ขับตรงต่อไปเพื่อไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับรถในเลนอื่น

สองทางเลือกนี้เป็นทางเลือกโดยไม่ละเอียดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้น ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่จะตัดสินใจ แต่หากเราพยายามแยกแยะตัวเลือกที่ละเอียดกว่านั้นออกมา รวมถึงเหตุผลในตัวเลือกต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าตัวเลือกในตอนนั้นคือ

1. ขับตรงไป และให้ผู้โดยสารรับความเสี่ยงในอุบัติเหตุนั้น (ผู้โดยสารเสี่ยงมากที่สุด)
2. เบี่ยงรถออกไปชนกับรถยนต์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารดีกว่ารถจักรยานยนต์ (ผู้โดยสารเสี่ยงปานกลาง)
3. เบี่ยงรถออกไปชนกับจักรยานยนต์ ที่จะทำให้ผู้โดยสารบนรถปลอดภัย (ผู้โดยสารเสี่ยงน้อยที่สุด)

ทั้งสามตัวเลือกนั้นล้วนสามารถเลือกได้โดยมีเหตุผลรองรับที่ต่างกัน และหากสถานการณ์นี้มีผู้ขับเป็นคนตัดสินใจ เราก็จะสามารถตัดสินได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการ “ตอบสนอง” ของผู้ขับ และนี่คืออุบัติเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในสถานการณ์ของรถยนต์ไร้คนขับ “การตัดสินใจ” เกิดขึ้นจริงในระบบของรถ ว่ารถคันนั้นตัดสินใจโดยยึดอะไรเป็นหลัก ความปลอดภัยของผู้โดยสาร หรือความปลอดภัยของผู้อื่น

แน่นอนว่าคำตอบของคำถามที่ตั้งขึ้นมานี้ไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องค้นหา “คำตอบที่ยอมรับได้มากที่สุด” จากสถานการณ์ที่ว่านี้

รถยนต์ไร้คนขับอาจไม่เกิดขึ้นจริง

แม้ในวันนี้จะมีรถยนต์ไร้คนขับปรากฎให้เราเห็นบ้างแล้ว แต่รถยนต์เหล่านั้นก็ยังต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ควบคุมในเวลาเดียวกันไปด้วย

แต่รถยนต์ไร้คนขับ ที่มีปัญญาประดิษฐ์ควบคุมรถโดยสมบูรณ์อาจไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะปัญหาทางศีลธรรมที่ไม่สามารถแก้ได้ที่ว่าไปก่อนหน้านี้

เพราะการอนุญาตให้บริษัทผลิตรถยนต์ สร้างรถยนต์ไร้คนขับที่มีระบบซึ่งตัดสินใจเลือกตัวเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ว่ามา เท่ากับเรายอมรับคำตอบหนึ่งในนั้น ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลือกได้จริง ๆ

ในอนาคตหากรถยนต์ไร้คนขับโดยสมบูรณ์จะเกิดขึ้น เราอาจได้เห็นตัวเลือกที่ชัดเจน ว่ารถจะให้ความสำคัญกับผู้โดยสารก่อน หรือให้ความสำคัญกับผู้อื่นบนท้องถนนก่อน

หากให้เราคิดในตอนนี้ เราอาจมองว่าตัวเลือกที่มีความรับผิดชอบที่สุดคือการให้รถยนต์ไร้คนขับเลือกให้ความสำคัญกับผู้อื่นก่อน

แต่ในความเป็นจริง เราจะยอมนั่งบนรถยนต์ที่จะไม่สนใจความปลอดภัยของเราก่อนจริง ๆ หรือ

ข้อขัดแย้งทางศีลธรรมที่ถูกตั้งขึ้นมานี้เป็นเสมือนกำแพงสุดท้ายที่อาจทำให้รถยนต์ไร้คนขับไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้

ความกังวลของเทคโนโลยีแห่งยุคถัดไป

ไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ไร้คนขับเท่านั้น แต่ต่อไปในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ก็จำเป็นที่ต้องเผชิญหน้ากับกำแพงทางศีลธรรม และปรัชญา

ในวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทช่วยเราในการตัดสินใจเท่านั้น แต่หากวันหนึ่งที่เทคโนโลยีจะทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเรา เพราะประสิทธิภาพที่สูงกว่าอย่างชัดเจน เราจำเป็นที่จะต้องวางลู่ทางให้เทคโนโลยีเหล่านี้ไว้

ปรัชญาคือเส้นทางหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องแผ้วทางให้กับเทคโนโลยีรุ่นถัดไป เพื่อกำหนดทิศทางที่เทคโนโลยีจะเดินหน้าไปในบทบาทของผู้ที่จะมาช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์ ยังมีคำถามอีกมากมายที่เราจะต้องตั้งคำถามกับหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อที่จะเข้าใจเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้สร้างมัน

เพราะในวันนี้เราเองต่างก็ยังกังวล ว่าในอนาคตเราจะควบคุมเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นมานี้ได้หรือไม่

ปรัชญา และอนาคต เมื่อเรามอบปัญญามนุษย์ให้กับเทคโนโลยี

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้กลายเป็นผู้ถือคบเพลิงเบิกทางสู่ยุคใหม่ให้กับมนุษย์ แต่ในทางเดินที่ทอดยาวต่อไปสู่อนาคต ปรัชญาอาจกลายเป็นอีกหนึ่งคบเพลิงที่จำเป็นในการเบิกเส้นทางสู่ยุคต่อไปของมนุษยชาติ

ปัจจุบัน ปรัชญาและ AI ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นสาขา Philosophy of AI ซึ่งเป็นสาขาของการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ได้เกิดขึ้นมาใหม่นี้ เพื่อหาคำตอบในหลายๆเรื่องที่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่สามารถหาคำตอบได้

ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องวิธีคิดของ AI แล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการรับรู้ของ AI ความใกล้เคียงกับมนุษย์ สิทธิสำหรับหุ่นยนต์ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

และแม้ว่าปัจจุบัน​จะ​ยัง​ไม่มี​อาชีพ​ใหม่​เกิดขึ้น​มา​เพื่อ​รองรับ​ แต่อาชีพสำหรับนักปรัชญา​ AI​ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน