Type to search

ทำไมสินค้าจากจีนถึงถูกมาก? ว่าด้วยกรณีผู้ค้าออนไลน์ไทยกำลังถูกดิสรัปต์

September 24, 2020 By Future Trends

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ที่ถูกพูดถึงกันเยอะมากจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ท่านหนึ่งที่ได้มีการระบุว่า ตอนนี้ร้านค้าไทยที่รับสินค้าจากจีนเข้ามาขายกำลังเจอปัญหาอย่างหนักนั่นคือ ร้านค้าจากจีนเข้ามาขายที่ไทยเสียเอง และยังขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ ด้วย

มองเผินๆ เรื่องนี้เป็นผลดีกับฝั่งผู้บริโภคอยู่แล้ว เพราะมีโอกาสในการเฟ้นหาสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงหรือเท่ากัน แต่ได้ราคาที่พึงพอใจมากที่สุด

ทว่าในทางกลับกันสำหรับฝั่งผู้ค่านั้น ประเด็นนี้สร้างความกังวลสุดๆ เพราะกลายเป็นว่า กลยุทธ์นี้จะตัดตัวกลางในการขายสินค้าทั้งหมดออกไป ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางอีกต่อไปแล้ว

ภาพบรรยากาศงาน DSME2020 จากเพจ Digital Tips Academy

ณัฐพร วุ่นกลิ่มหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจที่ประเทศจีนได้อธิบายถึงประเด็นนี้ให้ฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้นและที่มาที่ไป ภายในงาน Digital SME Thailand ว่า อันที่จริงแล้ว ราคาสินค้าจากจีนที่ถูกมากเช่นนี้เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างไทย-จีน ที่มีการเซ็นไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 โดยหน่วยงานที่ตั้งกติกานี้ขึ้นมาชื่อว่า Universal Postal Union (UPU) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ประสานงานนโยบายการไปรษณีย์ระหว่างประเทศสมาชิก

ในสัญญาข้อตกลงฉบับดังกล่าวระบุไว้ว่า ประเทศที่พัฒนากว่าหรือมีการเติบโตมากกว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนค่าขนส่งด้วยสัดส่วน 70% ของต้นทุนทั้งหมด ฟังแบบนี้อาจเกิดความสงสัยว่า ไม่ใช่ประเทศจีนหรอกเหรอที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าเรา?

ต้องย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2512 ณ ตอนนั้น ไทยเป็นประเทศที่มีสภาวะเศรษฐกิจดีกว่าจีน มีรถไฟฟ้าก่อนประเทศอื่นในภูมิภาค การประปาเข้าถึงตามหมู่บ้านทุกซอกทุกมุมมากกว่า หรือดูง่ายๆ จากรหัสโทรศัพท์ รหัสโทรศัพท์ประเทศไทยคือ (+66) ส่วนของจีนคือ (+86) นั่นหมายความว่า จีนตามหลังเราถึง 20 รุ่น

ข้อตกลงตรงนี้ยังรวมไปถึงว่า แม้ไทยจะอยู่ในฐานะผู้ขนส่งสินค้า ‘first mile’ แต่จากข้อตกลง ไทยก็ต้องรับภาระด้วยต้นทุนของ ‘last mile’ ด้วย ไม่ว่าจะส่งออก นำเข้า หรือติดต่อการค้าขายใดๆ กับจีน ไทยต้องแบกรับต้นทุน 70% ตรงนี้ตลอด ตราบใดที่ข้อตกลงฉบับนี้ยังคงอยู่

“ถามว่า ในเมื่อตอนนี้จีนก้าวไปไกลกว่าไทยแล้ว เราสามารถปรับเปลี่ยนข้อตกลงที่ว่าได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่วิธีการอาจจะขัดใจผู้นำอยู่หน่อยๆ คือ เราต้องไปประกาศบนเวทีโลกว่า ไทยขอกลับไปเป็นประเทศด้อยพัฒนา เราก็จะได้สิทธิ์ 30% ได้ revenue ตรงนั้นคืนมาทันที”

อีกส่วนที่ณัฐพรมองว่า สร้างความยุ่งยากและเป็นการผลักภาระให้ SMEs ไทยคือ ปัญหาเรื่องกฎหมายและกระบวนการเอกสาร ในขณะที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนาม เปลี่ยนกระบวนการเอกสารให้ผู้ประกอบการ SMEs กรอกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากสินค้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่จำเป็นต้องกรอกซ้ำในปีถัดไป แต่สำหรับไทยบังคับใช้ว่าต้องกรอกเอกสารใหม่ทุกปี และตัวเอกสารก็มีความเทอะทะมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้บริการบริษัทด้านขนส่งในการจัดทำเอกสาร ด้วยต้นทุนหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อปี และส่วนสุดท้ายคือ ข้อกำหนดเรื่องสินค้าประเภทที่ทำการส่งออก ตัวไฮไลต์จริงๆ อยู่ที่ สินค้ากำหนดโควตาส่งออก คำถามคือ ทำไมต้องกำหนดโควตา และโควตาตรงนี้ใครได้ไป

“ช่วงที่ได้มีโอกาสดูแลโปรเจกต์ของเทสล่าผมเพิ่งรู้ว่า เบาะรถของเทสล่าต้องใช้ยางพาราเท่านั้น ด้วยความเป็นคนไทยเห็นว่า ราคายางตกเลยอยากเอาเข้าไปที่จีนมาก สรุปทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องโควตายางพาราไทย-จีน บางหน่วยงานเขาก็อยากจะช่วย แต่บางแฟมิลี่เขาจะกดราคาเท่าที่จะกดได้ และขายเราแพงเท่าที่จะแพงได้ ผมไม่ไหวเลยต้องไปอ้อมซื้อคนที่ถือโควตาไทย-อินเดีย แล้วเอาจากอินเดียเข้าจีน นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ตั้งแต่พ.ศ. 2507-2508”

ส่วนที่อาจจะต้องจับตาดูกันต่อไปคือ การเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าออนไลน์ 7% ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสการช็อปสินค้าออนไลน์ข้ามประเทศของผู้บริโภคไทยนี่แหละ ถ้าผ่านสภาฯ และเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้ก็อาจจะช่วยในเรื่องของกำแพงภาษีได้บ้าง และราคาสินค้าก็คงมีการปรับขึ้นตามไปด้วย

เขียนโดย Piraporn Witoorut