Type to search

Apple ผูกขาดการตลาดไหม?

September 21, 2021 By Siravich Singhapon

เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จมากเกินไป และครอบครองผู้ใช้มหาศาล

ไม่นานมานี้เราได้เขียนถึงเรื่องคำตัดสินของศาลสหรัฐฯที่ทำให้หุ้น Apple ร่วงลงไปถึง 3% จากการตัดสินข้อพิพาทระหว่าง Epic Games และ Apple เกี่ยวกับข้อกำหนดในการให้บริการของ App Store

ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ Apple จำเป็นจะต้องอนุญาติให้นักพัฒนา และผู้ให้บริการแอปฯ สามารถเพิ่มตัวเลือกช่องทางชำระเงินอื่นนอกเหนือจากผ่านระบบของ App Store ไว้บนแอปฯ ได้ และจากการตัดสินนี้อาจทำให้ Apple สูญเสียรายได้จากการซื้อสินค้าบนแอปฯ (In-app Purchase) มากถถึงหนึ่งพันล้านเหรียญ

แต่สิ่งที่น่าสนใจในกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีแค่ผลของการตัดสิน แต่เป็นคำถามที่หยิบยกขึ้นมา Apple ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบปฎิบัติการซึ่งเป็นระบบปิด และถือสิทธิ์ในการควบคุมข้อกำหนดต่าง ๆ ของระบบไว้ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่าหนึ่งพันล้านคน

ด้วยระบบที่ Apple สร้างขึ้นเอง พวกเขากำลังผูกขาดตลาดอยู่หรือไม่

กรณีของ Epic Games ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำถามนี้ถูกตั้งคำถามนี้ต่อหน้าศาล

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2021) Apple ถูกสั่งปรับโดยคณะกรรมการยุโรปในโทษฐานของ “พฤติกรรมการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม” (Anti-Competitive) จากกรณีที่ Spotify ได้สั่งฟ้อง Apple

ซึ่งมูลเหตุพื้นฐานก็มาจากค่าธรรมเนียมการเก็บค่าบริการของ App Store ที่สูงถึง 30% ของ Apple เช่นเดียวกับกรีณีของ Epic Games

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทำให้ Spotify ไม่พอใจการให้บริการของ Apple ยังมีเรื่องของการที่ Apple ได้ออกบริการสตรีมมิ่งเพลงของตัวเอง หรือก็คือ Apple Music ในขณะที่ Spotify จำเป็นจะต้องตั้งราคาค่าบริการโดยคำนึงถึงส่วนแบ่ง 30% ที่จะต้องยกให้ Apple อีกฝ่ายกลับสามารถออกบริการรูปแบบเดียวกันในราคาถูกได้โดยไม่โดนใครกินส่วนแบ่ง

แต่ถึงอย่างไร Apple ก็ยังให้บริการอยู่แค่ในระบบปฎิบัติการของตัวเองเท่านั้น และยังรายงานอีกว่า 99% ของผู้ใช้ Spotify ในระบบของ IOS ไม่ได้ชำระค่าบริการผ่าน App Store

ในกรณีนี้ แม้แต่ Chief Content and Strategy Officer ของ Deezer อีกหนึ่งผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลงรายใหญ่ยังออกมาผสมโรงแสดงความเห็น โดยเขาได้ให้ความเห็นว่า ในพื้นที่การแข่งขันอันเป็นธรรม ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Apple ควรจะแข่งขันกับผู้ที่เป็นรายย่อย ผ่านการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพ นวัตกรรม และประสบการณ์ของผู้ใช้ มากกว่าการสร้างกำแพงในการแข่งขันด้วยข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อได้เปรียบต่าง ๆ

ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ Apple ตั้ง รวมไปถึงส่วนแบ่ง 30% จากยอดขายเป็นประเด็นสำคัญที่นักพัฒนา และผู้ให้บริการแอปฯจำนวนมากไม่พอใจ และทำให้ไม่อยากนำแอปฯมาลงบน IOS แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เหล่านักพัฒนาและผู้ให้บริการต่างก็ไม่มีทางเลือก เพราะในระบบของ IOS ก็มีผู้ใช้บริการอยู่จำนวนมาเป็น เป็นสัดส่วนสูงถึง 26.34% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก (Jun’21 Statista) ซึ่งเป็นจำนวนมากเกินกว่าผู้ให้บริการจะมองข้ามไปได้

ทางฝั่ง Apple เองก็ปกป้องตัวเอง และโต้แย้งนี้ด้วยการบอกว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรที่ผิดขข้อกำหนดใด ๆ ไม่ใช่ผู้ผูกขาดตลาดแต่อย่างใด และการเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ไม่ควรเป็นเรื่องที่ผิด

Apple มีข้อกำหนด และเงื่อนไขการใช้บริการที่ผู้ใช้และผู้ให้บริการต่างต้องยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นก่อนใช้ ดังนั้นการที่ผู้ให้บริการ เช่น Epic และ Spotify พยายามที่จะฝืนข้อกำหนดเหล่านี้เผื่อประโยชน์ของตัวเองจึงควรถือว่าเป็นการเอาเปรียบต่อ Apple

แม้จะพูดเช่นนั้น Apple ก็ไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้เเข่งขันด้วย จากการออกบริการเช่น Apple Music (เพลง) Apple TV+ (ภาพยนตร์/ซีรี่ส์) iCloud (เก็บข้อมูล) และอื่นๆ ทำให้การแข่งขันกับบริการ Apple บนระบบปฎิบัติการของ Apple เองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายต่อนักพัฒนา และผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงแม้จะสามารถมีผู้ใช้บริการมากพอ ก็ยังต้องถูกกินส่วนแบ่งโดย Apple

แต่ถึงอย่างไร ผลการตัดสินในคดีพิพาทระหว่าง Apple และ Epic Games ศาลสหรัฐฯก็ไม่ได้ตัดสินว่า Apple กำลังผูกขาดตลาดอยู่ และยืนยันว่าความสำเร็จของง Apple นั้นไม่ใชช่ความผิดแต่อย่างใด

แม้จะถูกสั่งให้ต้องอนุญาตให้แอปฯสามารถเก็บเงินผ่านช่องทางอื่น แต่ Epic Games เองก็ดูจะไม่พอใจกับผลการตัดสินนี้ และยังยืนยันในมุมมอเดิมว่ากำแพงส่วนแบ่ง 30% นี้คือพฤกรรมผูกขาดตลาดของ Apple และถึงแม้ศาลจะไม่ได้ตัดสินว่า Apple ผูกขาดตลาดแต่อย่างใด แต่ก็ยังคงน่าตั้งคำถามต่อไปว่าในระบบเศรษฐกิจที่บริษัทได้ครอบครองฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล และควบคุมข้อกำหนดต่าง ๆ ในระบบของตัวเองได้ เป็นพฤติกรรมที่ถูกต้อง เหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันหรือไม่ หรือที่จริงแล้วนั่นคือการผูกขาดตลาดไว้จริง ๆ

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในตลาดเสรี ไม่ใช่การปล่อยให้ใครก็ตามสามารถครอบครองส่วนแบ่งของตลาดได้ตามต้องการ เท่าที่พวกเขาจะหามาได้ แต่ต้องมีการควบคุมพื้นที่เสรีแห่งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน สามารถแข่งขัน และแข่งกันยกระดับสินค้า บริการ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้คน และไม่ปล่อยให้ผู้เล่นรายใหญ่สามารถเขามายึดครอง และครอบงำตลาดที่ควรเป็นเสรีไว้เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว


Source: bbc, CNBC